ผนังอิฐทั้งหลาย ผสานไปกับกลุ่มอาคารที่ถูกออกแบบให้วางขนานกับที่ตั้งโครงการ มีลักษณะเป็นแนวยาวลึกเข้าไปจากทิศเหนือไปสู่ทิศใต้ การวางกลุ่มอาคารที่เกิดขึ้นจึงทำให้เกิดผนังผืนใหญ่ที่ต้องอยู่ในลักษณะขวางตะวัน สถาปนิกจึงใช้ความสัมพันธ์นี้พลิกเป็นข้อได้เปรียบ โดยกำหนดให้ผนังอิฐเผาไฟสูงใหญ่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ขวางตะวันนี้ จุดประสงค์เพื่อป้องกันความร้อนที่จะเข้าสู่ภายในอาคาร ในขณะเดียวกันด้านกว้างของแต่ละอาคารซึ่งหันหน้าสู่ทิศเหนือ-ใต้ ก็ถูกกรุด้วยวัสดุโปร่งหรือสามารถเปิดออกเพื่อระบายอากาศได้ เช่น หน้าต่างกระจก หรือบานเกล็ด เป็นการออกแบบโดยดึงเอกลักษณ์ของสถานที่เข้ารวมกับบริบทและสิ่งแวดล้อมได้ด้วยองค์ประกอบเดียว
และเพื่อให้ผนังอิฐทั้งหมดนั้น สื่อสารกับบริบททั้งด้านสิ่งแวดล้อมและทางวัฒนธรรมให้น่าสนใจยิ่งขึ้น การสร้างผนังก่ออิฐทั้งหลายให้ตั้งตระหง่านเพียงอย่างเดียว ก็ดูจะเรียบง่ายเกินไปสำหรับสถานที่แห่งนี้
“ตรงไหนที่ผนังสัมผัส Circulation หรือทางเดิน เราพยายามจะให้มีปฎิสัมพันธ์กับพื้นที่ระหว่างด้านนอกกับด้านในโดยการเปิดช่องแสง แต่ห้องไหนที่เราไม่ต้องการให้มีปฏิสัมพันธ์ ผนังก็จะทึบ เช่น ในส่วนออฟฟิศ และยังมีบางส่วนที่มีการเปิดสกายไลท์…เราก็เปิดเพื่อให้รับรู้ว่าตอนนี้วัน-เวลากี่โมงแล้ว”
หรือผนังที่สร้างความน่าสนใจให้กับรูปลักษณ์ภายนอก อย่างการยื่นอิฐเป็นแพทเทิร์นสลับกับการก่ออิฐปกติ ที่สถาปนิกเรียกว่า “ผนังเม่น…” ยังสร้างจังหวะสับหว่าง ยื่น เว้น ที่สถาปนิกจัดวางให้เป็นแพทเทิร์นตามเหมาะสม โดย “…เรามักเอาไว้ที่สูงๆ …เพราะไม่อยากให้ใครเดินชนแล้วเกิดอันตราย…” ก็ยังก่อให้เกิดปรากฏการณ์ของแสงและเงาที่ตกกระทบทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนำแสงจากภายนอกลอดเข้าสร้างความสว่าง และยังสร้างบรรยากาศชวนมองที่พนักงานทุกคนจะต้องพบเจอในที่ทำงานของทุกๆ วัน
“เราอยากให้คนดูรูปแล้วรู้ว่าอาคารนี้อยู่ที่ไหน และอยากจะนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่…จริงๆ คนในองค์กรก็เข้าใจว่าจะให้มายึดกับภาพลักษ์ในอดีตอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เราก็จะเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมในสมัยนี้ก็เปลี่ยนไปมากเหมือนกัน ทุกอย่างในเชียงใหม่ก็พยามยามทำให้มีคาร์แรคเตอร์…การใช้อิฐของเรามันเป็นแพทเทิร์นที่เราคิดมาเอง…โดยต้องการให้เป็นแพทเทิร์นที่สะท้อนเอกลักษณ์ขององค์กรนี้ ว่าตั้งอยู่ที่เชียงใหม่”
เอกลักษณ์ที่ทั้งเจ้าของโครงการ ศรีกรุงโบรกเกอร์ และสถาปนิกต้องการ จึงสำเร็จและสื่อสารถึงคนทั่วไปได้ โดยภาษาของสถาปัตยกรรมอันทันสมัยที่คนทุกคนเข้าใจร่วมกันได้นั่นเอง
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: ศุภกร
ออกแบบ: Monotello Company Limited