หากเปรียบครอบครัวเป็นภาพจิกซอว์ผืนหนึ่ง สมาชิกแต่ละคนในบ้านคงไม่ต่างจากชิ้นส่วนของจิกซอว์ที่คอยเติมเต็มผืนภาพให้สมบูรณ์ เหมือนบ้านของคุณชัยพร อินทุวิศาลกุล บ้านเดี่ยวหลังใหม่ของครอบครัวขยายที่สร้างอยู่ติดกับที่ดินเดิมของบ้านเก่าที่คุณพ่อคุณแม่อาศัยอยู่ ที่ที่หลอมรวมส่วนผสมและเชื่อมโยงจิกซอว์แต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน ผ่านมุมมองการใช้งานพื้นที่ที่ต่างออกไป
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Studio Mahutsachan
เบื้องหลังกำแพงกระจกใสภายนอกที่โอบล้อมตัว แบบบ้านโมเดิร์น เรียบเท่หลังนี้ สเปซภายในยังได้รับการจัดสรรพื้นที่อย่างน่าสนใจจากทีมสถาปนิก Studio mahutsachan ผู้ออกแบบที่ตีความความสัมพันธ์ และความต้องการของคนในครอบครัวออกมาในรูปแบบกลุ่มก้อนฟังก์ชัน คลี่คลายสู่แนวคิดการออกแบบที่สอดรับกับพฤติกรรมการใช้งานได้อย่างตอบโจทย์และครบถ้วน
https://www.youtube.com/watch?v=NejCOb35oaU
เริ่มต้นจากการสังเกตปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้านกับพฤติกรรมการอยู่อาศัย ซึ่งผู้ออกแบบพบว่ามีพื้นที่ทับซ้อนที่ทุกคนมาใช้งานร่วมกันบ่อย ๆ เช่น พื้นที่ห้องนั่งเล่น และส่วนรับประทานอาหาร สถาปนิกจึงเชื่อมพื้นที่ทั้งสองเข้าไว้ด้วยกันเป็นเหมือนโซนไฮไลต์ของบ้านที่ทุกคนสามารถมองเห็นและเข้าถึงได้ง่ายด้วยการล้อมรอบบริเวณนี้ด้วยกระจกใสเพื่อกระตุ้นการปฏิสัมพันธ์ของคนในบ้าน และจัดการกับพื้นที่ส่วนอื่น ๆ โดยการแทนค่าเป็น ‘กล่องฟังก์ชัน’ ซึ่งเป็นตัวแทนความต้องการของแต่ละคนในบ้านเข้ามาเติมเต็มภายในสเปซ
ตั้งแต่กล่องขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างเช่นชั้นวางหนังสือที่ออกแบบให้มีลูกเล่นเป็นกล่องห้อยลงมาจากฝ้าเพดาน กล่องบิลท์อินเคาน์เตอร์ครัว ไปจนถึงกล่องขนาดใหญ่ที่บรรจุกิจกรรมที่แตกต่างกันเอาไว้ อย่างห้องมีเดียใกล้พื้นที่นั่งเล่นที่ใช้ดูหนัง เล่นเกม มีกิมมิกบันไดให้สามารถปีนขึ้นไปนั่งเล่นเปลี่ยนบรรยากาศบนชั้นลอยได้ รวมไปถึงกล่องห้องน้ำและห้องนอน โดยแต่ละกล่องถูกจัดวางลงในแปลนด้วยขนาดและระดับที่แตกต่างกันตามจังหวะการใช้งาน ทั้งยังช่วยกำหนดลำดับการเข้าถึงในแต่พื้นที่ให้กับคนในบ้านอีกด้วย
เมื่อกล่องฟังก์ชันเล็กใหญ่ถูกจัดวางอยู่ภายในกรอบบ้าน พื้นผิวกล่องบางส่วนก็ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนผนังกำหนดขอบเขตและให้ความเป็นส่วนตัวแต่ละพื้นที่ในเวลาเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องก่อผนังเพื่อกั้นพื้นที่เพิ่มเติมจากเดิม สถาปนิกจัดการพื้นที่ส่วนเชื่อมต่อระหว่างกล่องให้เป็นทางสัญจรและกลายเป็นพื้นที่ที่คนในบ้านใช้งานร่วมกัน เลือกใช้วัสดุเรียบง่ายอย่างพื้นหินขัดสีเทาบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีการใช้งานร่วมกันบ่อย ๆ และพื้นไม้สบายตาบริเวณสเตปที่ระดับแตกต่างกันหรือพื้นที่ที่ต้องการเปลี่ยนฟังก์ชัน
นอกจากดีไซน์จะเอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์ของคนในบ้านแล้ว ยังสร้างความลื่นไหลเชื่อมโยงพื้นที่ภายในกับสภาพแวดล้อมภายนอกด้วยคอร์ตต้นไม้ที่ถูกแทรกไว้ระหว่างกล่องในหลายบริเวณ ให้คนในบ้านได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ทั้งยังคงรักษาระยะความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเก่าของคุณพ่อคุณแม่และบ้านใหม่ของครอบครัวคุณชัยพรไว้ผ่านกำแพงกระจกใสที่สถาปนิกตั้งใจกำหนดขอบเขตพื้นที่ระหว่างภายในและภายนอกให้เบาบางที่สุด เพื่อยังคงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไว้ให้มากที่สุดนั่นเอง
เจ้าของ : คุณชัยพร อินทุวิศาลกุล
ออกแบบ : Studio mahutsachan
เรื่อง: วรรณลีลา
ภาพ: Beer Singnoi