40 กว่าปีที่แล้ว สถานทูตออสเตรเลีย อาคารสีเหลืองมัสตาร์ดหลังใหญ่บนถนนสาทร เคยเป็นความภูมิใจด้านสัมพันธภาพร่วมกันระหว่างประเทศไทยเจ้าบ้าน กับออสเตรเลียมิตรประเทศจากแดนไกล
แต่หลังจากที่อาคารสีเหลืองมัสตาร์ดหลังเก่าและที่ดินราคาสูงลิ่วเพิ่งถูกเปลี่ยนมือไปไม่นาน อาคารอิฐสีแดงในนามสถานฑูตประเทศเดียวกันก็เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่บนถนนวิทยุไม่ไกลจากที่ตั้งเดิม จนปัจจุบันอาคาร สถานทูตออสเตรเลีย หรือ AUSTRALIAN EMBASSY แห่งนี้ ก็กำลังได้รับการจับตามองมากที่สุด ทั้งในแง่ภาพลักษณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ
รวมถึงการเป็นอาคาร “อิฐ” ที่สูงใหญ่และโดดเด่นที่สุดบนถนนวิทยุ
สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยแห่งใหม่ (AUSTRALIAN EMBASSY) เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิก เจมส์ โกรส (James Grose) แห่งสำนักงานออกแบบสัญชาติออสเตรเลีย BVN Architecture Firm แม้รูปลักษณ์จะแตกต่างไปจากสถานฑูตแห่งเดิมโดยสิ้นเชิง หากแต่คอนเซ็ปต์เบื้องลึกของที่นี่กล่าวได้ว่าไม่ได้ต่างจากสิ่งที่ เคน วูลลี่ (Ken Woolley) สถาปนิกผู้ออกแบบสถานฑูตหลังเดิมทำไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เท่าใดนัก นั่นคือการหยิบยกสภาพแวดล้อม และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศมาหลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ โดยเล่าผ่านสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่นไม่เหมือนใคร
การใช้อิฐในการออกแบบสถานทูตแห่งใหม่ ถือเป็นหนึ่งในแนวคิดการแสดงออกถึงการหลอมรวมวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศเช่นเดียวกับสถานทูตหลังเดิม หากแต่ เคน วูลลี่ เลือกที่จะใช้กระเบื้องเซรามิกสีเหลืองทอง ซึ่งได้แรงบันดาลใจการใช้วัสดุมาจากการเดินทางไปเยือนวัดวาอารามต่าง ๆ ในประเทศไทย ในขณะที่อิฐสีแดงที่กรุอยู่บนอาคารสถานทูตแห่งใหม่ เจมส์ โกรส ได้ให้ข้อมูลว่า เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการพบเห็นบรรดาโบราณสถานต่าง ๆ ของไทยที่นิยมใช้อิฐโบราณในการก่อสร้าง (สถาปนิกใช้วิธีผลิตอิฐในออสเตรเลียให้มีสีและสภาพใกล้เคียงกับอิฐที่พบในไทย แล้วจึงนำมาใช้กับอาคาร) ส่วนภาพลักษณ์อันหนาหนักโดยรวมมาจากการสะท้อนสภาพภูมิประเทศของโขดหินและทะเลทรายอันเป็นภาพตัวแทนของทวีปออสเตรเลีย พื้นผิวและรูปลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมอิฐสีแดงที่ผลิตขึ้นใหม่ จึงสามารถใช้เล่าเรื่องภูมิประเทศและวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศไปพร้อมกันได้อย่างลงตัวและกลมกลืน
นอกจากนี้สถาปนิกทั้งสองท่านยังหยิบยกการใช้ “น้ำ” เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม โดย เคน วูลลี่ ได้ออกแบบบึงน้ำขนาดใหญ่ไว้ใต้อาคารสูงโปร่งที่มีบรรดาเสาทรงกลมสูงชะลูดคอยรองรับโครงสร้างที่อยู่เหนือผิวน้ำ เลียนแบบลักษณะบ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง ในขณะที่เจมส์ โกรส เลือกออกแบบบ่อน้ำขนาดตื้น 2 จุด จุดหนึ่งเป็นสระขนาดกว้างขนานไปกับอาคารบริเวณทางเข้าเสริมบรรยากาศให้สดชื่น และอีกจุดซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์คือสระน้ำบริเวณคอร์ตยาร์ดกลางอาคาร ตรงกับแนวช่องหลังคาสกายไลท์ ด้านบน สำหรับใช้นำอากาศและแสงธรรมชาติให้สาดส่องเข้ามาสู่พื้นที่ภายในอาคารได้อย่างทั่วถึง เพื่อมอบความสว่างและบรรยากาศโปร่งโล่งให้อาคารหลังใหญ่ที่ปิดทึบ ในแง่หนึ่งสระน้ำเล็ก ๆ นี้ยังช่วยสะท้อนแสงบางส่วนให้กระจายไปทั่วบริเวณ เรียกได้ว่าการนำน้ำเข้ามาเป็นองค์ประกอบในสถาปัตยกรรมของสถาปนิกทั้งสองท่านนั้น ก็เพื่อสะท้อนบริบทและวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างแยกกันไม่ขาด
อย่างไรก็ตามในขณะที่สถานทูตเก่าเน้นความโปร่งสูงชะลูด โชว์เส้นสายของโครงสร้างทั้งเสา คาน และโครงสร้างแผ่รับน้ำหนักพื้นอย่างชัดเจน สถานทูตแห่งใหม่กลับเก็บงำตัวเองด้วยรูปลักษณ์ทึบตัน แต่แสดงออกด้วยเส้นสายภายนอกของผนังอิฐที่คดโค้งดูอิสระและเป็นธรรมชาติ เหตุผลของการออกแบบอาคารให้เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะในยุคสมัยของเคน วูลลี่ หรือในยุคที่สถาปัตยกรรมสไตล์โมเดิร์นกำลังเฟื่องฟูนั้น นิยมแสดงออกถึงเส้นสายโครงสร้างและการใช้งานอย่างตรงไปตรงมา ต่างจากปัจจุบันที่สถาปนิกใช้วิธีจำลองภาพในจินตนาการ อย่างภาพของ “โขดหิน” ภายใต้แนวคิดให้ออกมาเป็นสัญลักษณ์เชิงรูปธรรม ผ่านองค์ประกอบและวัสดุได้ง่ายกว่า เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเป็นตัวช่วยให้การออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องง่ายดายขึ้น
สิ่งสุดท้ายที่สถาปัตยกรรมทั้งสองแห่งแสดงออกอย่างตรงกันข้าม ภายใต้แนวคิดที่ใกล้เคียงกัน ก็คือการออกแบบภูมิทัศน์ เคน วูลลี่ เลือกประดับสวนของสถานทูตสีเหลืองมัสตาร์ดหลังเดิมด้วยพรรณไม้เขตร้อนเคียงบ่อน้ำจนดูรกครึ้มราวกับอยู่กลางป่า ในขณะที่เจมส์ โกรส เลือกใช้เพียงสระบัวที่ดูสงบนิ่งเคียงไปกับสถาปัตยกรรมรูปทรงสูงใหญ่ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้สถานทูตแห่งใหม่นี้ดูขึงขัง หนักแน่น และโดดเด่นออกมาจากบริบทโดยรอบ ต่างจากสถานทูตหลังเก่าที่องค์ประกอบทุกอย่างล้วนดูกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม มีไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้ใบแทรกอยู่ทุกมุมมองเป็นระยะ ๆ
วิธีของเคน วูลลี่ นั้นเป็นการสร้างบรรยากาศแบบป่าร้อนชื้น เพื่อสะท้อนบริบทด้านธรรมชาติและป่าเขตร้อนที่พบเห็นได้ในประเทศไทย ในขณะที่สถานทูตของเจมส์ โกรส แม้จะมีรูปลักษณ์ต่างไป ด้วยการนำบัวหรือไม้น้ำมาประดับเรียงรายอยู่ภายในสระ ก็มีที่มาจากการจำลองภาพสระบัวที่คนไทยคุ้นตาเป็นอย่างดี จึงกล่าวได้ว่าเป็นการสะท้อนบริบทอย่างไทยผ่านสถาปัตยกรรมเฉกเช่นกัน
สถานทูตแห่งเก่าดูเปิดโล่งและสอดแทรกไปกับสภาพแวดล้อม ในขณะที่สถานทูตแห่งใหม่ดูขึงขังและแสดงตัวตนอย่างเด่นชัดกว่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทั้งสองสถาปัตยกรรมก็ล้วนสะท้อนเรื่องราวเดียวกัน นั่นคือความกลมกลืนและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ผ่านสัญลักษณ์อย่างสถาปัตยกรรมที่จะตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลาไปอีกยาวนาน
อ่านเรื่องสถานฑูตออสเตรเลียหลังเก่าได้ที่
รู้จักสถาปัตยกรรมลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย ก่อนจะเหลือเพียงภาพ
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นันทิยา