เจาะลึกสถานีกรุงเทพ สถาปัตยกรรมหลังคาโค้งกว้างที่สุดเมื่อ 105 ปีก่อน
50 เมตร คือความกว้างของหลังคาโค้งที่พาดช่วงยาวโดยไม่มีเสากลางของสถานีกรุงเทพ คงไม่น่าตื่นเต้นเมื่อเทียบกับสมัยนี้ แต่เมื่อกว่า 105 ปีก่อนนั้น เป็นที่น่าตื่นตาที่สุดแห่งหนึ่งในพระนครเลย และเชื่อไหมว่าโครงสร้างหลังคานี้ยังไม่เคยต้องซ่อมครั้งใหญ่เลยจนปัจจุบัน สถานีกรุงเทพ ก่อสร้างในยุคสร้างเมืองที่เปิดรับความรู้และเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและศิลปสถาปัตยกรรมจากต่างชาติ จึงมีความผสมผสานและเป็นสิ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้น่าสนใจพอๆกับสถาปัตยกรรมที่เป็นสถานีต้นทาง เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างเส้นทางไปยังหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อรักษาเอกราชในยุคล่าอาณานิคม และเป็นอีกจุดเปลี่ยนของเมือง เมื่อเกิดชุมทางการขนส่งขนาดใหญ่ ณ ทุ่งวัวลำพอง แห่งนี้ มารู้จัก สถานีกรุงเทพ ซึ่งมีรหัสสถานี 1001 ในอีกมุมมองกัน ลำดับการก่อสร้างและอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของสถานีกรุงเทพ สถานีกรุงเทพ มีรูปแบบเป็นทรงประทุนเรือ หรือ อาร์คโค้ง หรือ ทรงกระบอกฝ่าซีกสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง วางผังอาคารเป็นรูปตัวอี (E) มีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี มีจุดเด่น คือ กระจกสีช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งติดตั้งกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่า ๆ กับตัวอาคารสถานี มีนาฬิกาเรือนใหญ่ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านในเป็นเอกลักษณ์ เป็นเครื่องบอกเวลาที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น นาฬิกาทั้งสองเรือนถูกสั่งทำพิเศษให้มีไฟส่องสว่างในตัว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหน้าปัด 120 เซนติเมตร และเข็มนาฬิกามีขนาดยาวประมาณ 60 เซนติเมตร อาคารที่มีอายุมากกว่าชั่วอายุคน และมีผู้คนเข้าใช้งานแบบที่เรียกได้ว่า “สมบุกสมบัน” […]