“งานดีไซน์ที่ร่วมกับชุมชนคราฟท์ ถ้าลบหลู่ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ แต่เกิดประโยชน์ที่ดีก็ทำไปเถอะ” นี่คือแนวคิดต่อยอดงานหัตถกรรมให้คงอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างงดงาม จากรัฐ เปลี่ยนสุข แห่ง Sumphat Gallery
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Sumphat Gallery
Sumphat Gallery สตูดิโอออกแบบรุ่นใหม่น่าจับตา ที่เกิดจากแนวคิดของดีไซเนอร์มากประสบการณ์ อย่างคุณรัฐ เปลี่ยนสุข เเละคุณPhilippe Moisan ช่างภาพชาวฝรั่งเศส จากจุดเริ่มต้นที่ความต้องการจะให้ที่นี่เป็น Cultural Center ขนาดเล็กของชุมชน สู่การปรับตัวเป็นสตูดิโอออกแบบที่ทำงานภายใต้แนวคิด Wabi Sabi เพื่อช่วยส่งเสริมงานคราฟท์จากชุมชนที่มีวิถีชีวิตงดงามให้คงอยู่ไม่ให้ถูกลบเลือนไปตามกาลเวลา
room : ความเป็นมาของ Sumphat Gallery
Rush Pleansuk : “ผมไปพบว่าที่ฝรั่งเศสเขามี Cultural Center เล็ก ๆ ในชุมชน ใช้สำหรับเป็นสถานที่ให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น ให้เด็ก ๆ มาวาดรูป อ่านหนังสือ พอเรามีพื้นที่เล็ก ๆ ก็เลยอยากลองทำดูบ้าง เพราะตอนนั้นว่างจากงานประจำพอดี โดยทำเป็นร้านกาแฟก่อน มีหนังสือ มีกิจกรรมทุกอาทิตย์ แต่สุดท้ายก็พบว่าทำอะไรชิล ๆ ไม่มีในโลก (หัวเราะ) เพราะต้องจัดการอะไรเยอะมาก อีกอย่างช่วงหลัง ๆ ผมมีโอกาสทำงานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ อย่าง ศ.ศ.ป. กระทรวงพาณิชย์ เเละกระทรวงอุตสาหกรรม จึงอยากนำประสบการณ์จากงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ตรงนั้นมาต่อยอด พร้อมกับทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดไปพร้อมกัน
“Sumphat Gallery เป็นสตูดิโอออกแบบที่ให้ความสำคัญกับงานที่มีความงามของเท็กซ์เจอร์ หรือความงามแบบ Wabi Sabi ที่ผสมผสานอยู่ทั้งในงานสถาปัตยกรรมและงานคราฟท์ ส่วนการตั้งชื่อสตูดิโอว่า Sumphat (อ่านว่า สัมผัส) ก็เพราะการสัมผัสทำให้เราเข้าถึงความรู้สึก ถ้าของทุกอย่างสมบูรณ์เเบบมันก็จะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกใด ๆ ทุกสิ่งมีความไม่สมบูรณ์อยู่ในนั้นเสมอ
“ปรัชญาของ Sumphat ไม่ได้ทำงานเชิงอินดัสเทรียล เเละไม่ได้ทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว เราเลือกทำงานคราฟท์ เพราะมันอ่อนโยนต่อจิตใจ มันเป็นชุมชน เป็นวิถีชีวิต เป็นความสุข ไม่เพียงเเค่เฉพาะตัวเรา เเต่ยังเผื่อเเผ่ไปถึงชุมชนที่อยู่รอบ ๆ ด้วย (ซอยลาดพร้าว 18 เชื่อมต่อวิภาวดี) ซึ่งคนแถวนี้ก็น่ารักมาก เขาเป็นหมู่บ้านที่อยู่กันมานาน คนในชุมชนรู้จักกันหมด” – เรื่องนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดี เพราะขณะที่เราสัมภาษณ์ก็มีคุณยายท่านหนึ่งที่พักอาศัยในละเเวกนั้น เข้ามาดูงานออกแบบที่โชว์อยู่หน้าออฟฟิศ โดยมีคุณ Philippe Moisan ให้การต้อนรับเเละพูดคุยอย่างเป็นกันเอง
room : ทำไมจึงเลือกทำงานกับชุมชนคราฟท์
Rush Pleansuk : “มีงานที่ต้องขึ้นไปพูดบนเวที PechaKucha เราต้องกลั่นกรองความคิดออกมาเป็นการพรีเซ้นต์ 20 สไลด์ 20 นาที ส่วนหนึ่งในสไลด์เราพูดถึงหนังสือ Ornament and Crime ของ Adolf Loos ซึ่งเป็นหนังสือที่เด็กสถาปัตย์ฯ ต้องเรียน ถือเป็นหนังสือที่เปลี่ยนโลก และฆ่าโลกในเวลาเดียวกัน จากเดิมช่างหัตถกรรม ช่างทำงานแกะสลักหิน แกะสลักไม้ เคยมีบทบาทในงานสถาปัตยกรรมสมัยก่อน เเต่ Adolf Loos กลับบอกว่าคุณนำคนพวกนี้มาทำงานเป็นทาส อาคารไม่ควรทำสถาปัตยกรรมแบบนั้นนะ อาคารควรใช้วัสดุที่เป็นอุตสาหกรรม พอแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุน กลายเป็นว่าคนที่ทำงานหัตถกรรมหรือชุมชนที่ทำงานคราฟท์ตายหมด พอลงจากเวทีก็มีคนเยอรมนีคนหนึ่งเดินมาขอบคุณเรา เเล้วบอกว่าแต่ก่อนตระกูลของเขาเคยเป็นช่างแกะสลักหินในโบสถ์ แต่ตอนนี้ไม่มีงานแกะสลักหินแล้ว จากที่บอกว่าช่างเหล่านี้เป็นทาสในงานสถาปัตยกรรม แต่กลายเป็นว่าพอเราพัฒนาอุตสาหกรรม คนที่อยู่ในชุมชนกลับต้องไปทำงานที่โรงงานเเทน กลายเป็นทาสรูปแบบใหม่อยู่ดี เกิดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน คนไปอยู่รวมกันในสภาพที่แย่จนเกิดปัญหาอาชญกรรม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าโซนอุตสาหกรรมมักเกิดอาชญกรรมเยอะกว่าโซนหัตถกรรมที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายกว่า ไหน ๆ เราเป็นสถาปนิกเเละนักออกแบบผลิตภัณฑ์ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราทำงานกับชุมชนได้ เเละจะรวบรวมศาสตร์ทุกเเขนงที่กำลังจะหายไปนั้นได้อย่างไร เหมือนสมัยก่อนกว่าเขาจะสร้างวัดได้นั้นต้องใช้ช่างแทบทุกแขนง เป็นการเชื่อมโยงงานสถาปัตยกรรมเเละหัตถกรรมเข้าไว้ด้วยกัน เราจึงมักพบศิลปะเชิงช่างหายากรวมกันอยู่ที่วัดเป็นส่วนใหญ่”
–
อ่านต่อ: ผลงานของ Sumphat Gallery เพิ่มเติม
Water Weed เก้าอี้ที่นำเศษวัสดุสร้างปัญหากลับมาสร้างมูลค่าในงานหัตถกรรม
–
room : สังเกตว่ามีงานของเก่าดั้งเดิมเยอะมากภายในสตูดิโอเเห่งนี้
Rush Pleansuk : “พออายุมากขึ้น ก็ชอบของเก่ามากขึ้น และรู้สึกว่าของที่เราซื้อ ๆ ในปัจจุบันไม่มีอะไรเลยที่จะมีค่าต่อไปในอนาคตได้ ถ้าเราออกแบบคอลเล็คชั่นของเราเอง เราจะเริ่มจากประวัติศาสตร์ก่อนเพราะมันมีเรื่องราวและองค์ประกอบทางวัฒนธรรม อย่างงานแสดงที่ TCDC ในงาน Bangkok Design Week เราทำเรื่องชาขึ้นมา มันไม่ใช่แค่กาน้ำชา เเต่เราพูดถึงการจัดวางเซตกาน้ำชาแบบไทย รวมถึงวัฒนธรรมการชมไม้ดัด ที่ต้องมีเซ็ตเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาเป็นองค์ประกอบ เพื่อสื่ออารมณ์ถึงการพักผ่อนไปพร้อม ๆ กับการได้ชื่นชมกับธรรมชาติใกล้ตัว”
room : การบรรจบกันของสิ่งที่เป็นดั้งเดิมกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ จะสามารถผสมผสานไปด้วยกันได้จริงไหม
Rush Pleansuk : “ขอยกตัวอย่าง Axel Vervoordt เขาเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์และสถาปนิกชาวเบลเยียม เริ่มเเรกเขามีที่มาจากเป็นคนขายของแอนทีค นำงานแอนทีคไปผสมผสานกับงานอาร์ตสมัยใหม่แล้วจัดสเปซให้ลูกค้า ไม่ใช่แค่สวยแต่มันมีเรื่องราวด้วย เราสนใจเรื่องของเก่าของไทยและคราฟท์จากทั่วโลก อยากให้ของเก่าของใหม่อยู่ด้วยกัน หลายอย่างเราพยายามไปสืบค้นมาเเม้ว่าวัฒนนธรรมนั้นจะหายไปแล้ว อย่าง งานไม้ดัดไทย เหลือคนทำได้แค่คนสองคน เรามีรีเสิร์ชที่อธิบายได้ว่าไม้ดัดจีนเเละญี่ปุ่นจะมีฟอร์มเป็นธรรมชาติ แต่ไม้ดัดไทยจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต พบเห็นได้ตามวัดเเละวังของคนร่ำรวยสมัยก่อน มองกลับมาที่คนสมัยปัจจุบันที่มักอาศัยอยู่ในคอนโดฯ ในวันว่างถ้าอยากพักผ่อนไม่อยากออกไปไหน เเค่ได้นั่งจิบชา ดูไม้ดัด ก็มีความสุขเเล้ว เป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่คนยุคปัจจุบันก็สามารถสัมผัสได้”
room : ขนบดั้งเดิมเเละวัฒนธรรมที่ได้รับการอนุรักษ์ในอดีต จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีปัจจุบันได้มากน้อยเเค่ไหน
Rush Pleansuk : “ผมมองว่า เรากลัวเกินไป กลัวการที่จะใช้ ผมว่าระบบเจ้าขุนมูลนายสมัยก่อนไม่เข้มข้นเท่าที่เราคิด ปัจจุบันกลายเป็นเรามักถูกสอนว่า อันนี้เป็นงานออกแบบของวัดเเละวังนะ สถานที่ทั่วไปห้ามใช้ จะถือเป็นการลบหลู่ ถ้าคนทำตามความเชื่อนี้ งานของ Sumphat ก็อาจกลายเป็นการลบหลู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตวิญาณ ผีสาง วัด ถ้าเราหยุดเเละเชื่อตามนั้น เราจะทำอะไรไม่ได้เลย ไม่สามารถพัฒนาอะไรออกมาได้ เราต้องมองบริบทว่าฟังก์ชันของมันคืออะไรในสังคมยุคเก่า และฟังก์ชันใหม่ในสังคมยุคปัจจุบันสามารถทำอะไรได้บ้าง วัฒนธรรมมีความเป็นพลวัตไม่ใช่เตะต้องไม่ได้
“ของที่เป็นออริจินัลจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเรามองที่รากของมัน กล้าทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ดีกว่า ทำแล้วถ้ามีเหตุผลที่ดีในตัวของมันก็ทำไปเถอะ ทุกอย่างคนก็พร้อมด่าอยู่แล้วล่ะ (หัวเราะ)
// รัฐ เปลี่ยนสุข จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มสั่งสมประสบการณ์จากการเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เอ๊าต์ดอร์อย่าง Plato หลายปี ก่อนจะเริ่มทำงานในรูปแบบสตูดิโอของตนเอง และมีงานที่ทำร่วมกับชุมชนหัตถกรรมหลายกลุ่ม เช่น งานโลหะดุนลายที่เชียงใหม่ งานไม้ไผ่สานที่เชียงใหม่และพนัสนิคม งานหล่อทองเหลืองที่ปราจีนบุรี งานเซรามิกที่สุโขทัย เเละงานลงรักแบบดั้งเดิม //
เรื่อง สมัชชา วิราพร
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ