ด้วยเป็นแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่ของโลก จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าศิลปะวัฒนธรรมจีน นั้นมีอิทธิพลต่อประเทศในแถบทวีปเอเชียมาเนิ่นนาน ไม้เว้นแม้แต่ประเทศไทย จนบางทีเมื่อเรามองของบางสิ่ง หรือรูปทรงบางอย่าง ก็สามารถเชื่อมโยงเข้ากับความเป็น “จีน” ได้อย่างอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างแบบหนึ่งที่พบเห็นได้ในงานสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็น บ้าน วัด เจดีย์ หรือพระราชวัง ที่ชาวเอเชียบูรพาเรียกขานว่า ‘ โตวกง ’
โตวกง ในภาษาจีน หรือ 組物 (คุมิโมโน) คุมิ แปลว่า ประกอบ โมโน แปลว่า วัตถุ ในภาษาญี่ปุ่น เป็นคำที่ใช้เรียกกระบวนวิธีในการประกอบชิ้นไม้เข้าด้วยกันเพื่อเป็นโครงสร้างสำหรับค้ำยันหลังคา มักพบในงานสถาปัตยกรรม จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทิเบต โดยรูปทรงทางสถาปัตยกรรมนี้เชื่อกันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนตั้งแต่สมัย 1100 ปีก่อนคริสตกาล และได้มีการพัฒนารูปแบบมาจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากโครงสถาปัตยกรรมแบบตะวันออก เช่น วัดจีน หรือญี่ปุ่นนั้น จะไม่ใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนัก แต่จะใช้ระบบเสา-คาน จุดเด่นของโตวกง จึงอยู่ที่ความสามารถในการรับ และกระจายน้ำหนักจากหลังคาลงสู่เสา ดังนั้นการมีโตวกง จึงหมายความว่าสถาปนิกจะสามารถออกแบบอาคารที่มีช่วงเสากว้างขึ้น รวมไปถึงมีชายคาที่ยื่นยาวออกไปได้มากขึ้น ในขณะที่เสาหลักสามารถมีขนาดเล็กลงได้ด้วย ส่งผลให้ได้อาคารที่มีสัดส่วนโปร่งโล่งสวยงามขึ้น
นอกจากนี้ โครงสร้างแบบโตวกง ยังถูกประดิษฐ์มาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศในดินแดนเอเชียตะวันออกที่เต็มไปด้วยภัยธรรมชาติ เนื่องจากการขัดกันของชิ้นส่วนไม้จะไม่มีการใช้ตะปูยึด เมื่อเกิดแผ่นดินไหว โครงไม้ที่ขัดกันไปมาในสามมิติ จึงมีความยืดหยุ่น พร้อมที่จะโอนอ่อนผ่อนแรง และไม่แตกหัก เปรียบได้กับคนที่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างถ่อมตัว แม้พบกับวิกฤติ ก็สามารถอยู่ได้ยาวนานผ่านกาลเวลา แม้ในยามลมฟ้าแปรปรวน ชายคาที่ยื่นยาวก็สามารถทำให้น้ำฝนไหลออกห่างจากตัวอาคารเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ฐานราก ในช่วงหน้าร้อนที่ร้อนจัด ก็จะช่วยบังแดด แต่ก็ยังเพียงพอที่จะให้แสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาในหน้าหนาว
ญี่ปุ่นเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ในสมัยอดีตนั้นเคยรับการถ่ายทอดวัฒนธรรมมาจากเกาหลีและจีน จนถึงยุคสมัยเฮอัน ซึ่งเป็นจุดที่ชาวอาทิตย์อุทัยตัดสินใจยุติการรับอิทธิพลทางความเชื่อ และแรงบันดาลใจทางศิลป์จากผู้อื่น
เพื่อหันกลับมามุ่งพัฒนาวัฒนธรรมอันมีลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ในโลกของงานออกแบบนั้นญี่ปุ่นมักไม่ใช่ชาติแรกที่ผลิตคิดค้น แต่ใช้จุดแข็งคือการรับเอาต้นแบบนั้นมาพัฒนาและปรับใช้ให้ก่อเกิดเป็นอัตลักษณ์ใหม่ ที่เหมาะัสมแก่ชาติของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ หรือสถาปัตยกรรม
หากคุณได้มีโอกาสท่องเที่ยวญี่ปุ่น คุณคงสังเกตเห็นโตวกงได้ทั้งในงานสถาปัตยกรรมโบราณที่รอดพ้นจากแผ่นดินไหวนับครั้งไม่ถ้วนในอดีต ไปจนถึงสถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยฝีมือสถาปนิกชื่อก้องโลก เช่น Kengo Kuma ผู้ไม่เพียงแค่หยิบยกรูปแบบโครงสร้างที่มีแต่อดีตมาใช้ หากแต่บุรณาการให้ตอบสนองกับโจทย์ เกิดเป็นผลงานที่มีความสวยงามโดดเด่น และไม่บกพร่องต่อประโยชน์ใช้สอย จึงไม่น่าแปลกที่ผลงานของเขาจะได้รับเสียงชื่นชมจากผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์สะพานไม้ยูสุฮาระ (Yusuhara Wooden Bridge Museum)
พิพิธภัณฑ์สะพานไม้ยูสุฮาระ ที่สร้างเชื่อมระหว่างพื้นที่สองฝั่งในหุบเขา ถ้ามองดี ๆ เราจะเห็นว่า โครงสร้างสะพานนั้นดูเหมือนจะถูกค้ำยันไว้ด้วยเสาไม้ผอม ๆ เพียงแค่ต้นเดียว จนไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถรองรับน้ำหนักทั้งหมดของสะพานได้ (แม้ว่าแท้ที่จริงแล้วเสาไม้ต้นนั้น จะมีโครงสร้างเหล็กซ่อนอยู่ภายใน และสะพานก็ยังสามารถถ่ายแรงลงไปยังพื้นดินทั้งสองฝั่ง) แต่นี่ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ใช้ลูกเล่นในการกระจายน้ำหนักของโตวกง ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
งานออกแบบก็เหมือนกับมนุษย์ ตรงที่คุณค่าของมันมักจะถูกตัดสินจากทั้งจากภายนอก และภายใน จึงมีทั้งโอกาสที่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ หรือถูกตัดสิน และนินทา แต่ไม่ว่าอย่างใด งานออกแบบที่เกิดจากการขบคิดอย่างตั้งใจ โดยถือเอาการแก้ปัญหาอย่างจริงใจเพื่อผลประโยชน์แก่ผู้ใช้เป็นที่ตั้ง นั้นย่อมจะทรงคุณค่าในตัวมันเอง เช่นเดียวกับเจ้าชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของโครงหลังคา ที่แม้เอ่ยชื่อ อาจไม่มีใครรู้จัก แต่กลับมีเอกลักษณ์ชวนให้นึกถึง
เรื่อง ID19