โรงเรียนประภัสสรวิทยา ทลายห้องเรียนแบบเดิมๆ เพื่อเปิดรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ - room life

PRAPASSORN WITTAYA’S SCHOOL BUILDING ทลายห้องเรียนแบบเดิม เพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่

จากเป้าหมายที่วางไว้นำมาสู่รูปลักษณ์ของอาคารเรียนความสูง 4 ชั้น ที่ดูเผิน ๆ แทบจะไม่รู้เลยว่านี่คืออาคารประเภทใด เพราะผู้ออกแบบจาก Message Design Studio ได้ทลายข้อจำกัด รูปแบบ วิธีการ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้งานอาคารเรียนเบบเดิม ๆ แล้วแทนด้วยอาคารเรียนรูปแบบใหม่

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Message Design Studio

โดยโรงเรียนรูปลักษณ์ใหม่นี้ มีจัดประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมการใช้งานเชิงกิจกรรมการเรียนรู้ รวมไปถึงความสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของที่ตั้งอย่างจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งฝนตกชุก ลมแรง และแดดที่ร้อนจัด   

โรงเรียนประภัสสรวิทยา

โรงเรียนประภัสสรวิทยา

จุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์นี้มาจาก โรงเรียนประภัสสรวิทยา จังหวัดชลบุรี ต้องการสร้างอาคารเรียนใหม่ เพื่อใช้รองรับผู้ใช้งานที่หลากหลายตั้งแต่นักเรียนชั้นประถมศึกษา ไปจนถึงนักเรียนอาชีวศึกษาที่มีเพิ่มมากขึ้น จึงวางใจให้ผู้ออกแบบจาก Message Design Studio เข้ามารับช่วงการออกแบบอาคารต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกแบบและตอกเสาเข็มเตรียมไว้แล้วในลักษณะโครงสร้างแบบ Double-loaded corridor หรือโครงสร้างที่มีทางเดินตรงกลาง แล้วขนาบด้วยห้องเรียนทั้งสองฝั่ง แต่การใช้งานรูปแบบนี้กลับทำให้การระบายอากาศและแสงธรรมชาติไม่สามารถเข้าสู่พื้นที่ภายในได้ สถาปนิกจึงเลือกปรับโครงสร้างใหม่ให้เป็นแบบ Single-loaded corridor  หรือโครงสร้างที่มีทางเดินหน้าห้องเรียนเพียงฝั่งเดียวเพื่อคลี่คลายปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม

โรงเรียนประภัสสรวิทยา บล็อกช่องลม ฟาซาด โรงเรียนประภัสสรวิทยา บล็อกช่องลม

หลังจากการปรับโครงสร้างให้เป็นแบบ Single-loaded corridor แล้ว ต่อไปคือการคำนวณเรื่องทิศทางและตำแหน่งที่ตั้งของอาคารให้สัมพันธ์กับแดด ลม ฝน จนได้ออกมาเป็นผังอาคารรูปตัวเอส (S) มาพร้อมคอร์ตกลาง 2 คอร์ต โดยคอร์ตหนึ่งจะถูกล้อมรอบด้วยห้องเรียนระดับปฐมวัย เป็นการสร้างพื้นที่ปิดล้อมลานกิจกรรมเพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน และอีกคอร์ตเป็นคอร์ตที่หันออกเพื่อเชื่อมกับพื้นที่สาธารณะภายนอก ก่อนจะล้อมไว้ด้วยส่วนสำนักงาน ห้องสมุด และร้านค้าต่าง ๆ ที่สามารถมองเห็น และเข้าถึงจากด้านนอกได้ง่าย ถึงแม้อาคารรูปตัวเอสจะมีการแบ่งแยกและปิดล้อมฟังก์ชันอย่างชัดเจน แต่ด้วยความที่ตัวอาคารตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของโรงเรียน ผู้ออกแบบอยากให้อาคารนี้เป็นเสมือนทางผ่านจึงออกแบบพื้นที่อาคารชั้นล่างให้สามารถเดินทะลุเชื่อมไปยังอาคารอื่น ๆ ได้โดยรอบ

“แบบเดิมของอาคารเรียนนี้ พื้นที่อินดอร์กับเอ๊าต์ดอร์จะแยกกันชัดเจน ผมจึงพยายามสอดแทรกพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ อย่างสนามเด็กเล่น และลานกิจกรรมให้เข้ามาอยู่ในอาคาร เป็นการทลายเส้นแบ่งขอบเขตเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น โดยเด็ก ๆ จะได้มองเห็นเพื่อน ๆ กำลังวิ่งเล่นกันอยู่ตรงลานด้านในนี้ ในขณะเดียวกันก็จะได้เห็นการเคลื่อนไหวที่อยู่ด้านนอกด้วย”

โรงเรียนประภัสสรวิทยา บล็อกช่องลม คอร์ท โรงเรียนประภัสสรวิทยา บล็อกช่องลม คอร์ริดอร์

“ผมไม่ได้คิดว่าบล็อกคอนกรีตนี้จะต้องเข้ากับยุคสมัย ผมคิดถึงแค่หน้าที่ของมันก็เท่านั้นเอง คิดถึงโจทย์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แล้วก็คิดว่าอะไรที่เคยเวิร์คในนี้ ผมจึงมองไปรอบ ๆ ตัวแถวนั้นว่ามีอะไรที่ยังใช้ได้อยู่ นั่นก็คือ ฟิน ที่อยู่ตึกข้าง ๆ”

เมื่อภายในอาคารถูกสอดแทรกด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่ต่างกันรวมอยู่ในที่เดียว เพื่อให้การใช้งานดูเป็นสัดส่วนไม่รบกวนกันและกัน สถาปนิกจึงใช้หลักการเรื่องขนาดของห้อง และรูปแบบการปิดล้อมมาเป็นเครื่องมือกำหนดลักษณะการใช้งานของแต่ละห้อง โดยแบ่งลักษณะพื้นที่ได้ 3 ประเภท คือ 1.ผนังแบบทึบ แสดงสัญลักษณ์ของการเป็นพื้นที่ส่วนตัว เช่น สำนักงาน และห้องพักครู ที่ต้องการการปิดล้อมที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดสมาธิ 2.ผนังช่องลม แสดงสัญลักษณ์ของพื้นที่กิจกรรมและห้องเรียน ที่ต้องการเปิดรับบรรยากาศสภาพแวดล้อมภายนอก และ3.ผนังกระจก แสดงสัญลักษณ์ของพื้นที่สาธารณะ และห้องเรียนประเภทนันทนาการ

โรงเรียนประภัสสรวิทยา บล็อกช่องลม แอมฟืเธียร์เตอร์ โรงเรียนประภัสสรวิทยา คอร์ทกลาง

นอกจากเปลือกอาคารจะทำหน้าที่ห่อหุ้มกิจกรรมที่อยู่ภายในแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารให้รู้ถึงพื้นที่การใช้งานด้านใน ผ่านสัญลักษณ์และน้ำหนักของความโปร่ง-ทึบของเปลือกอาคารที่ทำมาจากบล็อกช่องลม ซึ่งบล็อกช่องลมนี้มีไอเดียมาจากอาคารเรียนหลังเก่าที่มีการใช้แผงบังแดดแบบรังผึ้ง  จึงนำมาประยุกต์เข้ากับการใช้งานรูปแบบใหม่ จนออกมาเป็นแผงผนังบล็อกช่องลมที่ประกอบจากคอนกรีตบล็อกขนาด 25×25 เซนติเมตร เพื่อให้ได้งานที่ประณีต มีคุณภาพ และรวดเร็ว สถาปนิกจึงใช้ระบบก่อสร้างแบบโมดูลาร์ ด้วยการยกผนังบล็อกช่องลม ขนาด 2×2 ยูนิต และ 2×4 ยูนิต เป็นชุด ๆ มาประกอบที่หน้างาน วิธีนี้สามารถช่วยย่นระยะเวลาการก่อสร้าง และงบประมาณลงไปได้มาก แถมยังคงมีฟังก์ชันไม่ต่างจากแผงบังแดดรังผึ้ง กล่าวคือผนังด้านบนช่วยทำหน้าที่บังแดดและฝนไม่ให้สาดเข้ามาถึงในตัวอาคาร ส่วนผนังด้านล่างก็ทำหน้าที่เป็นระเบียงกันตก และแผงบังงานระบบต่าง ๆ ไปในตัว

 “เป็นไอเดียตั้งแต่แรกที่เราคุยกับทางโรงเรียนว่าตึกมันมีธรรมชาติ มีชีวิตอยู่ข้างใน จึงอยากให้พื้นที่ตรงระเบียงมีขนาดเท่ากับพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ไปเลยในตัว”

โรงเรียนประภัสสรวิทยา บล็อกช่องลม

จากความตั้งใจแรกที่ต้องการใช้บล็อกช่องลม วัสดุที่เปรียบเสมือนตัวแทนของยุคโมเดิร์น ทำหน้าที่ของตัวเองได้มากกว่าหนึ่ง กล่าวคือนอกจากใช้กรองแสงแดด ชะลอความเร็วของแรงลม และบังฝนแล้ว ยังช่วยสร้างภาษาทางสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย ผ่านการออกแบบช่องเปิดตำแหน่งต่าง ๆ ของอาคาร ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้งานของนักเรียนให้รู้สึกอยากอยู่ภายในอาคารมากยิ่งขึ้น ในเมื่อสเปซภายในห้องกับนอกห้องมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกัน แม้จะอยู่ในอาคารแต่ก็ยังสามารถรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของสิ่งแวดล้อมด้านนอกได้ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ระเบียงนอกห้องที่เคยคิดว่าอยู่ในตัวอาคาร ก็ยังออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์ที่สามารถออกมานั่งเล่นทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ที่นี่เป็นโรงเรียนที่น่าอยู่สำหรับเด็ก ๆ ทุกคนอย่างแท้จริง

ออกแบบ : Message Design Studio


เรื่อง : BRL
ภาพ : Beer Singnoi

อ่านต่อ โรงเรียนอนุบาล CHUONCHUON KIM 2 KINDERGARTEN