HYPOTHESIS ผู้สร้างสมมติฐานใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยงานออกแบบ - room life
Hypothesis

HYPOTHESIS ผู้ไม่หยุดคิดหยุดสร้างสมมติฐานใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยงานออกแบบ

เยี่ยม Factor!a โกดังหลังเก่าชีวิตใหม่ที่เป็นดั่งบ้านหลังใหญ่ของ Hypothesis ในโครงการ Warehouse 26 คุยกับ มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา และเจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ ผู้ไม่หยุดคิดหยุดสร้างสมมติฐานใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยงานออกแบบ

เอ่ยชื่อ Hypothesis หลายผลงานของพวกเขาเคยผ่านการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร room มาแล้วหลายฉบับ ยกตัวอย่างเช่น โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ Villa Vinotto ผลงานชิ้นแรกนับแต่ก่อตั้งบริษัทซึ่งเคยเป็นหน้าปกของเราเมื่อหลายปีก่อน, ‘VIVARIUM by chef ministry’ ร้านอาหารที่ปรับปรุงจากโกดังรถแทร็กเตอร์ของเชฟเลื่องชื่อ, Air Space Hua Hin คาเฟ่และร้านอาหารที่เป็นดั่งพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องหัวหิน, โรงแรมสุดดิบที่เด่นด้วยฟาซาดเหล็กดัดขึ้นสนิมในย่านสุขุมวิทอย่าง IR-ON Hotel จนมาถึงผลงานที่ตีพิมพ์ลงในฉบับล่าสุดของ room (ฉบับที่ 185 (มี.ค.-เม.ย. 2562)  อย่าง Tee Off House บ้านพร้อมวิวสนามกอล์ฟที่สร้างเกราะป้องกันลูกกอล์ฟไม่ให้สร้างความเสียหายด้วยตะแกรงอะลูมิเนียมฉีก

ในนามบริษัท Hypothesis เคยคว้ารางวัลด้านการออกแบบมาแล้วหลายเวที อาทิ Vivarium ได้รับรางวัล Winner จากเวที Inside World Festival of Interiors ปี 2015 ในหมวด Bar and restaurants จนถึงล่าสุดกับรางวัล Winning Award ในหมวด Innovation จากเวที FRAME Awards 2019 โดยนิตยสารชื่อดังอย่าง FRAME ในโปรเจ็กต์ WERK ไมโครออฟฟิศบนรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานทีราชดำริ ซึ่งไม่นานมานี้ WERK ได้เข้ารอบ Shortlisted ในเวที World Architecture Festival 2018 ในหมวด Office – Completed Buildings มาแล้ว หรือแม้กระทั่งในนามตัวบุคคล มนัสพงษ์ และ เจษฎา สองผู้ร่วมก่อตั้งก็เคยได้รับรางวัล Designer of the Year Award ปี 2017 ในสาขา Interior Design เป็นเครื่องการันตีความสามารถมาแล้ว

บอกได้ไหมว่า Hypothesis เติบโตหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างนับจากวันแรก   

มนัสพงษ์ : “Hypothesis เติบโตขึ้นตามประสบการณ์ ตามอายุของงานที่มากขึ้น แต่อุดมการณ์ที่เราตั้งไว้ในตอนตั้งต้น สมมติฐานตอนแรกมันไม่ได้เปลี่ยนมากเท่าไหร่ แต่เราอยากจะตั้งสมมติฐานใหม่ ๆ ให้กับสังคม ให้กับโลก เพราะเราก็ยังเชื่อและยังอยากจะทำในสิ่งนั้นให้เป็น New Hypothesis ไปเรื่อย ๆ” 

เจษฎา : “ความคิดในเรื่องการตั้งสมมติฐาน ทุกครั้งที่เราได้โจทย์ในการทำงาน สิ่งที่มันไม่เคยเปลี่ยนคือการตั้งคำถามว่า สมมติว่า… มันจะเป็นอะไรได้บ้าง แต่เหมือนที่บิวบอก มันจะโตขึ้นตามอายุงาน และสเกลของงาน” 

มนัสพงษ์ : “เป็นประสบการณ์ที่เราพัฒนามาเรื่อย ๆ เรียนผิด เรียนถูกขึ้นมาเรื่อย ๆ” 

ย้อนกลับไปเล่าโปรเจ็กต์แรกเริ่มของ Hypothesis ให้ฟังหน่อยได้ไหม ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

มนัสพงษ์ : “โปรเจ็กต์แรกของ Hypothesis อยู่ใกล้ ๆ ตรงนี้เลย (ใกล้โครงการ Warehouse 26) คือโชว์รูม Villa Vinotto ตอนนั้นเจ้าของโชว์รูม (จิว-ณรงค์ชัย จิราพาณิชกุล) โทรมาหาเราด้วยโจทย์ที่อยากจะทำสิ่งที่ยังไม่เคยมีโชว์รูมไหนเคยทำมาก่อน อยากให้เป็นที่ที่แปลกแตกต่างไปเลย”

เจษฎา : “ตอนนั้นเรื่องท้าทายสำหรับเราคือความเร็วในการก่อสร้าง จะทำอย่างไรให้ก่อสร้างได้เร็วที่สุดแต่ว่าดีที่สุด”

Villa Vinotto Hypothesis
Villa Vinotto โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากประเทศอิตาลี ตัวอาคารภายนอกได้รับการออกแบบในลุคโมเดิร์น แต่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม
Villa Vinotto Hypothesis
ภายในโชว์รูม Villa Vinotto เน้นการใช้พื้นที่ว่างอย่างลงตัว เพื่อให้สามารถจัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น พร้อมตกแต่งให้ดูน่าสนใจด้วยการทำผนังเหล็กทึบสีน้ำตาลสนิมสลับกับผนังกระจกใส เพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มลูกเล่นด้วยเส้นสายของโครงเหล็ก ที่เป็นเสมือนพาร์ทิชันโปร่งๆ เพื่อแยกส่วนต่างๆ ออกจากกัน

Hypothesis ไม่ได้ติดกับสไตล์ ผมว่ามันเหมือนกับน้ำในรสชาติเรา พอมันใส่ในแก้วบอล บริบทมันเป็นแก้วบอลมันก็เป็นในรูปแบบแก้วบอล แต่ถ้าคนชิมรสชาติ มันก็ยังเป็นรสชาติที่เราเป็นคนปรุง

ผลงานช่วงแรก ๆ เช่น Villa Vinotto, Vivarium, Air Space จะเห็นว่าเป็นงานรีโนเวต ออกเป็นสไตล์อินดัสเทรียล จนเหมือนจะเรียกว่าเป็นงานที่เป็นเอกลักษณ์ของ Hypothesis ไปแล้ว ณ ตอนนั้น แท้จริงแล้วสไตล์ของ Hypothesis เป็นแบบไหน

 เจษฎา : “คำถามนี้เราโดนถามบ่อยมาก ในเรื่องสไตล์ของ Hypothesis แต่คุณบิวน่าจะตอบได้ดีว่า ทุก ๆ ครั้งที่เราทำงาน เราไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นสไตล์อินดัสเทรียลอย่างเดียว มันเกิดขึ้นจากโจทย์ จากบริบทรวมกัน แต่ ณ ช่วงนั้นอาจจะเกิดงานอินดัสเทรียลเข้ามาเยอะหน่อย เป็นเทรนด์ ณ ช่วงนั้น” 

มนัสพงษ์ : “Hypothesis ไม่ได้ติดกับสไตล์ ผมว่ามันเหมือนกับน้ำในรสชาติเรา พอมันใส่ในแก้วบอล บริบทมันเป็นแก้วบอลมันก็เป็นในรูปแบบแก้วบอล แต่ถ้าคนชิมรสชาติ มันก็ยังเป็นรสชาติที่เราเป็นคนปรุง ถ้ามันใส่ในแก้วไวน์ที่มันหรูขึ้น เมื่อใส่น้ำที่เราปรุงลงไปมันก็ยังเป็นรสชาติแบบเรา แต่ว่าบริบทหรือรูปแบบมันเปลี่ยนตามฟังก์ชันการใช้งานในลักษณะแตกต่างกันออกไป Hypothesis มีความยืดหยุ่น แต่ว่ารสที่เราปรุงเป็นรสเดิมหรืออาจจะเป็นรสที่มีความซ่ามากขึ้น หรือละมุมมากขึ้น แล้วแต่เนื้องานที่เราปรุงในช่วงเวลานั้น” 

VIVARIUM by Chefs Ministry Hypothesis
VIVARIUM by Chefs Ministry จากโกดังโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ริมถนนพระรามที่ 4 กลายเป็นร้านอาหารที่เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ห้อยแขวนลอยตัวด้วยโซ่ และระบบรอก บรรยากาศเสมือนเทอร์ราเรียม แทบทุกจุดในร้านประดับด้วยของตกแต่งเก๋ ๆ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือไอเดียการนำนั่งร้านเหล็กแบบท่อกลมที่ยึดด้วยข้อยึดโลหะสีทองมาตกแต่ง ให้อารมณ์ที่ดูดิบเท่แต่หรูหราไปพร้อมกัน
AIR SPACE HUA HIN Hypothesis
AIR SPACE HUA HIN คาเฟ่และร้านอาหารที่หน้าตาจะดูทันสมัย แต่ที่นี่เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่แสดงเรื่องเล่าของหัวหิน ด้วยการผนึกกำลังจากยอดฝีมือด้านงานดีไซน์ ตั้งแต่งานออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Hypothesis ออกแบบตกแต่งภายในโดย PIA Interior และออกแบบแลนด์สเคปโดย Kernel Design โดยหยิบเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การบินของเมืองไทย ที่เชื่อมโยงกับหัวหิน มาแปลเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรมท้ังภายนอก และภายใน อย่างอาคารโรงนาสุดโมเดิร์น หรือ Barn House ที่กรุกระจกใสตลอดแนว สะกดสายตาให้ผู้ผ่านไปมาหยุดมองเข้าไปถึงด้านในซึ่งตกแต่งอย่างสวยงาม ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนคาเฟ่และร้านอาหาร โดยมีสวนกึ่งเอ๊าต์ดอร์คั่นกลาง (อ่านต่อฉบับเต็ม https://www.baanlaesuan.com/45913/design/design-update/air-space-hua-hin)
IR-ON Hotel Hypothesis
IR-ON Hotel โรมแรม 8 ชั้น ใจกลางสุขุมวิทโดดเด่นด้วยเปลือกอาคารที่มีเอกลักษณ์สะดุดตา เกิดจากการผสมผสานความเป็นไทยของแพตเทิร์นเหล็กดัด เข้ากับความโมเดิร์นสมัยใหม่ของลวดลายเรขาคณิต ส่วนภายในในการออกแบบภายใต้แนวคิดนำเสนอความเป็นไทยบวกความทันสมัย
IR-ON Hotel Hypothesis
ภายใน IR-ON Hotel ดูดิบเท่ด้วยการทุบโครงสร้างผนังบางส่วนทิ้ง เหลือไว้เพียงคานและเสา ทำให้เกิดสเปซที่น่าสนใจระหว่างชั้นของอาคาร และมี Kurious Cafe คาเฟ่ตกแต่งในสไตล์โมเดิร์นวินเทจ ให้บรรยากาศแบบดิบเท่ผสมผสานกับสีเขียวของธรรมชาติ ให้บริการเครื่องดื่มและอาหาร สำหรับผู้เข้าพักและแขกขาจร (อ่านต่อฉบับเต็ม https://www.baanlaesuan.com/62612/design/lifestyle/hotels/iron-hotel)
แบบบ้านโมเดิร์น Hypothesis 
Tee Off House บ้านทรงกล่องโครงสร้างเหล็กริมสนามกอล์ฟ ที่ Hypothesis ออกแบบให้เด่นด้วยฟาซาดอะลูมิเนียมฉีก ช่วยเป็นเกราะป้องกันบ้านจากลูกกอล์ฟ และกรองแสงแดดในตัว แถมสามารถเลื่อนออกเพื่อเปิดรับวิวได้ (อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ใน room ฉบับที่ 185 (มี.ค.-เม.ย. 2562) 

การตั้งสมมติฐานแต่ละครั้งเริ่มต้นจากสิ่งใด 

มนัสพงษ์ : “เราเริ่มจากคำถามมาก่อน สมมติว่าถ้ามีร้านอาหารร้านหนึ่งให้เราทำ เราก็จะมีคำถามว่าร้านอาหารมันได้ Revenue ในช่วงเวลาไหน แล้วช่วงเวลาไหนที่ร้านไม่ได้ถูกใช้ ทำอย่างไรให้เขาเป็นที่รู้จัก ให้เขาได้ Revenue มากกว่าที่เขาลงทุนไป มันมีคำถามมากมายที่เราพยายามหาเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่มันเป็น New Hypothesis” 

เจษฎา : “เราจะ Brainstorm กันทุกครั้ง เราเคยตั้งคำถามกันว่า ถ้าร้านอาหารมันจะไม่เป็นแค่ร้านอาหาร มันมากกว่าร้านอาหารแล้วจะช่วยให้ช่วงเวลาที่มันไม่ได้ทำเงินมันออกมาเป็นอะไรได้ มันจะเกิดอะไรขึ้น มันจะเป็น New Programs ไหม นั่นคือสิ่งที่ทีมเราคุยกัน Discuss กันเวลาทำงานเสมอ” 

มนัสพงษ์ : “เราพยายามสร้างภาวะโต้แย้ง นั่งคุยกัน ถกกัน ร้านอาหารไม่เป็นร้านอาหารได้ไหม โรงแรมไม่เป็นโรงแรมได้ไหม ลูกค้าเดินเข้ามาอยากให้เราทำคอนโด มันจะไม่เป็นคอนโดได้ไหม แต่เป็นที่พักอาศัยที่มันรองรับการใช้งานมากกว่าการเป็นคอนโดได้ไหม เพราะถ้าลูกค้าเดินเข้ามาด้วยโจทย์ที่อยากให้สร้างคอนโดมิเนียม หรือรีสอร์ต มันจะบล็อกความคิดจนเป็นก้อน ๆ หนึ่ง ที่ทุกคนทำงานดีไซน์ ออกมาเป็นภาพที่ซ้ำ ๆ กัน แต่ถ้าเราเปิดประเด็นใหม่ แล้วตั้งคำถามย้อนแย้งกลับไป ถ้าเป็นรีสอร์ตแล้วไม่ทำรีสอร์ตได้ไหม ทำที่พักที่มันเอื้อประโยชน์กับสิ่งอื่น ๆ ที่มันคล้าย ๆ กับเราได้ไปพักผ่อนในรีสอร์ตนั้น แต่มันมีสิ่งอื่นที่เป็น New Programs เข้ามา สิ่งนั้นมันอาจจะไม่ได้ถูกเรียกว่ารีสอร์ตอีกต่อไป”

เจษฎา : “ล่าสุดเราทำรีสอร์ตที่มาแล้วทำให้รู้สึกอยากแต่งงาน นั่นคือโจทย์ที่เรานั่งถกกัน นั่งคิดกันเลยว่า ที่พัก รีสอร์ต ทั่วไปเป็นการพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว แต่ถ้ามันมากกว่านั้น มันอาจจะเป็นโมเม้นต์ดี ๆ ที่ Hypothesis สร้างโมเม้นต์ขึ้นจากสเปซ จากแสง จากวัตถุ หรือแม้กระทั่งจากกลิ่นได้ไหม นั่นคือสิ่งที่เราตั้งสมมติฐาน และพยายามหาคำตอบมันออกมา”  

Hypothesis office space
เจษฎา เตลัมพุสุทธิ์ (ซ้าย) และ มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

มันเป็นการออกแบบที่มากกว่าแค่ความสวยงาม แต่เป็นการออกแบบประสบการณ์และการรับรู้ด้วยใช่ไหม 

เจษฎา : “เราพยายามย้ำในทีมเรื่องดีไซน์หรือความงาม เดี๋ยวนี้วงการออกแบบบ้านเราทุกคนทำสวย ทำออกมาได้ดี แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เรายังไม่ค่อยเห็นคือดีไซน์อย่างไรให้มันเกิดความรู้สึก เข้าไปแล้วมันได้ Sense of place น้อยที่ที่จะทำ ดังนั้นเราพยายามจะตั้งสมมติฐานใหม่ ถ้าเราจะสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาให้คนรับรู้ได้เรื่องอารมณ์นั้น เราจะทำอย่างไร”

มนัสพงษ์ : “เรื่องการรีเสิร์ชในเชิงลึกมันเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่าบางอย่างเราขาดหายไป เรากลับมามองเรื่องความงามในภาวะเรื่องการตกแต่งเป็นหลัก เพราะเราต้องการออกแบบให้มันสวย แต่ว่าในมุมมองของการรีเสิร์ชในเชิงการตลาด สถาปนิกหรือมัณฑนากรอาจไม่ได้คิดถึงส่วนนั้น เราจึงพยายามมองครอบคลุมไปจนถึงเรื่องการตลาด เรื่องโซเชี่ยล เป็น Word of mouth หรือเรื่องประสบการณ์ อารมณ์ ผลกำไร เรามองไปรอบ ๆ ไม่ได้มองแค่ลูกค้าว่าจ้างเราให้ทำร้านอาหาร แล้วเราก็ Deliver เขาเป็นร้านอาหารไป เราตั้งคำถามย้อนกลับว่า เขาจะได้รีเทิร์นกลับมาเป็นเงินเท่าไร นอกจากที่เขาลงทุนในการออกแบบตกแต่ง”

Hypothesis office space Factoria
Happy Pomme Studio ของ ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือ ปอม ชาน (Pomme Chan) นักวาดภาพประกอบแนวหน้าของไทยภายในโครงการ Factoria
โครงการ Factoria
ช่วงเวลากลางวันที่นี่ทำหน้าที่เป็นโรงอาหารของ Hypothesis และผู้คนในละแวกใกล้เคียง

แนวคิดของ Factor!a คือผลลัพธ์ของ New Programs ที่ว่าด้วยหรือไม่

มนัสพงษ์ : “จากโปรแกรมที่เราทำให้กับลูกค้าท่านอื่นประสบความสำเร็จ Factor!a มันจึงเป็น Super Hypothesis เพราะเราลงทุนเองด้วยส่วนหนึ่ง และมี Investor ด้วยส่วนหนึ่ง มันเลยทำให้เรายิ่งต้องตั้งคำถามกับมันในแต่ละช่วงเวลา สร้าง New Programs ซ้อนทับเลเยอร์หลาย ๆ เลเยอร์ มันก็เป็นคำถามสำหรับเราตลอดเวลาหรือในทุก ๆ วันด้วยนะครับ เพราะตอนนี้เราลงมาโอเปอร์เรตเอง ลงมาทานอาหารเอง ลงมาทำหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่เป็นการทดลองซ้อนเลเยอร์กัน” 

เจษฎา : “เราค้นพบเรื่อง Sharing พื้นที่ ถ้ามันเกินความจำเป็นเราจะทำอย่างไรกับมัน การใช้พื้นที่ในแต่ละสตูดิโอ และเรื่องช่วงเวลาที่เราต้องคิดว่าจะเอาช่วงเวลาไหนมาจัดการใส่โปรแกรมใหม่ ๆ เกิดเป็นเรื่อง Time Sharing, Spaces Sharing ขึ้นมา นั่นคือสิ่งที่เราค้นพบใหม่ที่นี่” 

มนัสพงษ์ : “Warehouse 26 เป็นพื้นที่เช่าอยู่แล้ว แล้วเราเข้ามาจริง ๆ เราต่อคิวคนอื่นด้วย แต่เราก็มารับรู้ว่าหลาย ๆ  Warehouse ที่นี่ ดีไซเนอร์หลาย ๆ ท่านก็ได้มาเช่า เราก็เลยคิดว่าเวิ้งนี้มันมีศักยภาพ น่าจะพัฒนาไปเป็นเวิ้งของดีไซเนอร์คอมมูนิตีได้จริง ๆ ทุกคนมาอยู่รวมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เราเลยพยายามเขียน Proposal ไปให้เจ้าของพื้นที่ว่าเราไม่ได้มองแค่ตัวเรา แต่เรามองทั้งบริบท ทั้งย่าน ทั้งเวิ้ง Warehouse 26 เป็นพื้นที่ที่ดีไซเนอร์และสถาปนิกอยู่รวมกัน โดยที่เราเป็น Hub เป็นแคนทีนในช่วงกลางวัน เป็นร้านอาหารในช่วงเย็น เป็นที่แฮงค์เอ๊าต์ สังสรรค์ จัดเวิร์กช็อป สัมมนา” 

เจษฎา : “หรือว่าเป็นที่ Lecture ที่นักศึกษาได้มาเจอกับมืออาชีพจริง ๆ” 

มนัสพงษ์ : “เราตั้งคำถามแบบนี้แล้วเสนอไปให้กับเจ้าของสถานที่ เขาก็สนใจเพราะเรามองมากกว่ามุมอื่น ๆ ที่ลูกค้ามาเช่า เรามองในมุมที่พวกเขาได้ เจ้าของสถานที่ได้ แล้วก็สิ่งที่เราอยากจะผลักดันให้พื้นที่นี้มันเกิดด้วยเช่นเดียวกัน”

FACTORIA Co-working spaceFACTOR!A พื้นที่แบ่งฝันปันความคิดในโกดังโมเดิร์นอินดรัสเทรียล

อ่านต่อบทสัมภาษณ์หน้าถัดไป…