ไม่ว่าจะเป็นห้องครัวเก่าที่ใช้มานาน หรือ กำลังสร้างบ้านแล้วอยากได้ห้องครัวใหม่เอี่ยม สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ การรู้จักประเภทของครัวแต่ละแบบ และรู้ถึงความต้องการของตนเอง เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกแบบครัวที่เหมาะสม โดยมีข้อควรพิจารณาในการวางแผนสร้างห้องครัวคือ
- ดูความต้องการ หากเรารู้ว่าตนเองใช้งานครัวหนักแค่ไหน หรือใช้เพียงบางวัน จะทำให้สามารถตัดสินใจเรื่องวัสดุที่เหมาะสมได้มากขึ้น รวมถึงงบประมาณด้วย
- พื้นที่ใช้สอย ปัจจัยต่อมาคือพื้นที่สำหรับห้องครัว ขนาดห้องครัวเล็กใหญ่ มีผลต่อการเลือกชุดครัว เช่นหากมีพื้นที่ขนาดใหญ่สามารถเลือกชุดครัวรูปตัวยูได้ แต่หากมีพื้นที่ไม่มาก ครัวตัวไอน่าจะเหมาะสมกับพื้นที่ตรงนั้น
- รูปแบบของครัว เลือกรูปแบบ สไตล์ ของครัวที่ตนเองชื่นชอบ เพื่อให้ง่ายตอนปรึกษาผู้ออกแบบหรือผู้จำหน่ายชุดครัว ข้อนี้จะช่วยควบคุมเวลาการทำงานให้เหมาะสม และทำให้ได้แบบครัวที่สวยถูกใจที่สุดด้วย
- ระยะเวลาการผลิตและติดตั้ง เพื่อให้ครัวเสร็จเร็วทันใช้งาน ลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างติดตั้งชุดครัว ควรทำความเข้าใจ ตกลงกับผู้จัดจำหน่าย และผู้รับเหมาให้แน่ชัดถึงระยะเวลาของการขนส่งและติดตั้ง ป้องกันปัญหาความขัดแย้งการส่งงาน เพราะแต่ละบริษัท หรือผู้รับเหมาจะมีกระบวนการ การผลิตและการทำงานที่แตกต่างกัน
นอกจากการวางแผนที่เหมาะสมจะทำให้ได้ชุดครัวที่เหมาะสมถูกใจแล้ว การเลือกวัสดุที่เหมาะกับการใช้งานของเจ้าของบ้านก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นรู้ ซึ่งวัสดุที่กอบอยู่ในชุดครัวแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
1. โครงสร้าง
วัสดุสำหรับทำโครงสร้างชุดครัว แน่นอนว่าต้องมีความแข็งแกร่ง ทนต่อแรงกระแทก ซึ่งโครงสร้างของตู้แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ล่าง (ตู้ที่อยู่ใต้ท๊อป) ตู้บน (ตู้แขวนติดกับผนัง) และตู้สูง (ตู้ทรงสูงที่มีขาวางบนพื้น) วัสดุที่นิยมนำมาทำเป็นโครงสร้างตู้ได้แก่
- ไม้จริงหรือไม้แท้ (nature wood) ในอดีตไม้ที่นิยมใช้คือไม้สัก เพราะมีคงทนแข็งแรง อายุการใช้งานยาวนาน ปลวกไม่กิน และยังมีลวดลายและสีสันที่มีความงามตามธรรมชาติ แต่ราคาค่อนข้างสูง เพราะเป็นวัตถุดิบที่หายาก จนในปัจจุบันนี้ความนิยมได้ลดน้อยมาก เรื่องของราคาที่สูงและดีไซน์ที่ดูไม่ทันสมัย
- ไม้อัด (Plywood) คือไม้แผ่นบางมาทำโครงแล้วปิดตามรูปแบบของงาน ซึ่งไม้อัดแต่ละชนิดจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ที่ใช้ทำเช่น ไม้อัดสัก จะมีลายไม้ชัดเจน ส่วนใหญ่ผู้รับเหมาจะนำมาทำงานเฟอร์นิเจอร์บิลต์อินมากกว่ามาทำเคาน์เตอร์ครัว เพราะง่ายต่อการตัดฉลุเข้ารูปที่หน้างาน แต่ในวงการบริษัทผู้ผลิตครัวจะไม่นิยมใช้
- ไม้ปาร์ติเคิล (Particle Board) คือการนำขี้เลื่อยของไม้ เข้าขบวนการผลิตอัดแน่น โดยการยึดติดเนื้อด้วยกาว แล้วผสมสารเคมีเพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษขึ้น แล้วขึ้นรูปเป็นแผ่นตามขนาดมาตรฐานของผู้ผลิต มีหลายประเภทตามมาตรฐานสากล แบ่งเป็น E2, E1, CARB, E0, SE0, HMR ซึ่งตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่ได้มาตรฐานในเมืองไทย ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ปาร์ติเคิลที่เป็น E1 เพราะได้มาตรฐานในการจำกัดปริมาณของสาร ฟอร์มาลดีไฮด์ที่ระเหยออกมาจากไม้ ลดกลิ่นฉุน เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ข้อดีคือมีน้ำหนักเบา หาซื้อง่าย มีราคาถูก ข้อเสียคือวัตถุดิบไม่แข็งแรง ไม่สามารถโดนน้ำได้ ไม่ทนความชื้น ปลวกกิน และอาจมีเชื้อราขึ้นได้ง่ายต้องมีแผ่นลามิเนต หรือ PVC ปิดผิวด้านนอกไว้เพื่อทับรอยของขี้เลื่อย ซึ่งจะไม่เรียบเนีบนจึงไม่เหมาะกับงานที่จะต้องมีการพ่นสีทับ
- ไม้บล็อกบอร์ด หรือไม้ประสาน (Block Board) คือแผ่นไม้ที่ผลิตจากการนำไม้แปรรูปนำมาเรียงต่อกันเป็นไส้ไม้แล้วอัดประสานกันด้วยกาว แล้วนำมาปิดผิวไม้วีเนียร์ เมลามีน ลามิเนต ไม้อัด MDF หรือปาร์ติเคิลปิดทับ เหมาะสำหรับทำโครงสร้างของเฟอร์นิเจอร์ ข้อดีคือ ประหยัดเวลาไม่ต้องทำโครงไม้ ยึดน๊อตและสกรูได้แน่นกว่าไม้ MDF และปาร์ติเคิล ทนความชื้นสูงกว่าไม้ MDF และปาร์ติเคิล มีความแข็งแรงมากกว่า รองรับน้ำหนักได้มากกว่า ข้อเสียราคาสูงกว่าไม้ MDF และปาร์ติเคิล น้ำหนักมากยากต่อการขนย้าย
- ไม้ MDF(Medium-Density Fiberboard) การนำใยไม้เศษมาอัดด้วยความร้อนและแรงดันสูงมาก ทำให้เกิดความ หนาแน่นมากกว่า 500 กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร ไม้ MDF เป็นไม้ที่มีเนื้อแน่น ละเอียดผิวเนียนมากกว่าปาร์ติเคิลบอร์ด จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ในงานที่ต้องการความเรียบเนียนและสามารถพ่นสีทับได้ ข้อดีคือมีความหนาแน่นสูง มีผิวละเอียดเรียบเนียนสม่ำเสมอ ทำให้งานพ่นสีและงานปิดผิวออกมาสวยงาม แข็งแรง และรับน้ำหนักได้มากกว่าปาร์ติเคิล ข้อเสียคือมีราคาสูงกว่า มีน้ำหนักมากกว่าทำให้การขนย้ายยาก ไม่ทนชื้น การตัดไม้ทำให้เกิดฝุ่นมากจึงเกิดผลเสียต่อสุขภาพของช่าง
- สเตนเลส (Stainless) คือชื่อเรียกของกลุ่มโลหะที่มีความต้านทานต่อการกัดกร่อน หรือตามศัพท์บัญญัติจะเรียกว่า “เหล็กกล้าไร้สนิม” โดยการผลิตจะมีส่วนผสมหลักคือโครเมียม ไม่ต่ำกว่า 10.5% ที่ต้านทานการกัดกร่อนที่เกิดจากสนิม มีการจำแนกแบ่งประเภทของสเตนเลสได้จากเลขรหัสที่กำหนดขึ้นตามมาตรฐาน AISI เช่น 304, 304L, 316, 316L เป็นต้น ข้อดีของสเตนเลส คือ ต้านทานการกัดกร่อนที่ทำให้เกิดสนิม ทนความชื้น ไม่ดูดซับกลิ่น ไม่เป็นที่อยู่ของสัตว์ตัวเล็ก เช่น ปลวก แมลง สาป มด อายุการใช้งานยาวนาน ดูแลรักษาง่าย ข้อเสียคือราคาสูงมากเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ แต่ด้วยคุณสมบัติเด่นหลายอย่างของสเตนเลส ทำให้มีผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์นำมาพัฒนาเป็นโครงสร้างของเฟอร์นิเจอร์
- ครัวปูน การนำปูนซีเมนต์ และตัวอิฐมาประกอบกันเป็นโครงสร้างเคาน์เตอร์ของครัว ซึ่งเป็นที่นิยมพอสมควรสำหรับบ้าน ที่ตั้งบนพื้นแนวราบ เพราะสามารถทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว ราคาถูก อายุการใช้งานยาวนาน แต่ปัญหาที่ผู้ใช้ครัวปูนส่วนใหญ่พบคือ ต้องพบกับปัญหากลิ่นอับที่เกิดจากการดูดความชื้นของปูน เสียพื้นที่การใช้งานมากขึ้นเพื่อเผื่อการทำโครงสร้าง และไม่สามารถย้ายไปที่อื่นได้
2 หน้าบานตู้
วัสดุที่ใช้ทำหน้าบานตู้จะต้องเป็นวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย และทนต่อรอยขีดข่วนซึ่งในท้องตลาดนั้นมีให้เลือกหลายชนิด เช่น
- อะคริลิก Acrylic การนำแผ่นอะคริลิกใสทำสีมาปิดผิวหน้าบาน จะให้ความเงางามเหมือนงานพ่น Hi Gloss และงานกระจก ข้อดีราคาถูกกว่า แต่ให้ความเงางามพอกันกับไฮกลอส ระยะการผลิตสั้นกว่า เตรียมแผ่นชิ้นงานไว้ได้ล่วงหน้าก่อนนำมาขึ้นรูป กันชื้นได้ในระดับนึง มีการเข้าซีนขอบบานเรียบร้อย ดูแลรักษาง่าย ข้อเสีย อาจจะมีรอยต่อกรณีชิ้นงานยาว
- งานกระจกสี ปัจจุบันมีการนำกระจกสีที่มีคุณภาพมาทำเป็นหน้าบาน เพื่อให้เกิดความเงางาม ข้อดีคือหน้าบานไม่มีส่วนประกอบของไม้ จึงหมดปัญหาความชื้น ปลวกกิน ไม้บวมแต่มีข้อเสียคือ ราคาสูงและมีโอกาสแตกได้ถ้าเกิดกระแทกแรงๆ
- งานลามิเนต วีเนียร์ เมลามีน คือการนำแผ่นบางของวัสดุมาปิดลงบนผิวหน้าบาน ซึ่งแผ่นที่ว่านั้นจะขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต ความหนา บางของแผ่น ส่วนใหญ่งานลามิเนตจะเป็นงานเลียนแบบลายธรรมชาติ เช่น ลายไม้ ลายผิวโลหะ ข้อดีคือ ราคาไม่สูงมากขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้านั้นๆ ข้อเสีย งานติดลามิเนตถ้าคุณภาพกาวติดไม่ดีจะมีโอกาสลอกล่อนและมีโอกาสแตกหัก ถ้ารุ่นของลามิเนตไม่มีตัวปิดขอบมาให้ การปิดขอบจะทำให้เกิดรอยเส้นดำ ชิ้นงานจึงออกมาไม่สวยเท่าที่ควร
- งานไม้จริง คือการนำไม้จริงหรือไม้แท้ทำมาตัดหน้าบานตามขนาดจะมีการทำ 2 แบบคือ ใช้ไม้ทั้งแผ่นทำทั้งบาน และใช้การทำโครงแล้วปิดด้วยไม้จริงแผ่น ซึ่งข้อดีคือให้ความสวยงามของธรรมชาติแท้ๆ ถ้าเป็นไม้สักที่มีอายุที่เหมาะสมก็จะคงทนแข็งแรง ปลวกไม่กิน แต่ข้อเสียคือราคาแพงมาก ดูแลรักษายาก ไม้มีการเปลี่ยนรูปทรง เกิดจากสภาพอากาศ
- งานเซรามิก คือการนำแผ่นเซรามิกที่มีการผลิตด้วยการเข้าเตาเผา โดยใช้อุณหภูมิสูงกว่า 1400 องศาเซลเซียส เพื่อให้เกิดลวดลายและผิวสัมผัสตามที่ต้องการ ซึ่งงานเซรามิกนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในเมืองไทย เพราะต้องใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรตัดที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการประกอบเป็นชิ้นงานหน้าบาน ซึ่งขณะนี้น่าจะมีเพียง GIO เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่มีหน้าบานเซรามิกเป็นตัวเลือกให้ลูกค้า ข้อดีคือมีผิวสัมผัสและลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถใช้ได้ทั้งงานภายในและภายนอก อายุการใช้งานยาวนาน และไม่มีผลกับสีและลวดลาย กันน้ำ กันปลวก กันชื้น ทนรอยขีดข่วน ทนความร้อนสูง ข้อเสีย มีราคาสูงกว่าหน้าบานอื่นๆ กรณีถูกกระแทกเกินระดับมาตรฐานของผู้ผลิตมีโอกาสแตกได้
3. ท็อปเคาน์เตอร์ (work top)
ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับอาหาร จึงต้องเป็นวัสดุที่ไม่สะสมเชื่อโรค ทำความสะอาดง่าย ทนความร้อน ทนต่อรอยขีดข่วนหรือแรงกระแทกด้วย ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ทำท็อปเคาน์เตอร์ ได้แก่
- หินแกรนิต เป็นหินที่ตัดมาจากธรรมชาติ ยังไม่มีการแปรรูป แต่จะมีการเคลือบพื้นผิวให้เกิดความเงางาม แต่นานไปผิวหน้าก็จะจางทำให้พื้นผิวเป็นรอยด่าง เนื้อหินจะมีรูพรุน สามารถดูดซับของเหลวเข้าไปฝังอยู่ในเนื้อหินได้ และยากต่อการทำความสะอาด ข้อดีคือราคาถูกเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น หาซื้อง่าย
- หินสังเคราะห์ ผลิตจากพลาสติกประเภทอะคริลิก หรือมีการผสมไฟเบอร์ หรือสารสังเคราะห์อื่นๆ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ทดแทนหิน ข้อดีคือสามารถนำมาต่อเป็นแผ่นยาวโดยไร้รอยต่อ ซ่อมแซมได้ ไม่ดูดซับของเหลวเพราะไม่มีรูพรุน ข้อเสียคือไม่ทนความร้อน ไม่เหมาะกับครัวหนัก
- หินควอตซ์ การนำหินกับแร่ควอตซ์ธรรมชาตินำมาบดละเอียด และอัดด้วยแรงดันสูงเพื่อให้เกิดความหนาแน่นแข็งแรง จึงไม่ดูดซับของเหลว ทนรอยขีดข่วนได้พอสมควร มีสีบนแผ่นอย่างสม่ำเสมอ และสีไม่ซีดจางเมื่อเวลาใช้ไปนานๆ ข้อเสียมีราคาแพงกว่าหินแกรนิต
- สเตนเลส เหมาะกับงานครัวในรูปแบบครัวอุตสาหกรรมมากกว่า
- หินอ่อน หินธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในงานตกแต่ง แต่ไม่แนะนำให้นำมาใช้ในการทำท๊อปเพราะเป็นหินที่มีความเปราะแตกง่าย ดูดซับของเหลว ยากที่จะทำความสะอาด และไม่ทนต่อสารละลายกรดด่าง
- ไม้จริง การใช้ไม้จริงมาวางเป็นท๊อป ส่วนไม้ที่นิยมจะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สัก ไม้โอ๊ค เพราะลวดลายที่สวยงามเป็นธรรมชาติ มีความแข็งแรงที่ต้องรับน้ำหนักและแรงกดกระแทกเวลาทำอาหาร ข้อเสีย ดูแลรักษายาก ตัวไม้อาจมีรอยแตกซึ่งเกิดจากสภาพอากาศ เป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย ดูดซับกลิ่นและความชื้น
- กระเบื้อง การนำแผ่นกระเบื้องมาประยุกต์ใช้เป็นท๊อปส่วนใหญ่จะใช้กับครัวปูน เพราะติดตั้งง่าย ราคาถูก ข้อเสียจะมีรอยต่อระหว่างแผ่น ไม่สวย
- เมลามีน คือแผ่นเมลามีนผลิตจากกระดาษ หรือฟลอยด์แล้วพิมพ์ลายที่ต้องการแล้วเคลือบผิวด้วยเรซิ่น เมื่อนำไปปิดผิวบนแผ่นไม้ก็จะได้ท๊อปเมลามีน ข้อดีคือราคาถูก พื้นผิวแนบสนิทไม่หลุดร่อนง่าย น้ำไม่ซึมผ่านผิวที่เคลือบเมลามีน ข้อเสีย ผิวที่เคลือบบางมากทำให้ถลอกได้ง่าย มีสีและลายให้เลือกน้อย ใช้กับไม้อุตสาหกรรมบางประเภทเท่านั้น
- เซรามิก แผ่นเซรามิกจะมีขนาดใหญ่ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ มีคุณสมบัติพิเศษคือเป็น Food grade สามารถทำอาหารบนท๊อปโดยตรงได้ ทนความร้อนสูง ทนรอยขีดข่วน ข้อเสียคือมีราคาแพงมากกว่าท๊อปประเภทอื่น
วัสดุที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ที่นำมาทำท๊อปนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบความแข็งของเนื้อวัตถุดิบต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย จะมีตารางให้ เปรียบเทียบค่าความแข็งของวัตถุดิบประเภทหินที่อยู่ในบทความเรียงลำดับได้คือ เพชร 10 ,เซรามิก 9 ,ควอทซ์ 8, หินสังเคราะห์ 7, หินแกรนิต 6, หินอ่อน 5