ไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความเคลื่อนไหวในแวดวงการออกแบบอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อเริ่มมีการจัดงาน Creative Expo Taiwan ขึ้นเมื่อ 9 ปีก่อน เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างคนทำงานสร้างสรรค์ ทั้งศิลปินพื้นเมืองดั้งเดิมกับนักออกแบบรุ่นใหม่
นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีในการแสดงศักยภาพผ่านผลงานของนักออกแบบและนักสร้างสรรค์ชาวไต้หวัน ให้เป็นที่รู้จักของชาวโลก งานในปีนี้จึงมีความพิเศษและแตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา ด้วยการเพิ่มศิลปะการแสดงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล โดยสอดแทรกให้เป็นส่วนเดียวกันกับทุกกิจกรรม เพื่อใช้เสียงดนตรีและการร่ายรำที่สนุกสนานของเหล่านักแสดง เป็นสิ่งช่วยเชื้อเชิญให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงศิลปะและการออกแบบ หันมาสนใจและอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเทศกาลนี้กันมากขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างประสบการณ์พิเศษอันน่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ทุกคนที่มาเยี่ยมชม
โดยได้กระจายพื้นที่จัดแสดงงานออกเป็น 5 โซน ตามแนวถนนหลักของย่านเมืองเก่ากลางกรุงไทเป เป็นระยะทางกว่า 9 กิโลเมตร เต็มอิ่มไปกับ 21 นิทรรศการ 300 อีเว้นต์ และ 200 การแสดง แน่นอนว่าระหว่างเดินชมงาน เราไม่ลืมเก็บภาพบรรยากาศ และคัดเลือกนิทรรศการโดนใจกลับมาฝากแฟน ๆ ชาว room กันด้วย
1. Place on the Move
“วัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวและแตกต่างกัน” เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากการส่งกลุ่มภัณฑารักษ์ 4 กลุ่ม ลงพื้นที่ทำงานในชุมชน 4 ภูมิภาค โดยใช้เวลากว่า 4 เดือน ในการดึงอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน เพื่อตีความบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชีวิต อาหารการกิน รวมถึงศิลปะวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ ซึ่งมีจุดประสงค์ให้ผู้มาเยือนชมทั้งชาวไต้หวันและต่างชาติได้รับรู้ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการภายใน Huashan 1914 Creative Park ซึ่งประกอบด้วย
- Tainan City เมืองทางภาคใต้ที่นำจุดเด่นเรื่องวัฒนธรรมอาหารและวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนมาจำลองบรรยากาศเป็นร้านอาหารแบบสตรีทฟู้ด ที่ให้ผู้เข้าชมลองนั่งลงบนโต๊ะอาหารจริง ๆ เพื่อสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้จริง และฟังเรื่องราวจากหูฟัง
- Pingtung City เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องเสียงเพลงและบทกวี ไฮไลท์ของพื้นที่นี้คือโถงกลมที่ปิดล้อมด้วยแผ่นไม้ชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียงต่อกันเป็นแถว ติดตั้งระบบไฮดรอลิกเพื่อให้ขยับไปตามเสียงของใบ้ไม้ในป่าที่ต้องลม เกิดเป็นเสียงดนตรี และภาพการร่ายรำของนักแสดงที่เคลื่อนไหวไปบนแผ่นไม้
- Taoyuan City หยิบยกจุดเด่นของเมืองเรื่องการเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการออกแบบห้องโถงสีขาวที่ชวนให้ทุกคนถอดรองเท้า และก้าวเข้ามาสัมผัสอีกแง่มุมหนึ่งของโลกอุตสาหกรรม ด้วยเสียงเพลงที่ใช้เสียงกระทบกันของเครื่องจักรในระหว่างการทำงานมาสร้างสรรค์ใหม่
- Taitung County พาผู้เข้าชมก้าวเข้าสู่สัมผัสกับวิถีชนบททันทีที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่จัดแสดง ด้วยกลิ่นของไม้ไผ่ กองฟาง และเสียงดนตรีโฟล์คซองที่กำลังบรรเลง ด้านหน้าจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้จริงที่หยิบยืมมาจากผู้คนในชุมชน นำมาจัดวางแบบดิบ ๆ ส่วนด้านหลังเป็นศาลาไม้ไผ่ พร้อมลานกว้างที่ทำจากกองฟางนุ่ม ๆ ชวนทุกคนให้เข้าไปเหยียบย่ำและนั่งพัก พลางชิมเครื่องดื่มฝีมือของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจัดพิมพ์เป็นนิตยสาร 4 เล่ม ชื่อ The place ภายใต้แนวคิด “Wildness is new modern” เพื่อสะท้อนความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชนบท พร้อมตั้งคำถามว่านี่อาจจะเป็นความสุขของผู้คนในเมืองใหญ่ที่กำลังแสวงหาอยู่
2. School On the Move
ภาพคนหนุ่มสาวแต่งตัวเก๋ ๆ กลุ่มคนงานชาวท้องถิ่น และเด็ก ๆ ที่มากับครอบครัว นั่งล้อมวงกันอยู่รายรอบบ่อน้ำรูปทรงสี่เหลี่ยมพร้อมคันเบ็ดในมือ ตรงหน้าเป็นเวทีที่มีวงร็อคกำลังแสดงสดอย่างเมามัน ถัดไปเพียงอีกไม่กี่นาทีต่อมาก็มีกลุ่มนักแสดงใส่หน้ากากออกมาร่ายรำแบบโมเดิร์นแดนซ์ แทรกตัวไปตามกลุ่มผู้คนที่กำลังยืนชมนิทรรศการที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอย่างตั้งอกตั้งใจ เป็นภาพรวมของบรรยากาศอันแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ภายในโรงแบตมินตันที่ดัดแปลงให้เป็นบ่อตกกุ้งชั่วคราว ในโปรเจ็กต์ที่มีชื่อว่า “Lagoon Apeiron” โดย Taiwan Contemporary Culture Lab (C-Lab) ซึ่งนำจุดเด่นของสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล มาสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมได้รับประสบการณ์ใหม่ที่สนุกสนาน รวมทั้งตระหนักถึงคุณค่าและเกิดความตื่นตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลในปัจจุบัน
3. Infrastructure On the Move
การพัฒนาอาคาร พื้นที่ หรือย่านสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นรูปแบบการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายเมือง เช่นเดียวกับโครงการฟื้นฟูรางรถไฟ และอาคารซ่อมบำรุงเก่าที่ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งชาติของไต้หวัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่หยิบยกมาสื่อสารในเทศกาลครั้งนี้ ด้วยการเปิดพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนให้ประชาชนเข้าไปเยี่ยมชม นำเสนอเรื่องราวในรูปแบบงานศิลปะที่ชวนทุกคนไปนั่งบนขั้นบันไดที่ทำมาจากไม้หมอนรถไฟ โดยยังคงมีกลิ่นและคราบน้ำมัน พร้อมทั้งมีซาวน์ประกอบเป็นเสียงหวูด และเสียงล้อเหล็กที่บดลงบนรางรถไฟ กลายเป็นเสียงดนตรีช่วยสร้างบรรยากาศให้รำลึกถึงช่วงเวลาในอดีต ก่อนจะชวนผู้มาเยือนไปสร้างภาพร่างในจินตนาการถึงโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้วยนิทรรศการที่ให้ข้อมูลถึงแผนการออกแบบและพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้
4. Fair On the Move
นอกจากเทศกาลนี้จะเป็นการเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างคนทำงานสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นโอกาสในที่ดีของศิลปิน ดีไซเนอร์ และนักสร้างสรรค์ในสาขาต่าง ๆ จะได้พบปะกับผู้ประกอบการ นักลงทุน รวมทั้งประชาชนทั่วไปโดยตรง เพื่อเป็นโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ โดยแบ่งการจัดงานออกเป็นหลายส่วน เช่น “Life! Lab” งานแฟร์ที่จัดแสดงสินค้าและของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงงานหัตถกรรม ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการจากไต้หวัน และจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมมากมาย โดยปีนี้หลาย ๆ แบรนด์ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้วัสดุ และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ เช่น
“The NEXT” จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนมาเลือกช็อปปิ้งไอเดียดี ๆ จากนักออกแบบที่ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนาและหาความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ รวมทั้งยังมีโซน“Hi Story Past and Future” ซึ่งมีหลากหลายพิพิธภัณฑ์จากหลายหน่วยงาน มาให้ข้อมูลความเป็นมาของประเทศไต้หวันในมุมมองที่แตกต่างกัน นอกเหนือจากเรื่องราวที่น่าสนใจแล้ว ยังมีการนำเทคนิคการจัดแสดงอันทันสมัยมาผสมผสาน จนทำให้ลืมภาพพิพิธภัณฑ์แบบเดิม ๆ ไปเลย