สำหรับงานสถาปัตยกรรม ‘ความแปลกใหม่’ มักมาพร้อมกับ ‘ความยาก’ เสมอ เพราะไม่ใช่เพียงขั้นตอนการออกแบบในกระดาษที่ต้องลงตัวและแม่นยำเท่านั้น แต่ในขณะที่ก่อสร้างยังต้องเตรียมรับมือกับข้อจำกัดใหม่ ๆ ที่เข้ามาท้าทายอยู่ตลอดเวลา
DESIGNER DIRECTORY :
ออกแบบ : Baiyah Studio
เช่นเดียวกับคลับเฮาส์ของ โครงการ บุราสิริ พัฒนาการ โครงการบ้านเดี่ยวจากแสนสิริที่กล้าสร้างความแปลกใหม่ผ่านงานสถาปัตยกรรมได้อย่างโฉบเฉี่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคง DNA ของบรรยากาศแบบ ‘รีสอร์ต’ เอาไว้ โดยวางใจให้ คุณสันติราษฏร์ สัตยาคุณ สถาปนิกผู้มีประสบการณ์การออกแบบคลับเฮาส์ทั่วประเทศมากกว่า 40 แห่ง จาก Baiyah Studio มารับหน้าที่ดูแลการออกแบบทั้งบ้านในโครงการ และคลับเฮาส์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ กับการทำงานที่เปลี่ยนข้อจำกัดให้เป็นความท้าทายได้อย่างน่าสนใจ
BEGINNING OF THE TRIANGLE SPACE
เริ่มแรกผู้ออกแบบนำความเป็น ‘รีสอร์ต’ มาขยายความ และผสมผสานกับเทรนด์การพักผ่อนที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันอย่างการ ‘Camping’ โดยออกแบบอาคารให้มีลักษณะเหมือนเต็นท์ขนาดต่างกันสองหลัง ในตำแหน่งขนานกัน มีจุดเด่นอยู่ที่การบิดแกนอาคารไปตามแนวเฉียงของพื้นที่ เมื่อมองจากด้านหน้าจะไม่สามารถมองเห็นฟังก์ชันภายในได้ เนื่องจากการบิดแกนทำให้เกิดมุมมองที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ต้องการให้ผู้ใช้งานเกิดประสบการณ์การเข้าถึงพื้นที่แบบรีสอร์ตที่ค่อย ๆ เผยเสน่ห์และสร้างความตื่นเต้นให้ทุกคน ขณะก้าวเข้ามายังพื้นที่แต่ละสเต็ป ซึ่งในทางกลับกันหากมองจากด้านหลังจะพบกับสระว่ายน้ำ และฟังก์ชันภายในของคลับเฮาส์อย่าง ล็อบบี้ ฟิตเนส รวมไปถึงหลังคาทรงจั่วขนาดใหญ่ของอาคารทั้งสองหลังที่เชื่อมกันด้วยทางเดินอย่างสวยงาม
FUNCTIONAL DESIGN
อันที่จริงการออกแบบทั้งรูปลักษณ์และฟังก์ชันต้องออกแบบและพัฒนาไปพร้อมกัน สถาปนิกจึงเริ่มจากการกำหนดตำแหน่ง และขนาดของล็อบบี้เป็นอันดับแรก โดยเลือกให้อยู่ในอาคารสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่มีลักษณะพื้นที่แบบกึ่งเอ๊าต์ดอร์ หันมุมมองรับกับวิวสระว่ายน้ำ และสวนไปจนสุดสายตา ส่วนฟิตเนสกำหนดตำแหน่งให้อยู่บนชั้น 2 เหนือล็อบบี้ขึ้นไป โดยมีพื้นยื่นออกมาเหนือสระว่ายน้ำเล็กน้อยเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย รวมไปถึงสร้างมุมมองใหม่ที่แตกต่างขณะลูกบ้านเข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ในอาคารยังมีพื้นที่สำนักงานซ่อนไว้ด้านข้าง โดยอาศัยการยกระดับการเข้าถึงและพื้นที่ว่างใต้หลังคาจั่วเจาะเป็นสำนักงานขนาดกะทัดรัด นับป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
ส่วนอาคารสามเหลี่ยมขนาดเล็กที่อยู่ขนานกันนั้น ถูกบรรจุฟังก์ชันที่ไม่ต้องใช้สเปซ และฝ้าเพดานที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไปอย่าง ห้องน้ำ ห้องซาวน่า และห้องงานระบบ ซึ่งปกติแล้วการออกแบบอาคารที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรืออาคารที่เกิดมุมนี้ มักจะทำให้สูญเสียพื้นที่ใช้สอยทั้งแนวราบและแนวดิ่ง แต่ผู้ออกแบบกลับสามารถแก้ไขข้อจำกัดด้วยการออกแบบฟังก์ชัน และพื้นที่ที่พอเหมาะเสียก่อนในลักษณะก้อนสี่เหลี่ยม โดยใช้โปรแกรมการออกแบบสามมิติ จากนั้นจึงใส่กรอบอาคารที่เป็นสามเหลี่ยมครอบลงไป เพื่อดูว่าลักษณะอาคารสามเหลี่ยมที่เกิดขึ้นนั้น ไปรบกวนพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ ที่กำหนดขนาดไว้แล้วหรือไม่ ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้การกำหนดสัดส่วนอาคารจากภายนอก และฟังก์ชันภายในมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างลงตัว
MOOD AND TONE
ด้านการเลือกใช้โทนสีผู้ออกแบบตั้งใจใช้วัสดุน้อยชนิดที่สุด เพื่อขับให้ตัวอาคารโดดเด่น และไม่แย่งความสนใจซึ่งกันและกัน สีที่เลือกใช้จึงประกอบด้วยสีน้ำตาลจากไม้สนซีดาร์ที่นำมาปูหลังคาทั้งหมด สีดำจากโครงสร้างเหล็ก และสีเทาจากพื้น และองค์ประกอบอื่น ๆ โดยพระเอกก็คือสีน้ำตาลจากไม้สนซีดาร์ ช่วยขับเน้นให้โครงการมีบรรยากาศแบบรีสอร์ตเด่นชัดขึ้น เพราะไม้นั้นเป็นวัสดุที่คนไทยคุ้นเคยและผูกผัน การใช้ไม้สนซีดาร์จึงช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย และความเป็นกันเองให้สเปซ ส่งเสริมกับฟังก์ชันความเป็นคลับเฮาส์ที่ต้องการให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และสนุกสนานได้เป็นอย่างดี
STRUCTURAL DESIGN
ด้วยรูปลักษณ์ของอาคารที่เป็นทรงสามเหลี่ยมทำให้หากใช้โครงสร้างทั่วไปอย่างคอนกรีตเสริมเหล็ก ไม่อาจตอบโจทย์ด้านการออกแบบได้ โครงสร้างของคลับเฮาส์จึงต้องเป็นโครงสร้างเหล็กทั้งหมด พิเศษด้วยการปรับเสาเหล็กให้เอียงไปในแนวเดียวกับอาคาร นอกจากจะเป็นการท้าทายผู้ออกแบบแล้ว ยังเป็นการท้าทายทีมวิศวกร และผู้รับเหมา เพราะนอกจากการสร้างอาคารที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมขนาดใหญ่สองหลังที่ใกล้กันแล้ว ด้วยมุมมองทำให้อาคารดูใหญ่กว่าปกติ ผู้ออกแบบจึงต้องออกแบบหลังคาทับซ้อนกัน ในสถาปัตยกรรมไทยเรียกการออกแบบลักษณะนี้ว่า ‘ตับ’ (เช่น หลังคาวัดที่มีการซ้อนกันหลายชั้น) เพื่อช่วยลดทอนความใหญ่ของอาคารให้มีสัดส่วนสวยงามเหมาะสม เพิ่มความพิเศษด้วยการซ่อนไลท์ติ้งไว้ใต้ชายหลังคาแต่ละชั้น เพื่อสร้างมิติให้อาคารดูสวยงามโดดเด่นยามค่ำคืน และเสริมด้วยการเลือกใช้อะลูมิเนียมคอมโพสิตกรุปิดขอบหลังคาทั้งหมดอีกทีให้ดูเรียบร้อย อีกทั้งตัววัสดุเองยังช่วยเสริมให้อาคารดูเนี้ยบและทันสมัยยิ่งขึ้นด้วย
แน่นอนว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีความยากตั้งแต่การออกแบบในกระดาษ แค่โปรแกรมการออกแบบในคอมพิวเตอร์นั้นคงไม่เพียงพอ จนต้องตัดแบบจำลองสามมิติขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าเห็นมุมมองและภาพรวมอาคารได้อย่างเห็นภาพที่สุด ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และกำลังใจไม่น้อย แต่ผู้ออกแบบก็เปลี่ยนข้อจำกัดเหล่านั้นเป็นความท้าทาย โดยตั้งมาตรฐานเรื่องคุณภาพของงานเป็นสำคัญ จึงทำให้คลับเฮาส์แห่งนี้แล้วเสร็จได้อย่างสมบูรณ์ แต่นอกเหนือจากการเป็นคลับเฮาส์แล้ว อาคารนี้ยังสร้างความแปลกใหม่ในทุกมุมมองให้แก่ผู้ใช้พื้นที่ เพื่อพิสูจน์ว่าความโฉบเฉี่ยวของเส้นสายนั้น สามารถมาพร้อมกับฟังก์ชันได้ในเวลาเดียวกัน
เรื่อง Ektida N.
ภาพ ศุภกร
ผู้ช่วยช่างภาพ ธนวรรณ ฤาษีประสิทธิ์
ออกแบบ Baiyah Studio Co.,Ltd.
โทร.08-7706-2244, 0-2117-3522