หลังจากได้ทราบข่าวคราวความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับ “ลิโด” โรงมหรสพที่เป็นตำนานของเด็กสยามทุกยุคสมัย room เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้มาอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งได้ยินสัญญาณล่าสุดดังมาจากสยามสแควร์ในวันนี้
จาก Guns for San Sebastian ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้าฉายเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 สู่ Tonight At The Romance Theater และ Kids On The Slope ภาพยนตร์สองเรื่องสุดท้ายในรอบฉายอำลาของวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ตั๋วทุกใบถูกขายจนหมดเกลี้ยงภายในระยะเวลาไม่นาน เพื่อให้การชมภาพยนตร์รอบสุดท้ายในค่ำคืนนั้น เป็นเสมือนการบันทึกความทรงจำ เพราะไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าชะตากรรมของโรงหนังแสนรักของพวกเขาในวันรุ่งขึ้นจะดำเนินไปในทิศทางไหน
ตำนานยังมีลมหายใจ
ก็อย่างที่เราทราบกันจากข่าวครึกโครมก่อนหน้านี้ว่า “ลิโด” ได้ติดป้ายประกาศปิดตัวลงอย่างถาวร เนื่องจากกลุ่ม Apex ของคุณนันทา ตันสัจจา ได้หมดสัญญาการเป็นผู้ดูแลสถานที่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาเป็นต้นไป ทำให้อนาคตของลิโดตกอยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถาม และเฉียดเข้าใกล้การเป็นตำนานที่ไร้ลมหายใจไปทุกขณะ ในระหว่างการรอข้อสรุปว่าจะเดินหน้าต่อหรือพอเท่านี้
จนกระทั่งมีสัญญาณดี ๆ ดังออกมาล่าสุด เมื่อสํานักจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ผู้ถือสัมปทานพื้นที่สยามสแควร์ ได้มีการเจรจาหาพันธมิตรจากหลากหลายกลุ่มมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ของลิโดให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดจนได้ข้อสรุปว่า สุดท้ายแล้วสํานักจัดการทรัพย์สินฯ ได้ตัดสินใจสานต่อตำนานโรงมหรสพอายุกว่า 50 ปีแห่งนี้ออกไปอีกคราว ด้วยการมอบหน้าที่ดังกล่าวให้บริษัท Love is Entertainment หรือ LOVEis กลุ่มคนดนตรีค่ายเล็กแต่เลือดข้น นำโดยทีมผู้บริหารอย่าง คุณเทพอาจ กวินอนันต์, คุณบอย โกสิยพงษ์ และคุณนภ พรชํานิ มาเป็นผู้รับไม้ต่อจากกลุ่ม Apex
ในฐานะที่ LOVEis เองก็มีจุดกําเนิดมาจากสยามสแควร์เมื่อครั้งก่อตั้งบริษัทในชื่อ Bakery Music เมื่อราว ๆ 20 ปีก่อน พวกเขาจึงยังคงใช้ชื่อโครงการว่า LIDO ต่อไปเพื่อเคารพในสถานที่เดิม หากแต่มีการเพิ่มเติมคําว่า CONNECT ต่อท้าย เพราะพวกเขาเองก็มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ลิโดเป็นมากกว่าโรงหนังธรรมดา แต่เป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงกลุ่มอาชีพสร้างสรรค์หลากหลายแขนงเข้าด้วยกันอย่างไม่ปิดกั้น ภายในโรงภาพยนตร์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยจะได้รับการรีโนเวตพื้นที่ให้เป็นแบบมัลติฟังก์ชันรองรับการแสดงคอนเสิร์ต ละครเวที นิทรรศการ ห้องอัด ตลอดจนสถานที่ถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งพร้อมเปิดบริการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562
เติม ไม้โท ให้ ลิโด้ เป็นศูนย์กลางในการสร้างโอกาสสำหรับคนอยากปล่อยของ
เพราะทุกคนล้วนต้องการพื้นที่และโอกาสในการแสดงศักยภาพของตนเอง เหมือนกับครั้งหนึ่งที่คุณนภ พรชำนิ และคุณธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด โมเดิร์นด็อก เคยมาเล่นดนตรีเปิดหมวกด้วยกันที่ลิโดแห่งนี้
“เราพยายามทำให้พื้นที่ตรงนี้สร้างคุณค่าคืนให้แก่สังคม เราไม่ได้มองในเชิงธุรกิจอย่างเดียว เรามองที่นี้เป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีที่ปล่อยของ อยากให้คนมีของได้มาแสดงออก อีกเรื่องที่สำคัญคือการสร้างแรงบันดาลใจ การได้มาพบปะศิลปินที่มีประสบการณ์ มีชื่อเสียง ตรงนี้สำคัญอย่างมากสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการส่งต่อพื้นที่ให้ LOVEis เป็นผู้ดูแล
“สมัยก่อนเราเป็นเด็กสยาม เห็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดว่า สน.ทรัพย์สินฯ ใช้พื้นที่ของสยามไปในทิศทางไหน” คุณเทพอาจ กวินอนันต์ ประธานบริหารกลุ่ม LOVEis Entertainment กล่าวเสริม ซึ่งเขาเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่าเครือข่ายของศิลปินและกลุ่มผู้ฟังที่แน่นหนาคือรากฐานที่แข็งแรงของ LOVEis ในฐานะค่ายเพลงที่เป็นมากกว่าค่ายเพลง แต่เป็นสังคมของคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันที่จะนำมาขับเคลื่อนโรงภาพยนตร์แห่งนี้ต่อไปในอนาคต
“ลิโด้จะเป็นพื้นที่ Commercial แต่เป็น Commercial ที่ไม่เหมือนเดิม” คุณนภ พรชำนิ กล่าวสรุป “เราต้องทำให้มันอยู่ได้ แข็งแรง และส่งต่อไปถึงคนที่ไม่เคยมีโอกาสมาใช้พื้นที่ สุดท้ายคือเรื่องเพื่อสังคม ลองคิดดูสิครับว่า 1 วัน มี 24 ชั่วโมง คงไม่ได้เอนเตอร์เทนกันทั้ง 24 ชั่วโมงหรอกถูกไหม 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น ตรงนี้แหละครับ ที่จะเปิดโอกาสให้คนมาทำเวิร์กชอปกันในช่วงเวลาที่โรงหนังว่างอยู่”
‘Change to Unchange’ เปลี่ยนแปลงแต่ไม่เปลี่ยนไป สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้รับไม้ต่อ
“อัตลักษณ์ที่เป็นเสน่ห์มากที่สุดคือที่นี่เขียนว่า ลิโด แต่อ่านว่า ลิโด้ ตอนเด็ก ๆ มันก็ทำให้เราไขว้เขวมาก” คุณบอย โกสิยพงษ์ อธิบายเมื่อถูกถามถึงความทรงจำเกี่ยวกับโรงมหรสพแห่งนี้ “นอกจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้มันก็เป็นที่ที่เรามาดูหนังเรื่อง Jaws เป็นครั้งแรก สำหรับผมแล้วมันเป็นที่ที่เราต้องเดินผ่านทุกวันตอนเราทำงานที่เบเกอรี่ฯ หรือเวลาเบื่อ ๆ ก็เดินมาดูหนัง ผมว่ามันเป็นความทรงจำที่แต่ละคนจะมีคนละด้าน แต่วันนี้เราจะมาเติมเต็มให้สมกับคุณเจ้าของลิโด (คุณนันทา ตันสัจจา) เขาได้ตั้งเอาไว้ เราก็แค่เติมไม้โทเป็น ลิโด้ เท่านั้นเอง”
“ลิโด ลิโด่ ลิโด้ ลิโด๊ ลิโด๋ ถ้าดูให้ดี ลิโด้จะอยู่ตรงกลาง” เขาลุกขึ้นอธิบายแล้วเอานิ้วชี้ไปที่ลายสกรีนบนหน้าอกเสื้อของตัวเอง
“เราจะเป็นกลางที่สุดเท่าที่จะเป็นกลางได้ คุณจะสุดขั้วไปถึงลิโด๋ก็ได้ หรือคุณจะสุดขั้วไปอยู่ที่ลิโดก็ได้ เราก็จะร่วมมือด้วยทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมประเภทไหน ฉายหนัง เล่นละคร คอนเสิร์ตขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง ทุกอย่างผมอยากให้มันเป็นกิจกรรมที่สังคมสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ได้บน Prime Areas ที่มีราคาระดับเด็กนักเรียนจ่ายได้ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนมีตังค์เยอะเท่านั้น ถึงมาทำกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะของตัวเองในด้านต่าง ๆ ได้ ซึ่งครั้งแรกที่ผมได้ยินจากท่านรองฯ วิศณุ มันเป็นไอเดียสุดยอดมากที่จะให้ Prime Areas นี้เป็นของทุก ๆ คน”
Back to Original สถาปัตยกรรมแห่งความเคารพ
ในการปรับปรุงสภาพอาคารเก่าของโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) และเคยได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่มาเเล้วหนึ่งครั้งในปี พ.ศ. 2536 หลังจากถูกเพลิงไหม้ จากโรงภาพยนตร์ความจุ 1,000 ที่นั่ง ในวันก่อสร้าง จนกระทั่งถูกปรับปรุงให้กระจายออกเป็น 3 โรงภาพยนตร์ขนาดเล็กจนถึงวันนี้
“เราต้องเข้าไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าของเก่า(คุณนันทา ตันสัจจา) เราเริ่มจากการศึกษาพิมพ์เขียวเก่า เช็คโครงสร้างความปลอดภัย เพื่อให้อาคารกลับมาใช้งานได้ดี หรือได้มากกว่าเดิม” คุณอู๋ – ภฤศธร สกุลไทย Design Director บริษัท PIA interior ผู้รับหน้าที่ในการปรับปรุงอาคารหลังนี้ อธิบายถึงกระบวนการทำงาน ซึ่งเขายังบอกด้วยว่าครั้งนี้เป็นโปรเจ็กต์ที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิตการทำงานสำหรับตัวเขาเอง
“พูดถึงลิโด ผมได้ความช่วยเหลือจากพี่นภ (นภ พรชำนิ) มาช่วยเล่าให้ฟัง เพราะผมเองเกิดในยุค 90’s พอได้คุยกับพี่นภก็พอได้รู้ว่าลิโดสร้างขึ้นในยุค 70’s จึงเป็นที่มาที่เราอยากจะค่อย ๆ กลับไปคืนสู่อดีต เราเคารพสิ่งที่มันเคยอยู่ ตรงนี้สำคัญที่สุด เราจะทำอย่างไรเมื่อเข้าไปในที่เก่า แล้วจะไม่ทุบตามที่เราอยากได้ แต่เราพยายามจะทำอย่างไรที่จะให้ความรู้ในสิ่งเก่าเหล่านี้กลับคืนไปให้คนรุ่นใหม่”
“เราก็เลยเข้าไปค้นคว้าและนำเสนอว่าจะกลับไปเป็นภาพเดิม แต่บิดให้ร่วมสมัยขึ้น ด้านหน้าเป็นลูกผสมระหว่างของเก่ากับของใหม่ เราอยากเก็บแผ่นป้ายและโปรแกรมหนังแบบเดิมไว้ ส่วนที่เหลือด้านหน้าเราอยากให้เป็นคอนเทนต์ส่วนของมีเดียที่เข้ามาร่วม ตรงนี้สำคัญ ซึ่งเราคุยกันละเอียดมากถึงมีเดียที่จะเข้ามาสู่สายตาผู้คนรอบถนน เราอยากเชิญมีเดียต่าง ๆ เข้ามาทำ โดยไม่ได้กำหนดว่าส่วนนี้จะเป็นอย่างไร เรามองว่าการสื่อสารกับผู้คนรอบ ๆ ตรงนี้สำคัญ เราก็เปิดกว้างต่อมีเดียพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยให้ลิโด้ยังคงเป็นลิโด”
“เรามองว่าพื้นที่ด้านหน้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่น่าสนใจมาก ของเดิมเป็นร้านขายซีดี ทำ Multi-used ในการจัดอีเว้นต์ แต่จริง ๆ แล้วก็มีคนมายืนรอรถริมถนนเยอะมาก เรารู้สึกว่าถ้าเปิดกว้างกว่านี้ได้อีก เปิดโอกาสให้คนมาใช้พื้นที่หน้าโรงมากขึ้นจะเป็นอย่างไร เราก็ถอยพื้นที่เข้าไปให้เป็นพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เราอยากให้มีกิจกรรม จึงทำให้เรามีพื้นที่กึ่ง Streetscape หรือ Street Event แบบ Semi-Outdoor เกือบ 700-800 ตารางเมตรสำหรับสาธารณะ”
“เราพยายามศึกษาว่าของเก่าที่ยังดีอยู่เพื่อเก็บไว้ใช้ หรืออะไรที่ควรทำนุบำรุง เราได้ปรึกษากับคุณนันทา เพราะการที่เขาคลุกคลีอยู่กับมันมากว่า 50 ปี ย่อมรู้ดีกว่านักออกแบบ ฉะนั้นการไปคุยและได้เห็นพื้นที่จริงจึงเป็นแนวคิดที่ดีกว่าการที่ผมจะนั่งคิดอยู่คนเดียว นอกจากนี้เรายังเลือกคุยกับผู้ใช้พื้นที่หลากหลายฝ่ายว่าแต่ละโรงจะทำอย่างไรให้ใช้งานได้สะดวก”
เมื่อ ไม้โท ไม่ได้ทำให้ความหมายของลิโดเปลี่ยนไป
“เมื่อก่อนคนอาจจะมองว่าลิโดเป็นพื้นที่สำหรับคนบางกลุ่ม ใครไม่ได้ดูหนังนอกกระแส ใครไม่ไปช็อปปิ้งแถวสยามอาจจะไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง หรือมีความผูกพันกับพื้นที่มากนัก แต่การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะทำให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับพื้นที่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น” คุณดำรง ลี้ไวโรจน์ บรรณาธิการนิตยสาร room แสดงความคิดเห็นถึงสัญญาณด้านบวกที่ดังมาจากสยามสแควร์
“เหมือนกับชื่อที่เขียนว่า ‘ลิโด’ ถ้าคนที่ไม่เคยรู้จักที่นี่มาก่อน ก็คงไม่มีใครอ่านว่า ‘ลิโด’ ไปออกเสียงให้เด็กสยามฟังก็คงจะฟังดูตลก แต่เมื่อเติมไม้โทเข้าไปไม่ว่าใครก็อ่านเหมือนกันว่า ‘ลิโด้’ หมายถึงพื้นที่เดิม แต่สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจมากขึ้น เหมือนฟังก์ชันที่เปลี่ยนแปลงไปของพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายขึ้น”
ในวันที่สัญญาณอินเทอร์เน็ต Connect โลกทั้งใบให้เชื่อมถึงกัน ในขณะเดียวกันก็ Disconnect ปฏิสัมพันธ์ของคนที่อยู่รอบข้าง LIDO Connect จึงน่าจะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มา Connect กันด้วยการสัมผัสอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นการ Connect เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมของผู้คนยุคหนึ่งสู่บทใหม่ของคนในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
เรื่อง : ดำรง, นวภัทร
ภาพ : เอกสารประชาสัมพันธ์