‘วัด’ อาจไม่ใช่สถานที่ในฝันของสถาปนิกสมัยใหม่ แต่ ‘วัด’ ซึ่งมีข้อจำกัดมากมายในการสร้าง กลับสร้างชื่ออย่างมากให้กับ คุณยะ – สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์แห่ง Walllasia และ Kyai&Suriya Architecture ด้วยความเข้าใจอันชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งเป็นไปรอบตัว และเลือกสรรสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ได้อย่างพอเหมาะพอดี
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Walllasia
หลังจากคุณยะ – สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ในช่วงแรกเขามีความสนใจงานด้านศิลปะก่อน จากนั้นจึงเลือกทำงานด้านภูมิสถาปัตยกรรมด้วยความชื่นชอบ ก่อนจะกลับมาทำงานสถาปัตยกรรม พร้อม ๆ กับงานภูมิสถาปัตยกรรมอย่างในปัจจุบัน ในฐานะสถาปนิกและนักออกแบบภูมิทัศน์แห่ง Walllasia โดยมีผลงานสร้างชื่อที่หลายคนจดจำได้ คือ วัดพุทธโคดม จังหวัดชลบุรี ทั้งในส่วนของกุฏิสงฆ์ อาคารที่ใช้งานสำหรับพระสงฆ์ และกำแพงวัด ซึ่งเป็นภาพของความเรียบง่ายที่งดงาม แบบไม่ถูกแต่งแต้มจนเกินงาม เเละเพื่อให้เข้าใจเเนวคิดในการทำงานด้านออกแบบ รวมถึงการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมในศาสนสถาน ซึ่งน้อยนักที่สถาปนิกสมัยใหม่จะหันมาให้ความสนใจ วันนี้ room จะพาทุกคนไปพูดคุยกับสถาปนิกผู้นี้พร้อมกัน
room: สังเกตว่าคุณยะมักมีงานที่เกี่ยวกับความเชื่อ เกี่ยวกับศาสนาหลาย ๆ งาน แล้วคุณยะเองมีความเชื่อว่างานที่ดีควรเป็นอย่างไร
Suriya Umpansiriratana: “มันน่าจะมีหลายประเด็นอยู่นะครับ คือผมมองว่าถ้างานมันเป็นศิลปะ มันจะยืนยาว ถามว่าทำไมงานหลายชิ้นในอดีต ปัจจุบันเรายังรู้สึกว่ามันสวยที่สุดอยู่ ทั้ง ๆ ที่ผ่านระยะเวลามานานมากเเล้ว นั่นเป็นเพราะศิลปะอยู่เหนือกาลเวลาจริง ๆ และก็ยังมีเรื่องของความเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจนี่ก็สำคัญมาก สำหรับผมงานสถาปัตยกรรมมันประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ งานช่าง ปรัชญา และศิลปะ”
room: ปรัชญาในที่นี้หมายถึงอะไร
Suriya Umpansiriratana: “ในเรื่องชีวิตมนุษย์ คือเราทำบ้าน ทำที่อยู่อาศัย ก็เพื่อมนุษย์นี่แหละ ให้มนุษย์เกิดสุนทรียภาพในการใช้ชีวิต สมมุติเราออกแบบอาคารปฏิบัติธรรม จริงอยู่ที่ว่าความรู้สึกมันต้องอบอุ่น แต่ว่ามันต้องไม่เหมือนบ้าน คืออบอุ่นเหมือนบ้าน แต่มีความไม่เหมือนบ้าน เราก็จะต้องไม่เอาของหรือสิ่งที่เป็นวัตถุไปอยู่ในนั้น เราทำให้มันสะอาด เคลียร์ที่สุด ไม่ดูเป็นวัสดุต่าง ๆ มากเกินไป เห็นแต่บรรยากาศ เห็นแต่ความรู้สึกที่ดี”
“ถ้างานเป็นศิลปะ มันจะยืนยาว” – สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ –
room: ทำไมบรรยากาศภายในออฟฟิศ Walllasia จึงเหมือนมีการทดลองเรื่องวัสดุต่าง ๆ อยู่เสมอ
Suriya Umpansiriratana: “ผมชอบทดลองครับ ถ้าสังเกตในออฟฟิศ ผมจะมีวัสดุมากองอยู่เยอะมาก ว่างเมื่อไหร่ก็จะทดลอง ตอนนี้ก็อยากจะขยายไปอีกยูนิตเพื่อทำเป็นพื้นที่เวิร์กชอป ตอนนี้กำลังเตรียม ๆ อยู่ ส่วนตรงนี้เดิมผมมีทาวน์เฮาส์ยูนิตเดียว จากนั้นก็ซื้อเพิ่มอีกยูนิตหนึ่งที่ติดกันด้านหลัง เพราะคิดว่าถ้าหลังชนกันก็คงดี เเต่ด้วยข้อจำกัดที่ว่าทาวน์เฮ้าส์มักมีเรื่องความทึบของผนังทั้งสองด้าน แต่ถ้าหลังชนกันเราก็จะเปิดตรงกลางเพื่อให้แสงลงมาได้ เเต่พอเปิดตรงกลางก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำฝนตามมา เราจึงจัดการเเก้ปัญหานี้ด้วยการทำเป็นบ่อน้ำเเละทำเป็นสวนไปเลย ซึ่งต้องทำให้ใช้ได้จริงด้วย จึงใส่พื้นเหล็กฉีกเข้าไปให้เดินผ่านได้ มองเห็นทั้งปลาและต้นไม้ไปพร้อมกัน”
room: เเสดงว่ามีต้นไม้อยู่เยอะมากในออฟฟิศ
Suriya Umpansiriratana: “ใช่ครับ อย่างส่วนของแลนด์สเคป จริง ๆ เราจัดให้น้อยที่สุดนะ แต่ปกติเวลาเราเดินไปจะมีจุดมองอยู่ไม่กี่จุด หรือไม่ก็จุดที่เราเดินผ่านเข้าห้อง เราก็จะมีแลนด์สเคปตรงที่เดินผ่านเข้าห้องตามทางเดินที่เป็นจุดนำสายตา เราก็จะมีต้นไม้ตรงนั้นเป็นจุด ๆ ไป ส่วนต้นใหญ่ด้านนอกนี่เป็นเรื่องของแดด เนื่องจากออฟฟิศหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผมจึงปลูกไม้ใหญ่สองต้นเพื่อช่วยบังเเดด สำหรับต้นที่ติดกับผนังบางส่วนก็ได้น้ำจากแอร์ที่หยดลงมา แล้วหยดลงบ่ออีกที ฉะนั้นบ่อปลาก็เลยไม่มีระบบบ่อกรอง เพียงแต่ต้องมีน้ำไหลเข้าไหลออกตลอดเวลา เลยไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสียครับ”
อ่านเนื้อหาและชมภาพบ้านและสำนักงานออกแบบได้ที่นี่
room: ที่ผ่านมา Walllasia ผ่านการเปลี่ยนแปลงอะไรมาบ้าง หรือได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง
Suriya Umpansiriratana: “จริง ๆ แล้วงานสถาปัตยกรรมเราอาจจะไม่ต้องรีบร้อนก็ได้ ไม่ได้รีบร้อนหมายถึง มันมีระยะเวลาในการทำ 2 ปี 3 ปี มีเวลาของมันอยู่ เคยมีคนบอกไว้ว่า การตลาดที่ดีที่สุดของงานสถาปัตยกรรมคือทำให้มันดี พอมันดีแล้วก็จะโอเค อีกอย่างคือพอเรามาทำงานสเกลใหญ่ แลนด์สเคปจึงสำคัญมาก งานสเกลใหญ่เราจะมองที่แลนด์สเคปก่อน อย่างงานล่าสุดที่วัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง เรามองที่ภูเขาแล้วก็บ่อน้ำ ตัวอาคารที่สร้างถ้าเทียบกับสเกลโดยรอบถือว่าไม่ใหญ่เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นอาคารหลังใหญ่”
room: แล้วตอนนี้กำลังทำงานอะไรอยู่ครับ
Suriya Umpansiriratana: “มีโรงแรมที่เราออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นโรงแรมที่ฉะเชิงเทราชื่อ Oui J’aime โดยที่นั่นเราได้นำสิ่งที่ทดลองจากที่ออฟฟิศไปปรับใช้ด้วย อย่างพวกงานเหล็กต่าง ๆ และก็มีบ้าน Lotus Residence ใช้ดีเทลเหล็กกับต้นไม้ ซึ่งมีสเกลที่ค่อนข้างใหญ่ประมาณ 5,000 ตารางเมตร เน้นวางแลนด์สเคปให้มีเรื่องราวขณะเดินผ่านเข้าไปยังตัวอาคาร”
OUI J’AIME โรงแรมเหล็กในเมืองแปดริ้ว ที่ทุกคนต้องบอกว่า “ใช่ ฉันชอบ” เพราะนอกจากรูปลักษณ์แปลกตาด้วยการเลือกใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักเเทบจะทุกส่วนของอาคาร ได้ช่วยมอบประสบการณ์การพักผ่อนที่ไม่เหมือนที่ใด คุณสุริยะกล่าวถึงความรู้สึกแปลกตานี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ใช้งานจดจำและรู้สึกแตกต่างจากการเดินอยู่ในอาคารอื่น ๆ ทั่วไป พร้อมกันนั้นด้วยโครงสร้างที่สามารถออกแบบได้อย่างยืดหยุ่นของเหล็ก รวมถึงการออกแบบให้ตัวอาคารดูโปร่งเบา ยังช่วยสร้างความรู้สึกให้แขกได้สัมผัสบรรยากาศที่ปลอดโปร่งราวกับอยู่ภายนอกตลอดเวลา เเละเป็นหนึ่งเดียวกับสถานที่มากขึ้น
อ่านเนื้อหาและชมภาพทั้งหมดของ OUI J’AIME ได้ที่นี่
โครงการต่าง ๆ ของ Walllasia นั้น เห็นได้ชัดเจนว่าคุณยะ มีความสนุกในการเล่าเรื่องต่าง ๆ ของงานให้ปรากฎเด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมซึ่งสอดรับกัน พร้อม ๆ ไปกับนำเสนอสิ่งที่ได้จากการทดลองด้วยตัวเองเพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง อาทิ การปลูกพืชกินได้ริมรั้วของหมู่บ้านซึ่งคุณยะอยู่อาศัยเอง เพื่อสร้างให้ชุมชนรอบตัวดูน่าอยู่มากขึ้น เเละช่วยลดปัญหาการเป็นพื้นที่ลับตา แหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นในหมู่บ้าน หรือโครงการทำออฟฟิศยูนิตใหม่ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ โดยเริ่มจากการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับบ้านข้าง ๆ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาระหว่างกัน
อาคารปฎิบัติธรรมวัดป่าวชิรบรรพต อีกหนึ่งผลงานของคุณสุริยะ โดดเด่นด้วยความน้อย ดิบ และสะอาดตา มีรายละเอียดของงานดีไซน์ซึ่งขัดแย้งแต่กลับสามารถเชื่อมประสานเป็นเรื่องราวเดียวกันได้อย่างลงตัว โดยดึงธรรมชาติที่อยู่รายล้อมในพื้นที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าสนใจ หากมองจากภายนอกไกล ๆ เข้าไปยังอาคารคอนกรีต 4 ชั้น แห่งนี้ เเม้จะดูนิ่งและดิบไปบ้าง แต่เมื่อเดินเข้าไปสู่ด้านใน เเล้วทอดสายตาไปยังทางเดินตามแนวอาคารจะมองเห็นช่องเปิดรับวิวและลมจากทิวเขาสีเขียวภายนอกที่ดูสวยงามจนเเทบไม่เชื่อสายตา โดยมีเงาธรรมชาติเหล่านั้นทอดลงมาตกกระทบลงบนผิวน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ของระเบียง ภายใต้กรอบอาคารปูนเปลือยที่ไร้การเเต่งเเต้มใด ๆ เสมือนความดีงามที่เปล่งรัศมีมาจากภายในไร้ซึ่งจิตที่ปรุง
อ่านเนื้อหาและชมภาพทั้งหมด: อาคารปฎิบัติธรรมวัดป่าวชิรบรรพต เชื่อมมนุษย์ ธรรม และธรรมชาติผ่านสถาปัตยกรรม
Tiny Museum อาคารพิพิธภัณฑ์สีแดงชาดขนาดเล็ก ข้างกุฏิสงฆ์วัดโสมนัสราชวรวิหาร ที่นี่ก่อรูปขึ้นระหว่างซอกกุฏิสงฆ์สองหลัง เพื่อใช้เป็นพื้นที่จัดเก็บรักษาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ “กเบื้องจาน” หรือ จดหมายเหตุโบราณ ที่ขุดพบจากใต้ดินอายุเก่าแก่จำนวน 847 ชิ้น โดยใช้“สีแดงชาด” อันเป็นสีที่สื่อถึงพลังความสามัคคี ขณะเดียวกันก็ยังดูกลมกลืนไปกับประตูเเละหน้าต่างสีเเดงชาดดั้งเดิมของวัด มาใช้เป็นธีมสีหลัก ร่วมกับโครงสร้างเหล็กที่สร้างได้รวดเร็ว เหมาะกับการนำไปแทรกระหว่างอาคาร โดยไม่รบกวนโครงสร้างเดิมของกุฏิสงฆ์ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร อีกทั้งเหล็กยังมีความแข็งแรง ไม่เกิดความชื้น อันเป็นสาเหตุให้กเบื้องจานเสียหายได้
อ่านเนื้อหาและชมภาพทั้งหมด: TINY MUSEUM กรุสมบัติชาติที่พิพิธภัณฑ์กเบื้องจานสีแดงชาดข้างกุฏิสงฆ์วัดโสมนัสราชวรวิหาร
room: ปัจจุบันความสุขในการทำงานคืออะไรครับ
Suriya Umpansiriratana: “ความสุขมันใช้เวลานานเหมือนกันนะครับ เพราะกว่าจะลงตัวก็นานพอสมควร จริง ๆ เรื่องความสุขก็ตอบได้หลายทางมากนะ แต่ถ้าถามกันจริง ๆ ระหว่างตอนนี้กับตอนเด็ก ๆ ผมว่าตอนนี้มีความสุขกว่า พอเราทำงานจริง ๆ เราต้องมองเห็น แล้วทำให้น้อยสุด เมื่อก่อนนั้นเรามองไม่เห็น เราทำนาน คือเราเอาแรงเข้าทำ แต่เราไม่ได้คิด ตอนนี้เราใช้เวลาคิดนานขึ้นนิดหนึ่ง แล้วก็ทำให้น้อย มันคือการมองเห็น ที่สำคัญเราลัดขั้นตอน สำคัญตรงนี้แหละ”
เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ : นันทิยา
วิดีโอ : ณัฐวัฒน์ ส่องแสง, กรองเเก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล
ตัดต่อ : เมธี กสิกร, อำพล ซึ้งจิตสิริโรจน์