“คุณพ่อผมเป็นหมอ ตอนแรกตั้งใจเดินตามรอยพ่อ แต่พ่อบอก ‘เหนื่อย’ อย่าเป็นเลยหมอ”
“สมัย ม. 2 เคยอ่านหนังสือต่วย’ตูน เปิดเจอบ้าน Fallingwater House ของ Frank Lloyd Wright แล้วประทับใจ บ้านอะไรเท่ปานนั้น ประกอบกับพอได้ฟังครูแนะแนวเลยตั้งใจว่าจะเป็นสถาปนิก”
“ยุคนั้นเขาไม่ค่อยมีใครบ้ากล้าเลือกเอ็นทรานซ์เข้าสถาปัตย์ทั้งหมด เพราะหลุดคือหลุดเลย แต่เราเลือก ไม่รู้ล่ะ ชีวิตนี้อยากเรียนสถาปัตย์เท่านั้น จนเอ็นติดลาดกระบัง พอเข้าไปเรียนก็เหมือนเจอสิ่งที่ใช่ รู้สึกว่าตรงกับสิ่งที่เราอยากจะเป็นจริงๆ”
….
การจะประสบความสำเร็จในอาชีพใดสักอาชีพหนึ่งบนโลกใบนี้มีหลายเหตุผลประกอบเข้าด้วยกัน สำหรับ “สถาปนิก” นั้นเป็นอาชีพหนึ่งที่มีปัจจัยซึ่งสามารถทำให้ผู้ที่เลือกเดินทางสายนี้เหนื่อยและท้อได้ง่ายมาก แต่ใช่ว่าจะไม่มีข้อยกเว้นเสียทีเดียว โดยเฉพาะสำหรับคนที่ตั้งใจทำมันด้วยความรักเหนือเหตุผลอื่นใดอย่างเป้ – จีรเวช หงสกุล ผู้นี้
สถาปนิกอารมณ์ดีผู้ก่อตั้ง IDIN Architects ในชุดสีดำก้าวลงมาจากสำนักงานแห่งใหม่ย่านสุทธิสารที่กำลังอยู่ในกระบวนการเร่งมือก่อสร้าง เพื่อต้อนรับทีม room ซึ่งเป็นคณะแรกที่มาเยือนอาคารเหล็กผิวไม้สีดำ ซึ่งใกล้จะกลายมาเป็นบ้านหลังใหม่ของ IDIN โดยสมบูรณ์แบบในเร็ววันนี้
จากเสียงเครื่องมือของช่างก้องดังกังวาร ระหว่างสถาปนิกพาเดินชมความคืบหน้าของงานก่อสร้าง จนก้าวผ่านเข้าสู่ภายในส่วนสำนักงานบนชั้น 2 ที่แล้วเสร็จพร้อมใช้งาน ทุกอย่างกลับเข้าสู่โหมดสงบเงียบอีกครั้ง ณ บ่ายวันนั้น พนักงานชาว IDIN ราว 10 ชีวิตกำลังนั่งจ้องหน้าจอเขม็ง ทำงานกันอย่างขะมักเขม้นบนพื้นที่ของพวกเขา ในขณะที่เราเดินตรงเข้าสู่ห้องทำงานส่วนตัวเพดานสูงของหัวเรือใหญ่ที่ตกแต่งเรียบง่าย เพื่อเริ่มต้นบทสนทนาถึงแนวความคิดและกลยุทธ์เด็ดที่ผลักดันให้ IDIN Architects ประสบความสำเร็จในเส้นทางสายสถาปัตยกรรมเฉกเช่นทุกวันนี้
/ IDIN Architects สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม
ที่มาพร้อมภาพจำของโปรเจ็กต์บ้านกล่องเรียบง่าย
เส้นสายเฉียบ โอบล้อมด้วยวัสดุไม้ลุคอบอุ่น
เหมาะสมและสอดรับไปกับสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้น /
–
อ่านต่อ: ผลงานของ IDIN Architects เพิ่มเติม
รีโนเวท ตึกแถวสองคูหาอายุกว่า 30 ปี ให้กลายเป็นออฟฟิศและบ้านสไตล์โมเดิร์น
–
ROOM: ยังจำความรู้สึกในวันแรกของการเป็นสถาปนิกได้อยู่ไหม
JERAVEJ HONGSAKUL: จริงๆ ลืมไปหมดแล้วนะ (เขาครุ่นคิดสักพักก่อนตอบ) ช่วงนั้นเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี ความรู้สึกวันแรกที่กลับไปเป็นสถาปนิกคือจะเครียดมาก เราเป็นเด็กขี้ลืม ลืมไปหมดว่าคาน-ตงทำอย่างไร จำได้ว่างานแรกที่ทำตอนนั้นผมอยู่กับ PLAN Associates เขาให้ทำรีสอร์ท งานค่อนข้างกดดันมากก็เลยต้องเร่งเรียนรู้ รีบเก่งให้เร็วที่สุด
RM: นิยามตัวเองได้ไหมว่าตอนนี้คุณเป็นสถาปนิกแบบไหน
JH: คำถามนี้ยาก (เขาครุ่นคิดสักพักเหมือนเคย) ผมพยายามทำให้เป็นอาชีพที่อยู่กับมันได้จริงๆ เราเคยได้ยินคนบอกอย่าเอาสิ่งที่ชอบมาเป็นงาน แต่เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบแล้วมาทำเป็นงานมันจะทำได้ดี แต่พอทำเป็นงานมันจะเครียด เราต้องหาความพอดีของมันให้ได้ ทุกวันนี้คิดว่าหาบาลานซ์ได้แล้วนะ เราสามารถทำสิ่งที่เราชอบแล้วเลี้ยงชีพเราได้ แล้วเราก็มีความสุขกับมันจริงๆ
/ บอกเลยว่าเป็นคนไม่เก่งบริหาร
Skill การบริหารต่ำเรี่ยดินมาก สิ่งที่สบายใจที่สุด
ในการทำออฟฟิศออกแบบ ก็คือการออกแบบ
เพราะว่านอกนั้นปวดหัวหมดเลย /
RM: อะไรเป็นความคิดแรกเริ่มของการมาเปิดออฟฟิศ
JH: ช่วงทำงานอยู่ที่เดิม ตอนนั้นเราประกวดแบบตลอด จริงๆ ไม่ได้เป็นคนที่อยากเป็น Head ขนาดนั้น เราเป็นคนชอบออกแบบ เราก็แค่อยากนั่งอยู่บนโต๊ะแล้วก็แค่ออกแบบเฉยๆ แต่พอวันหนึ่งมันอยากมีที่ทดลอง อยากปล่อยของ ก็มีกลุ่มเพื่อน ชวนกันมาเปิดสตูดิโอแล้วค่อยแยกย้ายกันไป แต่เราเองก็มีงานติดมืออยู่ก็เลยต้องสานมันต่อ เราก็เริ่มจดทะเบียนประมาณปี 2004
พอเปิดเองก็เครียดมาก กลายเป็นว่าเราต้องเป็น Head ต้องดูแลทีมทั้งหมด บอกเลยว่าเป็นคนไม่เก่งบริหารเลย Skill การบริหารต่ำเรี่ยดินมาก เราชอบออกแบบ อยากเป็นสถาปนิก แต่พอวันหนึ่งเราทำออฟฟิศมันไม่ใช่แค่เรื่องออกแบบแล้ว สิ่งที่สบายใจที่สุดในการทำออฟฟิศออกแบบก็คือการออกแบบ เพราะว่านอกนั้นปวดหัวหมดเลย จะดูแลคนยังไง งานจะหายังไง จะคุยกับลูกค้ายังไง กลายเป็นอีกโลกหนึ่งที่เราไม่เคยรู้เลยว่ามันมีโลกนี้อยู่ เพราะว่าเราเคยแต่ได้รับโจทย์มาแล้วเอามานั่งออกแบบ นั่นคือสมัย Setup ออฟฟิศใหม่ๆ แต่ว่าทุกวันนี้ดีขึ้นเยอะ พอเราทำมานานกว่า 10 ปีก็จะได้เรียนรู้การวางความเหมาะสม ความสบายใจ มีเวลาออกแบบ บริหาร และรับงาน
RM: สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในการก้าวผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น
JH: เพราะเราทำผิดมาเยอะ โง่มาเยอะ เพราะประสบการณ์เกิดจากการทำผิด ทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้เพราะเป็นคนเชื่อสัญชาติญาณตัวเอง ไม่เชื่อ How to การบริการออฟฟิศ 101
/ สถาปนิกขายความเชื่อมั่น ขายความเชื่อถือ เพราะสิ่งที่เรากำลังทำคืออนาคต เขาไม่เห็น เขามาจ้างเราโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าเขาจะได้อะไร เราเป็นอาชีพเดียวหรือไม่กี่อาชีพที่ขายอดีต ถ้าเขาเชื่อ เขาถึงจ้างเรา แล้วเราก็สร้างอนาคตให้กับเขา /
RM: ที่ผ่านมาเคยท้อบ้างไหมกับการเป็นสถาปนิก
JH: เหนื่อย แต่ไม่เคยท้อ เคยมีช่วงที่ไม่มีงาน ถามว่าท้อไหม ก็ไม่ได้ท้อ ต้องบอกว่าผมเป็นคนไม่ได้ฝันไกล ไม่ได้ตั้งธงในชีวิต คนเราจะท้อ คือท้อจากความผิดหวัง ผิดหวังเพราะเกิดจากความคาดหวัง แต่ผมไม่ได้เป็นคนที่คาดหวังเลย แค่เปิดออฟฟิศยังไม่คิดจะเปิดเลยด้วยซ้ำ ถ้าเคยดูหนังเรื่อง Forrest Gump, ตัวละคร Forrest Gump มันปล่อยไปตามลมเพลมพัด ไปอยู่ตรงไหนก็ทำตรงนั้นให้มันดี นั้นแหละเหมือนผมเลย
แต่ถามว่าถ้าไม่มีธง แล้วมาเป็นสถาปนิกได้จนถึงทุกวันนี้ นั่นเป็นความชอบ เรารักมันมาก รักแบบไม่ต้องเอาดีไซน์เลยก็ได้นะ ความสุขที่เราได้ไปยืนในสเปซสวยๆ ได้ไปเสพงานดีๆ บางทีมันฟินกว่างานที่เราออกแบบอีก เพราะการออกแบบมันมีความกดดัน อาชีพนี้พอทำจริงๆ แล้วเหนื่อย มันมีหลายขามากๆ ไม่ใช่แค่ชอบออกแบบ โตขึ้นอยากเป็นสถาปนิก พอจะเอามาเป็นอาชีพ ออกแบบนี่แค่ส่วนเดียวเองนะ จะทำเป็นออฟฟิศได้ต้องมีอีกหลายอย่างที่ต้องรู้ ต่อให้ออกแบบเก่งมากเลย แต่ไม่มีงานเราจะได้ออกแบบไหม ไม่มีลูกค้าก็ไม่ได้ออกแบบ หรือออกแบบเก่งมาก แต่สร้างออกมาไม่มีความรู้ ลูกค้าไม่เชื่อมั่น ก็จบเหมือนกัน
จริงๆ แล้วสถาปนิกขายความเชื่อมั่น ขายความเชื่อถือ เพราะสิ่งที่เรากำลังทำคืออนาคต เขาไม่เห็น มันไม่ใช่ว่าสวยไหมครับ ซื้อสิครับ เขามาจ้างเราโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าเขาจะได้อะไร เราเป็นอาชีพเดียวหรือไม่กี่อาชีพที่ขายอดีต เราเอาอดีตเราไปขาย ถ้าเขาเชื่อ เขาถึงจ้างเรา แล้วเราก็สร้างอนาคตให้กับเขา เด็กหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าพอทำอาชีพนี้จริงๆ มันจะมีอีกหลายปัจจัยมากที่จะทำให้คุณท้อได้ง่ายๆ ผมว่าสูตรสำเร็จของอนาคต คือทำอย่างที่ชอบ ทำให้มันดี ทำอย่างซื่อสัตย์กับมัน ทำแบบไม่ได้หวังผลกับมันจริงๆ แต่เรารักมัน เราทำมันให้ดีๆ ถ้ามันดีคนมันก็ต้องเห็นสิ ถ้าตั้งธงว่าอยากประสบความสำเร็จก่อน แค่เริ่มก็ผิดแล้ว แต่ถ้าคิดว่าฉันจะทำสิ่งที่ฉันรักให้ดีที่สุด และจะทำมันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ประสบความสำเร็จเอง
–
อ่านต่อ: ผลงานของ IDIN Architects เพิ่มเติม
OUR SECOND HOME บ้านกล่องไม้กลางทิวเขา
–
RM: มองอนาคตในบทบาทสถาปนิกไว้อย่างไร
JH: จะเป็นสถาปนิกไปจนไม่มีแรง เพราะเราชอบ ถึงไม่ได้ออกแบบเองก็อยากดูงานสถาปัตยกรรม วันหนึ่งไม่มีแรงออกแบบอาจทำงานจัดทัวร์ไปดูงานสถาปัตยกรรมก็ได้ เราต้องหาบาลานซ์มันให้ได้ ถ้าเราจริงจังกับงานจนสุดโต่งเราก็จะอยู่ไปกับมันจนแก่ไม่ได้ ต้องอยู่กับมันอย่างมีความสุขและทำเป็นอาชีพได้
RM: ไม่ได้วางแผนเกษียณเอาไว้
JH: ไม่เลย Philip Johnson อายุ 98 ปี ยังออกแบบอยู่เลย เราอยากจะโตไปเรื่อย ๆ เห็นงานสถาปัตยกรรมไปเรื่อย ๆ จนเราแก่เราก็ยังสเก็ตช์อยู่ อาจจะไม่ทำเองมาก แต่จะยังสอนอยู่ เทรนด์น้องรุ่นใหม่ เป็นคนวางไดเร็กชั่น แต่ก็กลัวเหมือนกันว่าเราจะตกยุค ไม่ทันเด็กรุ่นใหม่ กลัวว่าไอเดียของเรามันจะไม่เหมาะกับช่วงเวลาในอนาคตหรือเปล่า ก็ต้องพยายามเติบโตไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ๆ ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
/ ตอนเปิด IDIN ตอนนั้นอายุ 30
ก็คิดว่าให้เวลาตัวเอง 10 ปี จะมีงานที่ตัวเองภูมิใจสักชิ้นหนึ่ง /
RM: ตอนนี้มีการปรับตัวต่อเด็ก (สถาปนิก) ยุคใหม่ หรือในความรวดเร็วของโลกยุคนี้อย่างไร
JH: เด็กเหล่านี้เขาจะเสพอะไรเร็ว ก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย รุ่นผมจะเป็นรุ่นตั้งแต่ฟังเทปคาสเซ็ต เราจะจำได้หมดเลยว่าเพลงไหนอยู่หน้าไหน พอเด็กยุคซีดีก็จะเริ่มเร็วมาก ถ้าเร็วแล้วบริหารไม่ดีมันจะฉาบฉวย แต่รุ่นเราอยู่กับโลกที่มันช้า มันทำให้เราอดทนได้เยอะกว่าในความรู้สึกผมนะ ตอนเปิด IDIN ตอนนั้นอายุ 30 ก็คิดว่าให้เวลาตัวเอง 10 ปี จะมีงานที่ตัวเองภูมิใจสักชิ้นหนึ่ง ให้ 10 ปีเลยนะเพราะรู้สึกว่ากว่าเราจะเปิดออฟฟิศ กว่าเราจะได้งานผ่านไปสองปี กว่าที่จะทำงานแรกแล้ว Fail รับงานสองงานสาม ออกแบบปีนึง สร้างอีกสามปี แต่เด็กสมัยนี้อาจจะรู้สึกว่าเดี๋ยวเรียนจบแล้วเปิดออฟฟิศกับเพื่อนดีกว่า ทำฟรีแลนซ์ดีกว่า เดี๋ยวปีหน้าจะมีงานเจ๋งแล้ว Timing มันสั้นมากๆ ไม่ได้บอกว่ามันผิดหรือถูกนะ ยังเชื่อเสมอว่า Architecture ไม่มีผิดหรือถูก แต่ว่าพออะไรที่มาเร็วหรือเร็วไป หรืออะไรที่มันมาง่าย จะทำให้เราความอดทนน้อย ลงก็ได้ และอาชีพนี้มันพลาดไม่ได้ ผลกระทบมันเยอะ
สมัยก่อนปีนึงเราจะเห็นงานอยู่ไม่กี่ชิ้น อยากดูงานสถาปนิกคนไหนต้องไปห้องสมุด ต้องซื้อหนังสือ แล้วพอมันได้มาแล้วจะมีคุณค่ามากเพราะเราเฝ้ารอว่าจะได้เห็น แต่อะไรที่มันฉาบฉวยเช่นสมมติว่าต้องให้ออกแบบโรงละคร เรา Search คำว่าโรงละครก็มีแบบขึ้นให้ดูไม่รู้กี่แบบในอินเตอร์เน็ต ทุกคนเสพเหมือนกันได้หมด รวดเร็วเหมือนกันหมด เพราฉะนั้นการหาตัวตนของตัวเองอาจจะเริ่มยากขึ้นก็ได้
ผมพูดเสมอว่าแต่ก่อนคนมีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมเยอะ เพราะโลกมันกว้าง พอโลกมันแคบลง ทุกวันนี้เรากินอาหารเหมือนกัน ดูทีวีช่องเดียวกัน เสพข่าวเหมือนกัน เห็นงาน Architecture แบบเดียวกัน เข้า Archdaily เหมือนกัน สิ่งที่เราเสพมันเหมือนกันหมดแล้ว เวลาเราคายออกมามันก็จะเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อ Input มันเหมือนกันหมด Output จะทำอย่างไรให้มันต่างก็เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับคนยุคถัดไปเหมือนกัน
–
อ่านต่อ: ผลงานของ IDIN Architects เพิ่มเติม
NY HOUSE ต่างระดับ ต่างฟังก์ชัน – บ้านลุคโมเดิร์นทรงกล่องซ้อนกล่อง
–
RM: แล้วคาแรกเตอร์ของ IDIN เป็นแบบไหน
JH: ในการทำ IDIN น้องในทีมจะรู้ว่าผมไม่เคยตั้งธง ไม่มีกฏ IDIN 101 เราไม่มีกฏแต่มีสิ่งที่อยากให้มันเป็น วัตถุประสงค์รวมๆ แต่วิธีการหลากหลาย สิ่งที่อยากให้ IDIN เป็น คือ Tropical Architecture คือสถาปัตยกรรมเมืองเขตร้อน ที่ตอบโจทย์ Context, Program และ User เป็น 3 เรื่องหลักๆ น้ำหนักแต่ละเรื่องจะขึ้นอยู่กับ building type และความชัดเจนในแต่ละงาน จะถูกให้น้ำหนักไม่เท่ากัน IDIN คือ Integrating Design Into Nature การผสมงานดีไซน์เข้ากับธรรมชาติของที่ที่นั้น ธรรมชาติของคนคนนั้น และเราต้องการให้ทุกงานของเรามัน Base on passive design, Base on ภูมิอากาศร้อนชื้น อันนี้มันเหมือนกันทุกงาน พูดถึงลม พูดถึงฝน พูดถึงต้นไม้ ความชื้นสัมพัทธ์ ภาวะน่าสบายแบบทรอปิคัล แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปทุกงานคือ Context ซึ่งตรงนี้จะไม่เป็นกฏตายตัวในแต่ละงาน เมื่อ Context มันเปลี่ยน Architecture ไม่มีทางที่จะเหมือนกันอยู่แล้ว แบบนี้ยิ่งรู้สึกว่างานมันจะยิ่งสนุก ไม่ Fixed ตัวเองไปกับรูปแบบ ข้อกำหนดกฏตายตัวที่ทำให้ทุกงานมันมีลายเซ็น เลยจะพยายามทำให้ทุกงานมันไม่มีลายเซ็นต์
ผมเคยพูดเสมอว่าจะไม่สร้างลายเซ็นต์ขึ้นมา เพียงแต่ทุกคนจะรู้สึกดูรู้ว่านี่คืองาน IDIN ผมจะมองว่าเป็นลายมือมากกว่า ลายเซ็นทุกคนไม่มีใครเขียนออกมาเป็นลายเซ็นต์นะ มันคือการสร้าง หรือออกแบบมาด้วยการพยายามการตั้งข้อกำหนด แต่ลายมือมันไม่ได้ถูกสร้าง มันออกมาจากความรู้สึกข้างใน ที่ IDIN น้องๆ ในทีมทุกคนจะมีอิสระสูงมาก สามารถดีไซน์เพิ่มได้เลยถ้าผมมีไกด์ไลน์แบบนี้ เขาสามารถนำไปต่อยอดได้อีก หรือขึ้นต้นมาเลยเราก็จะมาคุยกัน เราทำงานเป็นทีม อันไหนดี อันไหนไม่ดี สุดท้ายผมจะเป็นตัวกรอง
RM: เหมือนคุณพอใจกับสิ่งที่ IDIN เป็นทุกวันนี้แล้ว
JH: พอใจตั้งแต่วันแรกแล้วนะ เราไม่ได้คิดว่าเราจะยิ่งใหญ่ ความสุขของการทำงานคือ งานเสร็จแล้วเราได้ไปเดินดู ได้ไปถ่ายรูป เวลาลูกค้าอยู่ในสเปซนั้นแล้วเขาชอบ เขามีความสุข หรือใช้ชีวิตแล้วรู้สึกดี นั่นแหละที่มีความสุข
–
อ่านต่อ: ผลงานของ IDIN Architects เพิ่มเติม
บ้านพักตากอากาศสุดเท่ริมทะเลชะอำ – ONE SPACE FAMILY HOUSE
–
Did you know?
ของเล่นสถาปนิก
อีกด้านของจีรเวช สถาปนิกที่มีผลงานได้รางวัลระดับนานาชาติมากมาย ของสะสมที่รักสำหรับสถาปนิกผู้นี้ไม่ใช่หนังสือสถาปัตยกรรมหายาก หากเป็นของเล่นที่มาเติมเต็มความฝันวัยเด็กของผู้ชายคนหนึ่ง “จริงๆ ผมชอบของเล่นทุกชนิดนั่นแหละ ตอนเด็กๆ ไม่ค่อยได้เล่น เพราะต้องสอบได้เกรด 4 เท่านั้นถึงจะได้ซื้อ ตอนเด็กเลยต้องสร้างของเล่นเอง” เป้ ไอดิน บอกกับเราแบบนั้น เขาชอบ GUNDAM เขาชอบต่อกันพลา (Gunpla) หรือ GUNDAM Plastic Model เพราะช่วยฝึกสมาธิได้ดี รู้ไหมว่าเขาลงทุนออกแบบมุมหนึ่งในออฟฟิศใหม่เป็นตู้โชว์เตรียมไว้สำหรับวางของเล่นโดยเฉพาะ (แต่ยังไม่แล้วเสร็จดี)
“ผมชอบต่อ GUNDAM พลาโมเดล เพราะว่าช่วงที่เรากำลังต่อจะได้สมาธิ เราไม่ได้ชอบตอนเสร็จแล้วตั้งโชว์ ต่อเสร็จแล้วแทบจะไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ เราชอบโมเมนต์ตอนได้ตัด ได้แกะ เพราะเวลาต่อเสร็จแล้วรู้สึก Mission Complete”
เมื่อชอบ(ของ)เล่นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เขาก็ไปคว้าเอาหุ่น Stormtrooper หน่วยทหารภาคพื้นดินของจักรวรรดิกาแลกติกในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ตัวที่เห็นในภาพนี้ซึ่งตั้งวางโชว์อยู่ที่หน้าร้าน Toys Station สาขา Siam Discovery มาไว้ในครอบครอง ความสุขในมุมนี้ของเขายังเลยเถิดไปถึงการครีเอตปาร์ตี้ปีใหม่ของบริษัทเป็นธีม Star Wars เมื่อต้นปีที่ผ่านมาอีกด้วย ใครที่ตาม IG ของเขา (@jeravej) น่าจะเคยเห็นภาพนี้มาก่อน (ที่มา : https://www.instagram.com/p/BdMVUrSgUsf/?taken-by=jeravej)
Great Master Le Corbusier in LC2 chair figurine
ตุ๊กตาแกะสลักสถาปนิกชั้นครู Le Corbusier นั่งไขว่ห้างบนเก้าอี้ LC2 ชิ้นนี้ได้มาจาก Archi-Depot museum ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จีรเวชบอกว่า “ปกติซีรีส์นี้จะมีหลายตัว แต่ตัวนี้คือ Rare item ไปมาหลายมิวเซียมแล้วไม่เคยเจอ จากตอนแรกเรามาเรียนสถาปัตย์เพราะ Frank Lloyd Wright แต่เข้ามาเรียนแล้ว Le Corbusier เป็นสถาปนิกที่ผมชอบที่สุดในชีวิต เป็นสถาปนิกในดวงใจอันดับหนึ่ง ผมชอบวิธีคิดของเขา เขาเป็นคนหัวก้าวหน้า วางราฐานไว้หลายอย่างในยุคโมเดิร์น ทั้งระบบโครงสร้างและวิธีคิดทางสถาปัตยกรรม ถ้าย้อนกลับไป 100 ปีที่แล้ว ทุกอย่างมัน Beyond มากๆ จึงพยายามตามดูงานของ Le Corbusier ให้มากที่สุด
Modernism Café
สำนักงานแห่งใหม่หลังนี้ไม่ได้มีแค่พื้นที่นั่งทำงาน ตัดโมเดล ส่วนห้องพักอาศัย หรือห้องประชุมสำหรับลูกค้าเท่านั้น ในเร็วๆ วันนี้ที่ IDIN จะมีคาเฟ่เปิดใหม่ในชื่อที่คนเต็กๆ (Tect ย่อมาจาก Architect) มักคุ้นกันดีว่า Modernism เปิดให้บริการสำหรับคนทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิกเท่านั้นถึงมีสิทธิ์ จีรเวชอธิบายเพิ่มเติมว่า “Modernism Café จะเป็นพีเรียดยุคโมเดิร์นของสถาปัตยกรรม มีสถาปนิกยุคบุกเบิกที่เรียกกันว่า Great-tect (ย่อมาจาก Great Architect) ตั้งแต่ Walter Gropius, Louis I. Kahn, Le Corbusier, Frank Lloyd Wright ชื่อเหล่านี้จะกลายมาเป็นชื่อเมนูของกาแฟและขนม คาดว่าเด็ก ๆ สถาปนิกน่าจะชอบ คาเฟ่นี้เน้นฮาๆ ไม่จริงจัง แต่กาแฟอร่อย (หัวเราะ)”
เรื่อง Nawapat D.
ภาพ นันทิยา