คุยกับ ANTON NEGODA ชาวรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญบ้านไม้ไผ่ บนเกาะพะงัน
บ้านไม้ไผ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้ไปปลูกสร้างบนเกาะสวย ๆ อย่างพะงันแล้วละก็ เชื่อว่าเป็นฝันของใครหลาย ๆ คนที่รักทะเลเป็นแน่แท้ วันนี้ room ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับชาวรัสเซียที่ลงมือปลูกบ้านไม้ไผ่ด้วยตัวเอง จนกลายเป็นความเชี่ยวชาญในที่สุด บ้านไม้ไผ่ที่ปลูกเองได้ จนถึงวิธีการจัดการไม้ไผ่จะเป็นอย่างไร เลื่อนลงไปอ่านได้เลย Bamboo design : derived from passion “ผมไม่ได้เรียนเรื่องการก่อสร้าง แต่ผมจบด้านการทำอาหารมา ไม่น่าเชื่อว่าตอนนี้ผมกลับหลงใหลในการสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ เรียกว่าตอนนี้ผมปรุงไม้ไผ่แทนอาหารก็แล้วกัน“ Anton Negoda ชายหนุ่มชาวรัสเซีย เปิดบทสนทนากับเราได้น่ารักมาก ๆ เขาเริ่มหลงรักและสนใจในวัสดุไม้ไผ่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนที่มาเกาะพะงันใหม่ ๆ “ตอนมาถึงที่นี่ครั้งแรก หลังจากเดินทางหลายประเทศในเอเชีย ผมมีความรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้าน รู้สึกอบอุ่น และถูกยอมรับจากพลังงานธรรมชาติบนเกาะ ในช่วงเริ่มแรกผมสนใจในการทำ dome สำหรับ Inipi ( sweat lodge ) ceremony ซึ่งมันคือพิธีกรรมโบราณของชาวอินเดียนแดง เพื่อชำระล้างจิตวิญญาณ กาย ใจ ให้บริสุทธิ์ ด้วยการเข้าไปนั่งในกระโจม หรือโดมที่มีหินร้อนอยู่ข้างใน คล้ายกับการซาวน่า หรือสตรีม ซึ่งรูปแบบของกระโจมก็เป็นตัวแทนของครรภ์มารดา ซึ่งโครงสร้างของโดม หรือกระโจมนั้น ผมทำจากไม้ไผ่ ซึ่งขนาดที่ใช้ในพิธีกรรมไม่ได้ใหญ่มาก คนเข้าไปได้ประมาณ 10 คน หลังจากนั้นผมก็ทดลองทำขนาดที่ใหญ่ขึ้นในรูปทรงแบบโดมเหมือนเดิม แต่ปิดด้านนอกด้วยใบจาก ซึ่งโปรเจ็กต์แรกที่ทำ ผมสร้าง Play House ในโรงเรียนอนุบาล หลังจากนั้นผมก็ทดลองสร้างในขนาดที่ใหญ่ขึ้น กับรูปแบบการใช้งานที่ต่างออกไป ทั้งในศูนย์วิปัสสนา วัด โรงโยคะ โรงเรียนอนุบาล ไม่ใช่สำหรับ Sweat Lodge เท่านั้น ซึ่งในแต่ละครั้ง มันเหมือนเป็นการทดลอง ใน 2 ปีนี้ผมมีความเข้าใจและค้นพบเทคนิคต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์การลองผิดลองถูกมากขึ้น และที่น่าประทับใจมาก ๆ ก็คือตอนนี้ผมมีลูกทีมถึง 6 คน ที่มาช่วยทำในโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่เคยจับงานไม้ไผ่มาก่อนเลย พวกเขาถนัดแต่งานคอนกรีต แต่ว่าตอนนี้พวกเขากลับหลงรัก และได้แรงบันดาลใจในงานไม้ไผ่เหมือนผม” งานไม้ไผ่ช่วงแรกของ Anton ตอนที่เริ่มทำ Sweat Lodge เป็นไม้ไผ่ที่บาง แต่พอเขาขยับขึ้นมาทำงานที่ใหญ่ขึ้น เขาก็เริ่มหาข้อมูลการทำโครงสร้างไม้ไผ่ที่แข็งแรงและทนทาน อีกทั้งยังมีความยั่งยืน ใช้งานได้ยาวนาน ด้วยเทคนิคที่แตกต่างออกไป “ หลายคนคิดว่างานไม้ไผ่ไม่คงทน เสียหายได้ง่ายจากสภาพอากาศและแมลง เพราะความคิดเหล่านี้ทำให้บ้านไม้ไผ่ไม่เป็นที่นิยม แต่ความจริงแล้วถ้าเราทรีตไม้ไผ่อย่างดี และสร้างถูกหลักการ โครงสร้างไม้ไผ่ก็สามารถอยู่เป็น 100 ปี ได้เช่นกัน […]