บ้านแม่น้ำ
“ไม่น่าจะเรียกว่าบ้าน” นั่นคือคำตอบที่ออกมาจากปากของนักออกแบบ เมื่อพูดถึงอาคารไม้ใต้ถุนสูงริมแม่น้ำซองกาเรีย จวบจนได้รู้ว่าอาคารไม้เก่าที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์พื้นถิ่นนี้เคยเป็นโรงงานผลิตไม้ขีดไฟเก่าแก่ของเมืองสังขละบุรี ต่อมาถูกปล่อยเช่าเป็นโกดังเก็บของ จนในที่สุดก็ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง ทั้งที่ที่ตั้งอยู่ในทำเลริมแม่น้ำ ไม่ไกลจากสะพานอุตตมานุสรณ์ (สะพานมอญ) และเจดีย์พุทธคยา สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดกาญจนบุรี
“บ้านแม่น้ำ” คือเกสต์เฮ้าส์หลังเล็กที่เกิดจากความตั้งใจของ คุณเรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ ผู้เป็นเจ้าของ เขายังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ผจญภัย ด้วยความที่คลุกคลีอยู่กับหนังสือมาตลอดชีวิต จึงไม่แปลกที่ห้องรับรองแขกทั้ง 4 ห้อง จะมีชื่อเสียงที่เรียงร้อยอย่างเสนาะหูตามชื่อหนังสือของสำนักพิมพ์ ได้แก่ บ้านแม่น้ำ แดดเช้า หัวใจห้องที่ห้า และเพียงความเคลื่อนไหว ซึ่งทั้งหมดสามารถรองรับผู้เข้าพักได้ไม่เกิน 20 คนเท่านั้น ท่ามกลางทำเลที่ถือว่ามีทัศนียภาพของคุ้งน้ำอันงดงาม สามารถชื่นชมวิถีชีวิตอันเนิบช้าของทั้งชาวไทยและชาวมอญในย่านนี้ได้อย่างใกล้ชิด
สภาพเดิมของบ้านแม่น้ำเป็นอาคารไม้หลังเก่าอายุกว่า 70 ปี ที่ผ่านการซ่อมแซมในบางส่วนอย่างไม่ถูกต้อง จนสภาพที่เห็นนั้นไม่สามารถคาดเดาถึงรูปแบบอาคารได้ แต่ คุณพิศิษฐ์ ทองดา นักออกแบบจาก SMO Design Studio ก็ได้ชุบชีวิตอาคารเก่าหลังนี้ให้กลับมาสดชื่นและแข็งแรงอีกครั้งภายใต้แนวคิด “อยากรีโนเวตให้ตรงนี้เป็นเหมือนที่เคยเป็น”
คุณพิศิษฐ์เล่าให้ฟังว่า “สิ่งที่ยากคือนาทีแรกที่ได้เห็นอาคารหลังเดิม เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าที่ตรงนี้จะเรียกว่าอะไร ที่แน่ๆไม่น่าจะเรียกว่าบ้าน ดูคล้ายๆกับโกดังเก็บของ แต่ก็ไม่เหลือเค้าโครงใดๆ ให้เดาได้ อีกทั้งวัสดุก็ล้วนเสื่อมสภาพ จึงต้องตัดสินใจรื้ออาคารออกทั้งหมด เหลือไว้เพียงแค่คาน ตง และหลังคาเท่านั้น ส่วนเสาไม้ของเดิมยังคงเก็บไว้ แต่เพิ่มเสาปูนและโครงสร้างเหล็กช่วยพยุงอาคารให้แข็งแกร่งขึ้น เราต้องรื้อไม้ฝา ไม้พื้นออกหมด แล้วเลือกเฉพาะส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้ ซึ่งมีเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของไม้ทั้งหมดเท่านั้น ที่เหลือต้องคัดออก เราจึงต้องเติมวัสดุสมัยใหม่เข้าไปด้วย แต่ต้องเลือกที่มีน้ำหนักเบา เพื่อไม่ไปเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างเดิม อย่างการกั้นห้องต่างๆเราก็เลือกใช้โครงสร้างเบา แม้แต่ห้องน้ำที่สร้างเพิ่มขึ้นใหม่
“เราอยากให้บ้านแม่น้ำเป็นเหมือนที่เคยเป็น คืออยู่อย่างเงียบๆ ไม่โดดเด่นเกินกว่าธรรมชาติรอบๆ อยากให้กลืนไปกับบริบทอย่างที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ ในการรีโนเวตจึงต้องควบคุมหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่โทนสีเทาดำเข้มๆ หรือหลังคาที่ยังคงเป็นวัสดุเดิมที่ดูเก่าและกลืนไปกับสภาพแวดล้อมรอบข้าง แม้ว่าที่สังขละบุรีจะมีเกสต์เฮ้าส์เกิดขึ้นมากมาย แต่บางแห่งก็มีสีสันฉูดฉาดโดดเด่นแบบอาคารสมัยใหม่ เราไม่อยากให้บ้านแม่น้ำเป็นแบบนั้น”
แม้จะกำหนดให้รูปลักษณ์ภายนอกไม่โดดเด่นสะดุดตา แต่การวางฟังก์ชันภายในกลับทำให้ผู้มาเยือนได้รู้สึกเหมือนอยู่บ้านจริงๆ ผู้ออกแบบเล่าว่า “ตามธรรมชาติของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อนที่สังขละบุรีจะไปเที่ยวอยู่ไม่กี่แห่ง ซึ่งใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็ไปได้ครบถ้วนแล้ว เวลาที่เหลือเราจึงออกแบบห้องพักให้เป็นพื้นที่ที่รองรับการพักผ่อนเหมือนอยู่บ้านอีกหลัง ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบ ชมวิวคุ้งน้ำที่อยู่เบื้องหน้า แต่ละห้องออกแบบให้มีระเบียงที่กว้างมากๆ ผนังส่วนที่ติดกับแม่น้ำเลือกกรุกระจกใสให้ชมวิว นั่งพูดคุยกันได้สบายๆ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นอย่างเครื่องปรับอากาศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น ส่วนในฤดูฝนและฤดูหนาวอากาศจะเย็นสบายมากๆ”
นอกเหนือจากการได้หลีกหนีความวุ่นวายของผู้คนมาพักผ่อนอย่างสงบในอาคารที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์แล้ว การเดินทางเข้าสู่บ้านแม่น้ำยังชวนให้รู้สึกตื่นเต้น ผู้เข้าพักสามารถเลือกเดินทางได้ 2 รูปแบบ คือ ลงเรือบริการของบ้านแม่น้ำซึ่งจะจอดที่ท่าเรือตลาดสะพานมอญ แล้วล่องเรือผ่านสะพานมอญ ชมวิวแม่น้ำซองกาเรีย ก่อนมาขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำหน้าบ้านแม่น้ำ หรือจะเดินทางด้วยรถยนต์ ก็ต้องมาจอดรถไว้ที่ลานจอด แล้วเดินเข้าสู่บ้านแม่น้ำประมาณ 200 เมตร ซึ่งทั้งสองเส้นทางก็ให้อรรถรสที่แตกต่าง และเป็นการการันตีได้ว่าการพักผ่อนครั้งนี้จะเต็มไปด้วยความเงียบสงบเหมือนอยู่บ้านอย่างแน่นอน
บ้านแม่น้ำ ตั้งอยู่ที่ 86/1 หมู่1 ถนนศรีสุวรรณ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
เรื่อง : JOMM YB
ภาพ : บ้านแม่น้ำ
ออกแบบ : SMO Design Studio โทรศัพท์ 06- 3519 – 2899