room Design Island เกาะส่วนตัวใจกลางงาน บ้านและสวนแฟร์ Midyear 2019 ที่เปี่ยมด้วยบรรยากาศแห่งการพักร้อน มาพร้อมความร่วมมือทางการออกแบบจากหลากหลายพันธมิตร ที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ไม่รู้จบ โดยเฉพาะในด้านของงานสถาปัตยกรรมที่เป็นตัวแทนในการเล่าแนวความคิดในการออกแบบ และแสดงตัวตนที่ชัดเจนของ room เสมอมา จึงเกิดเป็น room x ธ.ไก่ชน สตูดิโอออกแบบที่มีความโดดเด่นด้านการใช้ไม้ไผ่ในงานสถาปัตยกรรมมากที่สุดในยุคนี้
room Design Island เกิดขึ้นจากการนำแรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ โดยนำไม้ไผ่มาผสมผสานกับผ้าเอ๊าต์ดอร์เพื่อสร้างสรรค์เป็นวัสดุตกแต่งผนังแบบโมดูลาร์รูปทรงสามเหลี่ยม แสดงให้เห็นถึงงานฝีมือและนวัตกรรมการออกแบบที่น่าสนใจผ่านแนวความคิดในการออกแบบและวิสัยทัศน์ของ คุณตั๊บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน ผู้ก่อตั้ง ธ.ไก่ชน และผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมไม้ไผ่บนพื้นที่ของ room ในงานบ้านและสวนแฟร์ Midyear 2019 ในครั้งนี้
“เมื่อก่อนผมจะเน้นเรื่องโครงสร้างมาก ยิ่งใหญ่ยิ่งเท่ แต่พอถึงจุดหนึ่งเราจะฝืนไม่ได้เนื่องจากการนำไม้ไผ่มาใช้กับงานดีไซน์ก็ยังมีบางอย่างที่เทคโนโลยียังไม่รองรับ ฝืนไปมันไม่เกิดประโยชน์”
ถ้าเปรียบ ธ.ไก่ชน เป็นเพื่อนสนิท ช่วยเล่าเรื่องของเพื่อนสนิทคนนี้ให้เราฟังหน่อย
ธนพัฒน์: “ธ.ไก่ชน ก็ตัวผมเองนี่แหละ และก็ทำงานเกี่ยวกับไม้ไผ่ แต่ทุกครั้งของการให้สัมภาษณ์คำตอบของผมจะเปลี่ยนไปเล็กน้อยตามมุมมองและประสบการณ์ในชีวิตที่มากขึ้น แต่ใจความสำคัญของ ธ.ไก่ชน ก็ยังคงเหมือนเดิม คือ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ การเป็นผู้รับเหมา สถาปนิกและผู้จัดจำหน่าย ซึ่งปัจจุบันเราลดสัดส่วนของการเป็นช่างหรือผู้รับเหมาน้อยลง และเน้นส่วนที่เป็นงานในลักษณะของสถาปนิกและการจัดจำหน่ายมากขึ้น
“ตอนนี้จึงเน้นงานดีไซน์เป็นส่วนใหญ่ครับ เพราะการดีไซน์ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็มีเรื่องศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก อย่างเมื่อก่อนผมจะเน้นเรื่องโครงสร้างมาก ยิ่งใหญ่ยิ่งเท่ แต่พอถึงจุดหนึ่งเราจะฝืนไม่ได้เนื่องจากการนำไม้ไผ่มาใช้กับงานดีไซน์ก็ยังมีบางอย่างที่เทคโนโลยียังไม่รองรับ ฝืนไปมันไม่เกิดประโยชน์ ตอนนี้ผมจึงเน้นไปที่งานดีไซน์ เคารพกฎหมายก่อสร้างต่างๆ แต่ก็ยังคงดึงความสวยงามตามธรรมชาติของไม้ไผ่มาใช้ในงานสถาปัตยกรรมให้ได้มากที่สุด คือ เน้นให้งานมันมีคุณค่าและสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจมากขึ้นครับ”
ช่วงนี้มีโปรเจ็กต์อะไรที่กำลังดำเนินการอยู่บ้าง
ธนพัฒน์: “ช่วงนี้มีงานที่ท้าทายคืองานที่ต้องสร้างให้เสร็จให้ได้3 งานภายในครึ่งปีนี้ ส่วนครึ่งหลังผมจะทุ่มเทให้งานดีไซน์โปรเจ็กต์หนึ่งที่สเกลใหญ่ขึ้น โดยมูลค่าเกิน 100 ล้านไปแล้ว ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายสำหรับออฟฟิศผมมาก เป็นการเติบโตที่ไปในทิศทางที่ดีและก็น่าตื่นเต้นมากครับ”
เวลาเลือกโปรเจ็กต์แต่ละครั้งมีเกณฑ์อะไรในการรับงาน
ธนพัฒน์: “ผมยังรับเลือกงานที่ผมรู้สึกสนุกเป็นหลักนะ อีกประเด็นคือเรื่องของธุรกิจครับ เพราะความสนุกกับธุรกิจต้องไปด้วยกันโดยเราไม่เป็นจำเป็นต้องเสียตัวตนหรือสไตล์ในการออกแบบของเราไป นอกจากนั้นผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คนทำงานศิลปะหรือธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุจากธรรมชาติจะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คนอาจมองว่ายากที่จะทำเรื่องของงานศิลปะหรืองานออกแบบให้เป็นไปได้ด้วยดีในแง่ธุจกิจ แต่จริงๆ ทำได้ และควรจะทำด้วย ที่สำคัญคือทำเป็นตัวอย่างให้เด็กรุ่นหลังดูว่ามันอยู่ได้จริงๆ”
“ความสุขและความสนุกของเรา คือการได้ออกแบบให้กับคนที่เรารู้สึกดีด้วย ได้ออกแบบในงานบ้านและสวนแฟร์”
เหตุผลที่เลือกมาออกแบบกับ room
ธนพัฒน์: “ก่อนที่จะไปถึงว่าอะไรคือความสนุกในการออกแบบครั้งนี้นะครับ ผมขอพูดนิดนึง คืองานออกแบบอะไรที่เกี่ยวบ.อมรินทร์ฯ คือเรารู้สึกโอเค โอเคในที่นี้คือรู้สึกสนิทใจด้วย เหมือนมีรุ่นพี่รุ่นน้องในคณะ อย่างโปรเจ็กต์นี้ที่ทำกับ room คืออันที่ 4 แล้วที่ทำกับอมรินทร์ ผมรู้สึกว่าเราคือเพื่อนกัน อีกทั้งยังถือเป็นเพื่อนบ้านกันเพราะบริษัทก็อยู่ใกล้ๆ กันด้วย
“กลับมาที่ความสนุกในตอนแรก ซึ่งทั้งหมดนี่แหละคือความสนุก สนุกกับมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีและหว่างคนทำคอนเทนต์และดีไซเนอร์ ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาใหญ่เลยตั้งแต่ขึ้นตอนแรกของการคุยงาน การออกแบบ จนจะก่อสร้าง นี่แหละเป็นความสุขและความสนุกของเรา คือการได้ออกแบบให้กับคนที่เรารู้สึกดีด้วย ได้ออกแบบในงานบ้านและสวนแฟร์”
พูดเรื่องความสนุกในการออกแบบแล้ว อยากทราบถึงแนวความคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ในบู๊ธ room ว่าจุดเริ่มต้นของไอเดียต่างๆ มันมีที่มาอย่างไร
ธนพัฒน์: “เวลาผมออกแบบจะมีอยู่ 3 ส่วนคือ ไม้ไผ่ เทคนิคและที่มาของการออกแบบ ในส่วนของไม้เราใช้ไม้ลวกดัดตรง ถัดมาคือเทคนิคที่ทาง room ที่มีโปรแกรมให้ทำงานกับผ้าเอ๊าต์ดอร์ของแบรนด์ SOL OUT และสุดท้ายคือเรื่องของวิชวลอาร์ต เรื่องของแพตเทิร์น ซึ่งดีไซเนอร์เรานำคุณสมบัติของผ้าที่สามารถใช้งานกลางแจ้ง ทน ฟ้า ฝน แดดและความเค็มได้เป็นอย่างดี แล้วตีความถึงความระยิบระยับของพื้นผิวน้ำทะเลเวลากระทบแสงอาทิตย์ เห็นด้วยตา แบบหรี่ตาหน่อยจะคล้ายสามเหลี่ยม เราจึงนำจุดนี้มาคลี่คลายเป็นเลเยอร์ เราทำงานแบบมีแพตเทิร์น มีระเบียบและสร้างให้มีมิติมากขึ้น ผนังบู๊ธ room จึงจะเห็นว่ามีการทับซ้อนกันของแพตเทิร์นที่เกิดจากการนำผ้ามาประกอบกับไม้ไผ่”
เหมือนคุณตั๊บพยายามจะสร้างมูลค่าให้ไม้ไผ่มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยงานออกแบบ
ธนพัฒน์: “ใช่ครับ คือ ไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีดีในตัวเองอยู่แล้ว แล้วผมว่ามันสวย แทนที่จะกองๆ ไว้ข้างทาง เราก็จับมาอาบน้ำแต่งตัวใหม่ เข้าใจเขาให้มากขึ้นว่าศักยภาพเขามีอะไร และจะดันเขาไปทิศทางไหน เพราะยังไงวัสดุจากธรรมชาติก็มีเสน่ห์ที่วัสดุสังเคราะห์แทนไม่ได้อยู่แล้ว”
คาดหวัง ธ.ไก่ชน เพื่อนสนิทคนนี้ในอนาคตอย่างไรบ้างคะ
ธนพัฒน์: “ผมหวังใจว่าในปี 2020 ธ.ไก่ชน จะได้รับงานที่ดีและสเกลที่ใหญ่พอที่เราจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเราเป็นบริษัทออกแบบที่ทำงานไม้ไผ่อย่างเดียวเท่ากับออฟฟิศอื่นๆ แล้ว เพราะปกติเราจะทำงาน installation หรืองานอาคารไม่เกินสิบล้านซึ่งถือเป็นสเกลออฟฟิศเล็กอยู่ ผมอยากให้ออฟฟิศที่ทำงานโดยใช้วัสดุธรรมชาติได้รับงานหรือมีมาตรฐานเทียบเท่าออฟฟิศที่ใช้คอนกรีต ไม่ใช่เป็นออฟฟิศเล็กๆ ที่เชี่ยวชาญด้านไม้ไผ่แล้วถูกออฟฟิศใหญ่ดึงตัวไปเป็นส่วนหนึ่ง แต่เราคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่จะถูกเห็นคุณค่า และเชื่อมั่นในศักยภาพในเชิงการนำมาใช้ในงานออกแบบว่าสามารถเทียบเท่าวัสดุอื่นๆ อย่างเหล็กหรือคอนกรีตได้สักที และสิ่งที่จะพิสูจน์ได้คือผลงานเท่านั้น ดังนั้นผมจะถ่ายรูปของผมเฉพาะตอนงานเสร็จแล้วเท่านั้น เพราะผมเชื่อว่าศักภาพของไม้ไผ่ยังไปได้อย่างไร้ข้อจำกัดด้วยเสน่ห์ในตามธรรมชาติที่มีครับ”
พบกับงานออกแบบสุดพิเศษด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่จาก คุณตั๊บ-ธนพัฒน์ บุญสนาน ที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อความสนุกเพียงเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงอนาคตของไม้ไผ่ที่สามารถมีพื้นที่เป็นของตัวเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในงานออกแบบระดับโลกในหลายๆ แขนง โดยไม่สามารถจำกัดเฉพาะงานสถาปัตยกรรมได้อีกต่อไป ที่บู๊ธ room ภายในงานบ้านและสวนแฟร์ Midyear 2019 ตั้งแต่วันที่ 3 – 11 สิงหาคม 2019 ที่ไบเทคบางนา ฮอลล์ 98 – 104
เรื่อง : Ektida N.
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย