ช่วงปิดเทอมในทุก ๆ ปีนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะทำโครงการ “ค่ายยุวสถาปนิกพัฒนาชนบท” หรือที่รู้จักในคณะฯว่า “ ค่ายอาสา ” ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น จนน้องเล็กที่เคยช่วยงานค่ายอาสาปีก่อน ๆ ในวันนั้น วันนี้ต้องเป็นพี่ใหญ่ดูแลรับผิดชอบโครงการ โดยปีนี้ “ค่ายอาสา” ปีนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านโตนดน้อย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
ความน่าสนใจของค่ายอาสาครั้งนี้ คือพื้นที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้กับทะเล ทำให้ได้รับลมทั้งสองด้าน จากลมทะเลที่พัดมายังพื้นที่ตั้งโครงการในตอนกลางวัน ประกอบกับด้านหลังพื้นที่มีตึกเก่า ทำให้ได้ตัวอาคารห้องสมุดได้รับร่มเงาจากตึกเก่า และมีลมประจำทิศพัดผ่านตึกเก่าเข้ามาในพื้นที่ตั้งโครงการ ช่วยให้เกิดการไหลผ่านของลมตลอดช่วงเวลา ทำให้พื้นที่นี้เหมาะที่จะสร้างอาคารที่รองรับกิจกรรมของเด็ก ๆ และคุณครูในโรงเรียน เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมศิลปะ พื้นที่นั่งเล่นและอ่านหนังสือของเด็ก ๆ สามารถออกมาใช้งานได้ตลอดทั้งช่วงบ่าย
โดยตัวอาคารถูกออกแบบให้มีการไหลของพื้นที่จากอาคารเรียนหลักมาสู่อาคารห้องสมุดที่สร้างขึ้นใหม่ โครงสร้างอาคารเป็นไม้ wood-framing เป็นเทคนิคการเข้าไม้แบบร้อยน็อต ออกแบบเฟอร์นิเจอร์บางส่วนให้ยึดติดกับโครงสร้างหลัก อีกทั้งการออกแบบยังคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กนักเรียนเป็นหลัก รวมถึงมีการออกแบบสัดส่วนภายในให้สอดคล้องกับขนาดตัวของกลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นเด็ก
อาคารมีพื้นที่ประมาณ 6 X 7 เมตร ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมเปิดผนังด้านข้างทั้งสองด้านเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่กับพื้นที่ภูมิทัศน์ ภายนอกที่เป็นสนามเด็กเล่น และแปลงผักเพื่อให้รองรับกิจกรรมของเด็ก ๆ ที่มีพื้นที่สำหรับเล่นและเรียนรู้กลางแจ้ง โดยแปลงผักที่เด็ก ๆ ช่วยกันปลูกนั้น นอกจากจะเป็นห้องเรียนการเกษตรที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงแล้ว ผลผลิตที่ได้ยังสามารถนำมาประกอบอาหารกลางวันให้เด็ก ๆ รับประทานกันได้ด้วย การออกแบบภูมิทัศน์ (Landscape) นี้ไม่เพียงแค่ต้องการความสวยงามและพื้นที่สีเขียวรอบตัวอาคาร แต่ยังคงคิดถึงประโยชน์ที่เอื้อต่อกิจกรรมของเด็ก ๆ อีกด้วย
แม้ว่าจะเตรียมแผนกันมาเป็นอย่างดี แต่เรื่องเหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้นได้ น้อง ๆ เล่าให้ฟังอย่างติดตลกว่ามาวันแรกก็เจอเรื่องเลย คือทางทีมงานคุยกันว่าจะวางพื้นฐานล่างเป็นโครงสร้างแบบ slab on ground หรือการทำลานคอนกรีตบนพื้นดิน แต่ทางโรงเรียนนำทรายมาเทไว้ในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งทำให้การทำลานคอนกรีตบนพื้นดินไม่มั่นคง ไม่สามารถปรับระดับพื้นได้อย่างที่วางแผนไว้ในตอนแรก จึงต้องเปลี่ยนแผนเป็นการลงเสาเข็ม ทำให้ต้องเพิ่มทีมวิศวกรคำนวนเข้ามาด้วย นับเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถไปอีกแบบ ประกอบกับสภาพอากาศที่ไม่ค่อยเป็นใจสักเท่าไร ร้อนบ้าง ฝนตกบ้าง ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการทำงานไปจากเดิม
ในส่วนของวัสดุและอุปกรณ์ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีหลาย ๆ ท่าน แต่ของที่เลือกมาใช้ทั้งหมดนั้นก็มีทั้งแบบที่ตรงและไม่ตรงตามความต้องการก็ต้องนำมาปรับใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด วัสดุบางอย่างที่สามารถนำกลับมาใช้ในส่วนอื่นได้ ก็จะนำมาใช้ใหม่เพื่อไม่ให้เกิดขยะเหลือจากการก่อสร้าง อย่างอิฐบล็อกที่เหลือจากทำแม่แบบหล่อปูนก็เอามาทำพื้นทางเดิน หรือเสาปูนที่เหลือจากฐานผนังไม้ไผ่ก็นำมาทำเป็นขั้นบันไดเรียกได้ว่าคุ้มค้าคุ้มราคาแบบสุด ๆ เลยทีเดียว
อาคารหลังนี้ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 14 วัน การก่อสร้างทั้งหมดทำโดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะอาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมด้วยผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุนโครงการดี ๆ เช่นนี้
ค่ายไม่เพียงแค่สร้างสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชน แต่ยังขัดเกลาและปั้นยุวสถาปนิกรุ่นต่อไปให้ได้เห็น และสัมผัสงานก่อสร้างจริง ๆ นอกเหนือจากในห้องเรียน เพื่อเป็นการสร้างเมล็ดพันธุ์รุ่นถัดไปอย่างยั่งยืน..
ใครต้องการสนับสนุน แนะนำโครงการ หรือติดตามผลงานของน้อง ๆ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แวะไปพูดคุยได้ที่ www.facebook.com/architecture.silpakorn
เรื่อง : ณรดี ณ ถลาง
ภาพ : เจตสุภา ศิริพันธุ์ และ ทีมงาน
อ่านต่อ งานอาสาฯเด็กไทย…ห้องสมุด ที่ไม่ธรรมดา