นับตั้งแต่วันที่ 8 เป็นต้นมา เรื่อยไปจนถึงวันที่ 16 ธันวาคมนี้ หลายพื้นที่ในเชียงใหม่ครึกครื้นไปด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ใน เทศกาลงานออกแบบประจำปีของเชียงใหม่ หรือ “Chiang Mai Design Week 2018” ภายใต้แนวคิด “Keep Refining” หรือ “ยิ่งขัดเกลา ยิ่งแหลมคม” สำหรับใครที่อยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ตอนนี้ room ขอชวนมาชมนิทรรศการและงานออกแบบน่าสนใจในสองวันสุดท้ายของเทศกาลนี้ ซึ่งบอกเลยว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งจาก 200 นิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจของงานเท่านั้น
Academic Pavilion Talk
• ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่
เริ่มต้นกันที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ หรือ TCDC Chiang Mai ที่นี่มี 12 กิจกรรมน่าสนใจ โดยหนึ่งในนั้นคือ Academic Pavilion Talk
นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาจาก 9 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ภายใต้โจทย์ “Keep Refining”
SOS Garden
• ประตูท่าแพ
จากนั้นไปต่อกันที่ประตูท่าแพ บริเวณพื้นที่ตรงนี้คือส่วนจัดแสดงนิทรรศการ “SOS Garden” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 7 นักออกแบบและศิลปินอิสระ, ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ที่มาร่วมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรหันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน
“SOS Garden” คือสวนพืชพรรณท้องถิ่น ที่มีการผสานงานสถาปัตยกรรมแห่งความยั่งยืนเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวกลางเมือง นิทรรศการนี้จัดแสดงการนำวัสดุเพื่อความยั่งยืนสำหรับอนาคตอย่าง เช่น ไม้ไผ่ และพลาสติกรีไซเคิลมาออกแบบให้กลายเป็นงานสถาปัตยกรรมส่วนของหลังคา ฉากฉลุโปร่งแสงสำหรับตกแต่งพื้นที่ และใช้งานเป็นพื้นที่นั่งในสวน
SAK-SIT Talisman
• หอภาพถ่ายล้านนา
เสร็จแล้วเดินลัดเลาะจากประตูท่าแพมาตามถนนราชดำเนินจนถึงบริเวณย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จุดที่รวบรวมนิทรรศการและงานออกแบบเอาไว้มากที่สุดของเทศกาลนี้
เริ่มต้นกันที่หอภาพถ่ายล้านนา กับ SAK-SIT Talisman โดย DE LANN JEWELLERY X Surreal Stitch อีกหนึ่งในนิทรรศการน่าสนใจซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันครั้งแรก ระหว่างกลุ่มช่างฝีมือจากแบรนด์เชียงใหม่อย่าง เดอ ลานน์ ชื่อมาจากคำว่า “De” ที่แปลว่า “จาก” ในภาษาฝรั่งเศส และ “ล้านนา”) ที่ถนัดด้านการเย็บปักถักร้อยและประกอบเครื่องประดับ และคุณวทันยา ศิริวรรณ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Surreal Stitch ซึ่งเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสักยันต์และเครื่องรางของขลัง
เธอมองว่าการครอบครองสวมใส่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ เป็นการแสวงหาวิธีที่ทำให้เจ้าของรู้สึกปลอดภัยจากความกลัว ดังนั้นผลงานชิ้นนี้ผลิตขึ้นจากวัสดุหลากหลาย อาทิ โลหะ ฝ้าย ลูกปัด ด้าย และหนัง และเป็นการทำงานร่วมกันของช่างฝีมือรวม 8 ท่าน ผ่านการใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
Abandoned beauty
• หอภาพถ่ายล้านนา
Abandoned beauty อีกหนึ่งนิทรรศการน่าสนใจจาก จริยา จันทร์หน้อย ที่มุ่งมั่นในการทดลองเพื่อหาวัสดุทนแทน จึงใช้เส้นใยจากเศษขนแมวเปอร์เซียที่เธอมองว่ามีคุณสมบัติละม้ายคล้ายคลึงกับขนแกะเธอจึงมาลองถักทอจนเป็นงานฝีมือโดยใช้เทคนิคการทำผ้าขนสัตว์ (FELT) นำเสนอผ่านรูปแบบศิลปะจัดวางภายในหอภาพถ่ายล้านนา
โซฟารากบัว
• หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
วัศพล นันตา แห่ง Studio Yellow Pepper นักออกแบบและสถาปนิก ซึ่งให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้พื้นที่และผู้คนเป็นพิเศษ ครั้งนี้เขาทำงาน Installation “โซฟารากบัว” โดยใช้กระดาษลังเป็นวัสดุหลัก ด้วยโครงสร้างแบบขนมรังผึ้ง จึงช่วยให้แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักผู้นั่งได้พร้อมกันราว 14 คนทีเดียว
โครงการสร้างบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย
• หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย อ.กานต์ คำแก้ว และทีมงาน ออกแบบโครงการสร้างบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย โดยร่วมมือกับบริษัท Gerard Collection ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ไผ่ โดยที่ทีมสถาปนิกเลือกใช้รูปทรงหน้าจั่วตั้งรูปทรงสามเหลี่ยม เนื่องจากในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ในเขตรอยเลื่อน มีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวสูง รูปทรงดังกล่าวซึ่งมีมุมทะแยงจะแข็งแรงกว่ารูปทรงสี่เหลี่ยม
Every Day
• หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
นิทรรศการ Every Day โดยกลุ่มนักออกแบบ “FLOWERS IN THE VASE” นำโดย ปพิชชา ธนสมบูรณ์ วัย 23 ปี หนึ่งในนักออกแบบอายุน้อยที่สุดใน Chiang Mai Design Week 2018 เจ้าของรางวัลดีเด่นในงานแสดงเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติปี 2561 ปพิชชาเป็นนักออกแบบที่หลงใหลในการทำเครื่องเคลือบดินเผาด้วยเทคนิคเนริโกมิ โดยนำดินสีแต่ละชั้นมาทับซ้อนให้เกิดลวดลาย ซึ่งจะเห็นได้ทั้งด้านในและด้านนอกภาชนะ ครั้งนี้ปพิชชาสร้างสรรค์ผลงานคอลเล็กชั่นใหม่จากเลือกใช้ดินสโตนแวร์ (ดินสีเทา)
สำหรับเทศกาลออกแบบเชียงใหม่โดยเฉพาะ โดยที่ชาม 30 ใบที่จะจัดแสดงถูกทำขึ้นในช่วงกลางเดือนต.ค. – กลางเดือนพ.ย. ความพิเศษของดินสโตนแวร์ คือเมื่อผสมสีลงไปในดินแล้วจะยังไม่เห็นสีทันทีจนกว่าจะนำไปเผา แล้วขัดด้วยกระดาษทรายน้ำ โดยที่ทุกชิ้นล้วนเป็นสีสันจริงของท้องฟ้าในแต่ละวัน
A Cup of Coffee Exhibition
• โรงแรมศรีประกาศ
“อิสรภาพ” คือกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ 3 สตูดิโอจากกรุงเทพฯ ได้แก่ ease studio, SATAWAT และ Teerapoj Teeropas ในเทศกาลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่พวกเขาได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการ หากเปลี่ยนประเด็นจาก “เก้าอี้” นิรนามจาก 2 ครั้งแรก มาเป็นการพูดคุยเรื่อง “แก้วกาแฟ”
โดยพวกเขาเชื้อเชิญนักสร้างสรรค์จากหลายวงการ อาทิ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ศิลปินเครื่องปั้น บาริสต้า มัณฑนากร มาร่วมกันออกแบบแก้วกาแฟในแบบฉบับตนเอง พร้อมกันนี้กลุ่มอิสรภาพยังได้เสาะหาแก้วกาแฟที่มีเรื่องราวโยงใยกับผลงานของนักออกแบบรับเชิญมาร่วมจัดแสดงเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 ใบ
เรื่อง : ND24
ภาพ : ดำรง, นวภัทร