Fuori Salone
สำหรับงานส่วนที่สอง ซึ่งเป็นนิทรรศการนับร้อยภายในตัวเมืองมิลาน งานในส่วนนี้ถูกเรียกว่า Fuori Salone จัดขึ้นโดยการรวมตัวของคณะกรรมการหลายฝ่าย ในปีนี้ด้านหน้าของมหาวิหาร Duomo ของมิลานมีโมเดลยักษ์ของ Up5 และ Up6 ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า ในแง่ของความหมาย รูปทรงของอาร์มแชร์ Up5 ได้แรงบันดาลใจมาจากสรีระของผู้หญิง เบาะวางเท้าทรงกลมจะมีเชือกผูกติดกับตัวอาร์มแชร์ หมายความถึงพัฒนาการที่เหนี่ยวรั้งผู้หญิงไว้ โดยในการติดตั้งในครั้งนี้มีการจัดวางหัวสัตว์ต่าง ๆ ไว้รายรอบ พร้อมลูกธนูที่ปักบนตัวอาร์มแชร์ บ่งบอกถึงสถานะของผู้หญิงที่ยังถูกคุกคาม
Zona Tortona บนถนน Tortona เป็นพื้นที่ที่มีนิทรรศการรวมตัวกันอย่างหนาแน่น จัดเป็นไฮไลท์หนึ่งในช่วง Milan Design Week ที่ต้องมาแวะเวียน โดยเฉพาะที่ Superstudio Pui ซึ่งมีนิทรรศการของแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย อาทิ รถยนต์ Lexus, เครื่องใช้ไฟฟ้า LG, งานหอคอยจากสถาปนิกอิตาเลี่ยน Matteo Thun และ 3M, ดีไซน์คราฟต์จากเกาหลี, ดีไซน์ร่วมสมัยจากอินโดนีเซีย รวมไปถึงการเปิดตัวสุขภัณฑ์แบรนด์ Inax ครั้งแรกนอกญี่ปุ่น โดย Inax เป็นแบรนด์เก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีมากว่า 100 ปี ในช่วงปี 1919 เป็นผู้ผลิตเซรามิกให้กับโรงแรม Imperial Hotel, Tokyo ที่ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright สถาปนิกอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคโมเดิร์น และยังเป็นแบรนด์ที่ผลิตโถสุขภัณฑ์แบบนั่งตัวแรกของญี่ปุ่น ถือเป็นประวัติศาสตร์ของการก้าวเข้าสู่ห้องน้ำยุคใหม่ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
นิทรรศการของ Inax นี้ มีธีม The Rituals of Water เป็นตัวเล่าเรื่องของการใช้น้ำที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ขณะที่รูปแบบงานดีไซน์ได้แสดงความเชื่อมโยงกันอย่างมากของธรรมชาติกับคน รูปทรงเหลี่ยมโค้งมนเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่เรียกว่า Squoval มีที่มาจากการรวมกันของการใช้งานของคนภายในพื้นที่เหลี่ยมทางงานสถาปัตยกรรม โดยมีสุขภัณฑ์ที่เปิดตัวในงานคือซีรี่ย์ S400 และ S600 เส้นสายเนี๊ยบละมุนตามาก
ปีนี้ฝั่งตรงข้าม Superstudio Pui มีพื้นที่งานของ Ventura Projects ซึ่งมีนิทรรศการของดีไซเนอร์ไทยที่รวบรวมขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในโครงการต่าง ๆ รวมอยู่ด้วย อันมีพื้นที่ทั้งนิทรรศการ Slow Hand และการออกบู๊ธสินค้าดีไซน์ และสินค้าที่รางวัล DEmark
สำหรับอีกย่านใจกลางเมืองที่ Brera Design District แบรนด์ Moooi ของดีไซเนอร์ชาวดัตช์ Marcel Wanders ได้ย้ายพื้นที่แสดงงานมาในย่านนี้ พร้อมเปิดตัวดีไซน์ใหม่ ๆ และคอลเล็กชั่น Tokyo Blue ของเดนิมและหนังซึ่งทำงานร่วมกับทางญี่ปุ่น
นิทรรศการเด่นยังมีบ๊อบอัพสโตร์ของแบรนด์แฟชั่น Gucci ที่ขนเอาของตกแต่งแสนจัดจ้านมาเนรนิต กลายเป็นอพาร์ตเม้นต์สไตล์กุชชี่ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ความเยอะแบบ Maximalist เป็นสิ่งที่ดึงดูดและชักชวนให้ Gucci จัดเป็นอีกจุดหนึ่งในการเช็คอินเพื่อลงโซเชียลมีเดีย
พื้นที่ที่น่าสนใจอีกที่คือ University of Milan ทุกปีจะมีงาน Installation ที่สถาปนิกและนักออกแบบร่วมกันทำงานเพื่อสะท้อนแนวคิดใหม่ ๆ โดยติดตั้งร่วมกับอาคารเก่าและคอร์ตยาร์ทภายใน พร้อมทั้งงานสัมมนาทางวิชาชีพ
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการและบู๊ธต่าง ๆ อีกมากมายกระจายกันทั่วเมือง อาทิ โชว์รูมเฟอร์นิเจอร์บนถนน Durini, ย่านถนน Montenapoleone ช้อปปิ้งสตรีตชื่อดัง, แถวสถานีรถไฟ Milano Centrale สังเกตได้ชัดคือสีสันของ Milan Design Week ปีนี้ จุดเด่นไม่ได้อยู่ที่ชิ้นงานออกแบบเป็นหลัก แต่จะอยู่ที่การเล่าเรื่องซึ่งฉูดฉาดของโชว์ รวมไปถึงการใช้แสงสีและเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเล่าเรื่องทั้งแบรนด์และสินค้าให้ดูน่าสนใจตามสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว จุดสำคัญจึงอยู่ที่การนำส่วนผสมต่าง ๆ มาคลุกเคล้าใหม่ให้เป็นที่พูดถึงอีกครั้งจากคุณค่าที่มีอยู่แล้วในตัว
เรื่อง: สมัชชา วิราพร
ภาพ: สมัชชา วิราพร และภาพประชาสัมพันธ์