“ผมใช้ศิลปะเป็นภาษาที่เรียกว่า Universal language ที่คนเข้าถึงได้”
“Boundaries ในความเข้าใจของผมคือทุกที่มันมี Boundaries เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมอเมริกัน หรือวัฒนธรรมไทย อย่างอเมริกาก็มีฝั่ง Democrats กับ Republicans ฝั่งซ้าย ฝั่งขวา อย่างมาเมืองไทยก็จะมีเสื้อแดง เสื้อเหลือง ทุก ๆ ที่มันมีความต่าง คนสองคนอยู่ห้องเดียวกัน แม้จะเป็นเพื่อนกัน ท้ายสุดก็เป็นศัตรูกันได้” เจ้าของพื้นที่จัดแสดงงานภายในห้องที่ 705 ที่เราเปิดประตูมาพบอธิบายถึง Breaking Boundaries ในความหมายของเขา
คุณภูริน พานิชพันธ์ คือศิลปินและนักออกแบบชาวไทยที่มีชื่อเสียงในซานฟรานซิสโก เขาเคยเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์แห่ง IDEO San Francisco นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์สอนหลักสูตรการออกแบบที่ Stanford University, General Assembly และปัจจุบันสอนอยู่ที่ UC Berkeley ซึ่งครั้งนี้เขาได้กลับมาแสดงงานส่วนตัวเป็นครั้งแรกในเมืองไทยตามคำชักชวนของ Farmgroup อดีตบ้านหลังเก่าที่เขาเคยผ่านการทำงานด้วยมาก่อน โดยใช้ศิลปะแบบ Interactive art เป็นเครื่องมือในการสร้างจุดร่วม และทลายกำแพงทางความต่างของปัจเจกชนลงอย่างราบคาบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนตัวอักษรเป็นคำต่าง ๆ ด้วยปลายนิ้วที่แตะลงบนคีย์บอร์ด หรือการต่อชิ้นส่วนของแผ่นกระดาษที่วางอยู่บนเตียงตามใจคิดอย่างอิสระ
“ผมใช้ Art เป็นภาษาที่เรียกว่า Universal language ที่คนเข้าถึงได้ เวลาที่ผมทำงานศิลปะ ผมจะทำให้มันมีความเรียบง่าย เเละเข้าถึงง่าย คนที่ไม่เข้าใจอาร์ตมาเล่นกับสิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจ หรือว่าซึมซับอะไรไปได้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งผมว่าการใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือจะทำให้คนมีส่วนร่วม มาเล่นด้วยกัน ถึงแม้ว่าคนนั้นจะเป็นคนจน คนรวย คนที่สนับสนุนรัฐบาล หรือไม่สนับสนุน ก็มาเล่นกัน มาเป็นเพื่อนกันได้”
เขาทิ้งท้ายการใช้ศิลปะสร้างจุดร่วมความคิดแตกต่างเชิงเสียดสีสังคมด้วยการเปรียบเทียบสีดำกับสีขาวที่ต่างกันสุดขั้ว ซึ่งสะท้อนไปถึงการเลือกใช้สีดังกล่าวมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะของเขาดังที่ปรากฏอยู่ในห้องทั้งหมดนี้
“ศิลปะที่ผมใช้สีดำ สีขาว มันแตกต่างกันสุดขั้ว แบบว่ามองด้านหนึ่งก็เป็นสีขาว มองไปด้านหนึ่งก็เป็นสีดำ แต่จริง ๆ แล้วหากมองรวม ๆ จะเป็นสีเทา ซึ่งมันแล้วแต่มุมมองของแต่ละคนว่าอะไรคือความจริงหรือความเชื่อ มันแล้วแต่มุมมองของเราเอง ท้ายสุดแล้วเราก็อยู่ในสังคมเดียวกัน เป็นคนไทยด้วยกัน ร้องเพลงชาติเหมือนกัน ทานอาหารก็เหมือนกัน ท้ายสุดก็มาอยู่ร่วมกันในประเทศเดียวกันอยู่ดี”
“Breaking Boundaries คือทลายความซ้ำซาก อยากเขียนอะไรเขียนเลย”
ก้าวสู่อีกหนึ่งห้องพักที่เป็นแขกรับเชิญพิเศษของงาน Hotel Art Fair 2019 กับห้อง 714 คุณนิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิก 49 และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Li-Zenn Publishing Limited ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย) ประจำปี พ.ศ. 2544
คุณนิธิก้าวมาสู่การเป็นศิลปินทำงานศิลปะตั้งแต่แรกเริ่มทำงานสถาปนิกเลยก็ว่าได้ ด้วยความที่เขาเป็นคนชอบเขียนลายเส้นด้วยมือแทนการใช้โปรแกรมเพื่อสื่อสารกับลูกค้ามาเป็นเวลานานมากกว่า 40 ปี คุณนิธิบอกว่า “เขียนมาตลอดจนกระทั่งรีไทร์มื่ออายุ 65 ปี ผมมีความสุขจริง ๆ ก็คือการได้เขียนรูปภาพลายเส้น ถ้าถามว่ามัน Breaking Boundaries หรือเปล่า ผมต้องเรียนว่าเวลาเราเขียนด้วยความชอบ ด้วยความรักก็ไม่ได้คิดถึงอะไรทั้งนั้น เจออะไรที่น่าสนใจก็เขียนเก็บไว้เป็นที่ระลึก ไม่ได้เขียนเพื่อเงิน เพราะผมไม่เคยขายรูปออริจินัล ที่เห็นคือปริ้นท์ทั้งนั้นเลย เพราะออริจินัลเราอยากจะเก็บไว้ในมิวเซียมที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ให้มันรวมอยู่ในที่เดียวกัน เพราะเวลาเราเขียนมา 10 วัน กว่าจะเสร็จรูปหนึ่ง แล้วขายไปนี่มันเสียดาย ความรู้สึกเวลาที่เราเสียไปเรียกคืนมาไม่ได้แล้ว ก็เลยเก็บภาพสเก็ตช์เหล่านั้นไว้ทั้งหมด”
“เขียนรูปหิน รูปดีเทล หรือบางที่ก็เป็น Architecture บ้าง อย่างรูปบ้านของ Frank Lloyd Wright ก็เขียนด้วยความสุข แล้วคำว่า Breaking Boundaries คือการทลายความซ้ำซาก อยากเขียนอะไรเขียนเลย เขียนก้อนหินสักก้อนสองก้อนก็ดูมีความสุขดี เล่นแสงเงาจัด Composition ให้น่าสนใจ อันนั้นก็เป็นแนวทางของผม ถ้าเป็นรูปวิว ดีเทลก้อนหินเราก็ไม่ต้องไปสนใจเรื่อง Perspective มันมีบางรูปที่มันเป็นงาน Architecture อันนั้นก็ต้องเขียน Perspective ให้ดูไม่ผิดเพี้ยน ไม่ขัดตา ไม่ผิดสัดส่วน แต่ในหลาย ๆ รูปก็เขียนไปตามธรรมชาติ ซึ่งอันนั้นมีความสุขดี เขียนดอกไม้ เขียนนก เขียนอะไรก็แล้วแต่ เท่าที่เราจะมีข้อมูลในการเขียนรูป บางทีต้องมีอารมณ์กับมีข้อมูลดิบมาเขียนได้ บางทีนั่งไปทั้งเดือนก็เขียนไม่ออกเพราะไม่รู้จะเขียนอะไร”
“ความต่างระหว่างตอนที่รีไทร์กับช่วงก่อนหน้านี้แตกต่างกันมาก ก่อนหน้านั้นผมเขียนเป็นงาน Architecture เขียนในงานวิชาชีพหมด Perspective ของผมเขียนออกแบบบ้านสักหลัง ผมก็เขียนเอง เพื่อเอาไปเสนอลูกค้า เขียนให้มันสวยเขียนให้มันเหมือนจริง ขายความคิดสร้างสรรค์ของเรา แต่พอหลังจากเลิกทำงานแล้ว เรามาเขียนรูปพวกนี้ มันไม่มีแรงกดดัน เราเขียนไปตามสบาย ตามอารมณ์ หรือไม่ต้องอยู่ภายใต้เวลา เขียนสร็จเมื่อไรก็เมื่อนั้น บางรูปเขียนเกือบเดือน มีธุระอย่างอื่นก็ไปทำก่อน กลับมามีปากกาด้ามเดียวก็เขียนไปได้เรื่อย ๆ ไม่ทุกข์ร้อนอะไร”