อาคารของรีสอร์ตขนาดกะทัดรัดแทรกตัวอยู่ท่ามกลางบรรยากาศสุขสงบของเกาะพะงัน โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ที่ดูโมเดิร์น คล้ายว่าเป็นขบถต่างจากรูปแบบการก่อสร้างดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หากแต่สามารถสะท้อนเรื่องราวของธรรมชาติเขตร้อนผ่านงานดีไซน์ได้อย่างน่าสนใจ
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: NPDA Studio
“บ้านบรรจบ” คือส่วนต่อขยายใหม่ล่าสุดบนพื้นที่ 5 ไร่ ของรีสอร์ต Co-Co Nut&Noom ธุรกิจครอบครัวของคุณณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท NPDA Studio แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้มีเพียง “บ้านพะงัน” วิลล่า 4 หลังที่เปิดมุมมองสู่วิวทะเลของหาดท้องศาลา และ “บ้านสมใจ” บ้านอิฐดีไซน์แปลกตา ซึ่งเป็นทั้งที่พักของครอบครัวเจ้าของรีสอร์ต พร้อมลานกิจกรรมโยคะขนาดกว้าง
แต่ด้วยแนวคิดทางธุรกิจที่ต้องการให้รีสอร์ตสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้หลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้น ที่พักเฟสใหม่นี้จึงได้รับการออกแบบเพื่อตอบโจทย์การพักผ่อนของนักเดินทางรุ่นใหม่ ซึ่งมีพฤติกรรมแตกต่างจากแขกผู้เข้าพักระยะยาวที่มักเลือกห้องพักส่วนตัวแบบวิลล่า บ้านบรรจบจึงเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ประกอบด้วยห้องพัก 8 ห้อง บนอาคาร 2 ชั้น โดยทุกห้องสามารถเปิดประตูทะลุถึงกันได้ คล้ายกับรูปแบบห้องพักรวม (Dormitory)
เมื่อสถาปนิกลงมือทำธุรกิจโรงแรม แนวคิดทางสถาปัตยกรรมจึงดูเหมือนจะเป็นแกนหลักของการสร้างประสบการณ์การพักผ่อนรูปแบบใหม่ แต่แน่นอนว่าการออกแบบย่อมต้องเกิดจากความเข้าใจ และการได้สัมผัสกับบริบทที่ตั้งอย่างลึกซึ้ง
“บางทีสถาปนิกอาจจะไม่มีโอกาสไปพื้นที่ก่อสร้างบ่อยนัก อาจจะอยู่สักวันหนึ่ง ดูรูปแล้วก็ออกแบบเลย แต่สำหรับผมพอได้ไปอยู่ที่พะงันจริง ๆ กลับพบว่าสภาพภูมิอากาศที่นี่โหดร้ายมาก นั่งอยู่สักพักฝนก็ตก อีกสักพักแดดก็ออก ไม่มีฤดูกาลแน่นอน แถมบางช่วงมีมรสุมอีก”
แม้ว่าภูมิปัญญาแห่งสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สืบทอดมายาวนาน จะนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของสภาพภูมิอากาศของเขตร้อนชื้นไว้อย่างครอบคลุมแล้ว แต่ในความเห็นของคุณณัฏฐวุฒิ รูปแบบของหลังคาจั่วหรือใต้ถุนสูง อาจไม่ใช่การตอบโจทย์ หรือแสดงตัวตนทางสถาปัตยกรรมที่ต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งเสมอไป
“ผมได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดของคุณเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่บอกว่าภายใต้สถานะและบทบาทต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคนบ้านนอกหรือคนเมือง ใส่เครื่องแบบทหารหรือจีวร แต่ข้างในล้วนมีความเป็นมนุษย์ที่รัก โลภ โกรธ หลง งานสถาปัตยกรรมของผมก็เช่นกัน แม้ว่าจะอยู่บ้านนอก ช่างไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือเทคนิคอะไรเลิศเลอ แต่เราก็อยากจะแสดงตัวตนทางสถาปัตยกรรม และก็ไม่เห็นความจำเป็นว่าเมื่อเราอยู่ในบริบทแบบนี้แล้ว จะต้องสร้างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบมีหลังคาจั่วเท่านั้น ดังนั้นถ้าจะสร้างสถาปัตยกรรมโมเดิร์นให้ตอบโจทย์ก็ย่อมได้”
ผลลัพธ์จากแนวคิดดังกล่าว จึงถือเป็นความเป็นไปได้ใหม่ที่ตอบโจทย์การพักอาศัยในบริบทของเกาะพะงัน แม้มองเผิน ๆ ผิวสัมผัสดิบกระด้างของคอนกรีตจะชวนให้นึกถึงสถาปัตยกรรมแบบกร้าวเถื่อน (Brutalist Architecture) แต่เส้นสายโค้งเว้า และโครงสร้างโปร่งเบาของอาคารคอนกรีตหล่อในที่นี้ กลับบอกเล่าเรื่องราวเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร นอกจากนี้การใช้วัสดุไม้ไผ่ หรือการสร้างร่องรอยของทางมะพร้าวที่ทาบทับลงบนเนื้อปูน ก็ยิ่งช่วยเชื่อมโยงกับกระบวนการก่อสร้างท้องถิ่น และตำแหน่งที่ตั้งได้อย่างน่าสนใจ
“ผมมองว่าเราสามารถขบถต่อความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทั้งลม น้ำ และแดดคือมิตรของสถาปัตยกรรม ผมใช้สิ่งเหล่านี้มาสร้างเอฟเฟ็กต์ให้ผู้ใช้งานเกิดความประทับใจ เล่นกับแสงและเงา สร้างตึกให้ดูเบา ให้ลมทะเลพัดผ่าน สร้างการไหลของน้ำ สร้างช่องเปิดให้เกิดแสงทางอ้อม (Indirect light) ขณะที่สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมีแนวคิดของการป้องกันผู้อยู่อาศัยจากธรรมชาติ ซึ่งการไปยึดติดกับมันมากเกินไป บางทีผมมองว่าเป็นกรอบแนวคิดที่ขัดขวางการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ”
ในความเห็นของเขาไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะระบุหรือขีดเส้นแบ่งยุคสมัยทางสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รูปแบบและการเลือกใช้วัสดุล้วนผสมผสานกันจนยากจะจำแนกสไตล์ที่ชัดเจน เช่นเดียวกับบ้านบรรจบ “ความเป็นโมเดิร์น” และ “ความเป็นพื้นถิ่น” หลอมรวมกันบนพื้นฐานของความเป็นเหตุเป็นผล เพราะคุณค่าของสถาปัตยกรรมคงไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์มากไปกว่า “ประสบการณ์การอยู่อาศัย” และนั่นคงเป็นสาเหตุที่ทุกวันนี้ NPDA เป็นมากกว่าสตูดิโอออกแบบ แต่มีทีมรับเหมาก่อสร้างของตัวเอง เพื่อลงลึกกับทุกรายละเอียดการออกแบบให้สมบูรณ์สมความตั้งใจ
ระหว่างการพูดคุย เราได้ยินรายชื่อสตูดิโอออกแบบและสถาปนิกสายคราฟต์ระดับโลกมากมายที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขาไม่ว่าจะเป็น Bijoy Jain แห่ง Studio Mumbai, Peter Zumthor หรือ Glenn Murcutt และนั่นคงบ่งบอกได้ถึงความเป็น “บ้านหลังเล็ก ดีเทลเนี้ยบ” ของบ้านบรรจบ และผลงานชิ้นต่อจากนี้ของ NPDA
เนื้อหาบางส่วนจากคอลัมน์ Design Case นิตยสาร room ฉบับที่ 185 (มี.ค.-เม.ย. 2562) Modern Movement: ก้าวย่างไปในสถาปัตยกรรม “สมัยใหม่” วางแผงแล้ววันนี้
https://www.facebook.com/roomfan/videos/414498345988369/
นอกจากนี้ BUNJOB HOUSE ยังเป็นส่วนหนึ่งใน 100 BEST DESIGN SMALL HOTELS & HOSTELS หนังสือ 100 BEST DESIGN SERIES ฉบับที่ 2 ที่รวบรวมไอเดียที่พักไซส์เล็กสำหรับนักท่องโลก และคนฝันอยากมีธุรกิจโรงแรมเอาไว้แบบเต็มอิ่ม พบกับ 100 ที่พักดีไซน์เด็ด พร้อมคู่มือการออกแบบโรงแรมในฝันของคุณได้เร็ว ๆ นี้
- พิเศษ ลด 15% เมื่อสั่งจองล่วงหน้าทางออนไลน์
จากปกติ 495 บาท เหลือเพียง 420 บาท
สั่งจองได้ที่ https://www.facebook.com/commerce/products/2408989372550699/
หรือ http://m.me/roomfan
วันนี้ ถึง 10 ตุลาคม 2562 เท่านั้น
เริ่มจัดส่งวันที่ 18 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
เรื่อง MNSD
ภาพ เปี่ยมพล จันทร์เปี่ยม
เจ้าของ-ออกแบบ คุณณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ บริษัท NPDA Studio
โทร.08-1110-6867
อ่านต่อ :