Terra Cotta Workshop อาคารเรขาคณิต บอกเล่ากระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา
กำแพงอิฐสีส้มทรงเรขาคณิตยืดสูง เชื่อมต่อและล้อมรอบอาคารเวิร์กชอปเครื่องปั้นดินเผาไว้ภายใน โดยได้รับการตั้งชื่อตามวัสดุ และฟังก์ชันการใช้งานว่า “Terra Cotta Workshop” อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัด Quang Nam เมืองชายฝั่งตอนกลางซึ่งอยู่ทางใต้ของเวียดนาม เป็นผลงานการออกแบบของ Tropical Space สตูดิโอออกแบบที่โดดเด่นด้านการใช้วัสดุแสนเรียบง่ายอย่างอิฐมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นงานสถาปัตยกรรม ที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความตระหนักต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้สถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ตัวอาคารมีพื้นที่ใช้สอย 682 ตารางเมตร เป็นส่วนขยายของอาคารเก่าอันเป็นพื้นที่ทำงานของศิลปินเจ้าของโครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ข้างเคียงกัน สำหรับอาคารเวิร์กชอปแห่งนี้มีการแบ่งสเปซหลักของอาคารเป็น 3 ส่วน ได้แก่ โซนสังเกตการณ์และเวิร์กชอปของผู้เข้าชม โดยจัดให้อยู่พื้นที่รอบนอกตามกำแพงอิฐ สามารถเข้าถึงจากอาคารเก่าได้ด้วยทางเดินเอ๊าต์ดอร์ โดยจะเห็นโซนทำงานของช่างฝีมือซึ่งใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ทั้งสองส่วนนี้ได้โอบล้อมเตาเผาเก่าตรงกลางซึ่งมีอายุร่วมสองทศวรรษ อันเป็นหัวใจของอาคารโอเวิร์กชอปเครื่องปั้นดินเผาแห่งนี้ จุดเด่นของอาคาร คือพื้นที่ช่องกำแพงสำหรับผู้เข้าชมโดยรอบให้สามารถมองเห็นกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอย่างใกล้ชิด เริ่มจากพื้นทางเดินที่ปกคลุมด้วยเศษภาชนะดินเผา สื่อถึงประสบการณ์ก้าวแรกของการมาสู่อาคารเวิร์กชอป ก่อนเปลี่ยนผ่านไปยังกระบวนการขึ้นรูปจนสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยออกแบบช่องกำแพงนี้ให้อยู่ในระดับสายตาช่วยให้มองเห็นขั้นตอนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาได้ชัดเจน จวบจนสำเร็จออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบ พร้อมนำไปจัดวางบนชั้นโชว์ดูสวยงาม ผนังอิฐดินเผารูปทรงสี่เหลี่ยมและทรงกลม ได้ออกแบบให้ทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อและกำหนดสัดส่วนสเปซของอาคารเวิร์กชอป โดยช่องว่างนี้นอกจากจะฉายภาพกิจกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาให้เห็นแล้ว ยังทำหน้าที่นำแสงให้ตกกระทบลงบนอิฐเปลือยผิว ทั้งยังเปิดรับอากาศให้เข้ามาภายใน ที่สำคัญคือล้อมรอบเตาเผาเก่าที่อยู่ใจกลางอาคารเพื่อเปิดทุกขั้นตอนของกระบวนการเผาให้ผู้เข้าชมได้สัมผัส ทั้งนี้สเปซทั้งหมดได้รับการออกแบบและจัดวางองค์ประกอบเพื่อลำดับกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ตั้งแต่ต้นจนจบออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์ โดยไม่หลงลืมที่จะผสานให้อาคารเวิร์กชอปเป็นส่วนหนึ่งกับสิ่งแวดล้อมภายนอก จากช่องเปิดและวัสดุจากธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบในการก่อสร้างอย่าง “ดิน” ซึ่งสัมพันธ์กับความตั้งใจในการสร้างงานสถาปัตยกรรมของ Tropical Space อย่างถ่องแท้ จากการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอันเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ได้รับการสื่อสารและเล่าใหม่โดยนักออกแบบผู้หลงใหลในวัสดุจากธรรมชาติอย่าง […]