ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง npda Studio สตูดิโอออกแบบขนาดย่อม เจ้าของผลงานออกแบบที่โดดเด่นและได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากลมาแล้ว ตามไปขบคิดถึงมุมมองที่เฉียบขาด แตกต่าง เเละผสานแนวคิดการเชื่อมโยงธรรมชาติของมนุษย์เข้ากับสถาปัตยกรรม ที่เขานำมาใช้เป็นหลักในการทำงาน พร้อมประสบการณ์ด้านการออกแบบที่สั่งสมมามากกว่าสองทศวรรษ
เมื่อมองย้อนกลับไปเมล็ดพันธุ์แห่งความหลงใหลในสถาปัตยกรรมของ npda Studio ได้รับการบ่มเพาะจนผลิใบในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำแห่งภาคอีสาน ก่อนที่จะเดินทางไปเติบใหญ่ไกลในอีกซีกโลก และบางทีการบรรจบกันขององค์ความรู้พื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น กับความโมเดิร์นสุดขีดของโลกตะวันตกก็ได้พา npda ไปสู่ความเป็นได้ใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ
จุดเริ่มต้น: ทรัพย์สมบัติ ณ บ้านเกิด
“ผมเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดยุคแรก ๆ ที่มีหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าทำไมอาจารย์ต้องให้เราทำงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เขาได้ทำงานโมเดิร์นหวือหวา แต่เรากลับต้องออกแบบบ้านไทยทรงสามเหลี่ยม มีใต้ถุนสูงให้ลมพัดผ่านไว้เลี้ยงปศุสัตว์ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เลี้ยงวัวแล้ว
“หลังจากนั้นงานออกแบบชิ้นแรก ๆ ของผม ผมเลยอยากเป็นฝรั่ง ถึงขนาดไปเรียนต่อด้าน Digital Fabrication การเรียนในยุคนั้นต้องใช้เครื่อง CNC ในการตัดโมเดลชิ้นงานซึ่งต้นทุนสูง เราก็ต้องกลับมาสนิทกับช่างไทยให้เขาตัดกระดาษทำเป็นโมเดล 1 ต่อ 1 ให้ พอทำงานกับช่างมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เจอองค์ความรู้ที่อยู่กับช่างพื้นถิ่นเราเอง รูปแบบงานเราเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มสนใจเคล็ดลับการก่อสร้างแบบดั้งเดิมของไทยว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบปัจจุบันได้อย่างไร”
“จริง ๆ npda ก็เปรียบได้กับชีวิตผม ซึ่งก็ไม่ต่างจากนิทานเรื่องหนึ่งที่มีเด็กชายอาศัยอยู่กลางทะเลทราย คนเฒ่าคนแก่บอกว่ามีทรัพย์สมบัติอยู่ต่างเมืองที่ต้องฝ่าฟันไปหาให้พบ ปรากฏว่าพอหาหีบสมบัติเจอในนั้นกลับเขียนว่าทรัพย์สมบัติแท้จริงอยู่ที่บ้านเกิด เหมือนกับที่ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนรู้แต่งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เราก็พยายามดั้นด้นไปเรียนต่อถึงอเมริกา แต่สุดท้ายเราก็รู้สึกว่าทรัพย์สมบัติที่แท้จริงนั้นอยู่ที่บ้านเรา แต่หัวใจของเรื่องมันอยู่ที่ว่า ถ้าคุณไม่เคยออกเดินทาง ไม่เคยฝ่าฟัน คุณก็จะไม่รู้อยู่ดีว่าของมีค่าที่สุดนั้นอยู่ที่บ้านของเราเอง”
ปณิธาน: ลงลึกและสั่งสม
“npda ย่อมาจาก New Paradigm of Design and Architecture เราพยายามหากระบวนทัศน์ หรือโมเดลใหม่ ๆ ให้กับการออกแบบสถาปัตยกรรม เพราะเราเชื่อว่าทุกบริบท ทุกปัจจัย คือองค์ประกอบที่จะนำไปสู่รูปแบบงานใหม่ ๆ ได้เสมอ ผมจึงพยายามทำงานออกแบบที่ลงลึกตั้งแต่การออกแบบ เขียนแบบก่อสร้าง สร้างทีมก่อสร้างขึ้นมา เราอยากให้งานสถาปัตยกรรมมีความพิเศษ ตั้งแต่จากมือเรา ไปจนกระทั่งกระบวนการก่อสร้าง แม้แต่รายละเอียดในการลงดีเทล การหล่อปูน การเชื่อมเหล็ก ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ไปทั้งชีวิต”
ความเชื่อ: สถาปัตยกรรมต้องไม่ดัดจริต
“สถาปัตยกรรมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เป็นเหมือนตัวกลางระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ที่จริงมนุษย์เองก็มาจากธรรมชาติ และเราก็โหยหาธรรมชาติอยู่เสมอ สถาปนิกจึงมีหน้าที่ออกแบบตัวกลางนี้ให้ผู้ใช้งานอยู่อย่างมีความสุขกับธรรมชาติ ผมว่าสถาปัตยกรรมต้องดัดจริตให้น้อยที่สุด ดังนั้นความท้าทายคือเราจะหย่อนอาคารแบบไหนที่เหมาะกับพื้นที่ตรงนั้นที่สุด ทั้งเรื่องของการก่อสร้าง การออกแบบที่คำนึงถึงปัจจัยของลมแดดฝน รวมถึงรสนิยมและจริตของผู้อยู่อาศัย
“สังเกตได้ว่าคาเฟ่ ร้านอาหารต่าง ๆ ทุกวันนี้นิยมงานสัจวัสดุ เหล็กดิบ ๆ คอนกรีตเปลือยผิว ทั้งที่มันเป็นรูปแบบจากยุคโมเดิร์นนิสม์อันเป็นผลพวงจากสงครามโลก และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ความขาดแคลนบีบคั้นที่ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมจากระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ผมว่าที่สิ่งเหล่านี้หวนกลับมาเพราะคนเริ่มอิ่มตัว เริ่มไม่ตื่นเต้นอีกแล้วกับงานหวือหวาของงานดีคอนสตรัคชั่น หรืองานสไตล์ดิจิทัลอย่างของ Zaha Hadid
“อย่างไรก็ตามคนเราหลีกหนีธรรมชาติไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของสัจวัสดุ วัสดุที่มาจากธรรมชาติไม่ใช่สิ่งสังเคราะห์ตอบโจทย์คนยุคนี้ที่โหยหาธรรมชาติ การกลับมาครั้งนี้มันจึงไม่ใช่เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่มันกลับมาด้วยความรู้สึกที่เรามีต่อสถาปัตยกรรมในรูปแบบการอยู่อาศัยของเรา”
กระบวนการทำงาน: ออกแบบด้วยสัญชาตญาณ
“ดังนั้นเวลาเริ่มต้นงานพอไปที่พื้นที่ก่อสร้าง ผมจะพยายามใช้สัญชาตญาณจับความรู้สึกว่าแดดว่ามาทางนี้ ลมมาทางนี้ ผู้คนที่นั่นเขาอยู่อย่างไร ช่างแถวนั้นเขาถนัดอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยในการออกแบบของเรา ผมไม่เชื่อเลยที่บางคนบอกว่า ต้องทำตามการค้นคว้าวิจัย สำหรับเราไม่ใช่ว่าการวิจัยจะเท่ากับการออกแบบสถาปัตยกรรมเสมอไป เเม้ตอนที่เราอยู่ต่างประเทศมันมีแผนกวิจัยก็จริง แต่การวิจัยเป็นแค่ข้อมูลประกอบให้กับสถาปนิก และสถาปนิกคือคนตัดสินใจว่า เราจะใช้ข้อมูลตรงนี้มากหรือน้อย มันคือสัญชาตญาณของเรา ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ แล้วผมพยายามออกแบบเหมือนไม่ออกแบบ
“งานสถาปัตยกรรมจึงเป็นสิ่งที่เราหลงรัก เพราะมันคือของจริง ต่อให้เรียนหนังสือเก่ง จบมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลก แต่ว่าพอมาทำงานออกแบบจริง ๆ อาจจะออกมาไม่ดีก็ได้ สเปซอาจจะไม่ดีเสมอไป เพราะมันเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ”
เป้าหมาย: ท้าทายให้ดีกว่าเดิม
“เราท้าทายทุกวันกับงานที่ทำอยู่ เราหมกมุ่นว่าจะทำอย่างไรให้ดียิ่งกว่าที่ผ่านมา ถ้าพูดแบบนักฟุตบอล คือถ้าเราเป็นศูนย์หน้า เราก็ต้องยิงให้เข้าประตู ถ้าไม่เข้าเราก็เฟล
“ทุก ๆ งานคือการนำความรู้ของงานเก่ามาต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ ความรู้เก่าเราก็จะชำนาญขึ้นและมีความรู้ใหม่ขึ้นมาอีก เราจะพบว่าบางทีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปูนดิบนี่หน่า ใช้วัสดุอย่างอื่นก็ให้แสงอีกแบบที่สวยดี แค่นี้เราก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ
“หลายครั้งที่เราพยายามส่งงานประกวด ผมว่ารางวัลก็เหมือนสิ่งที่คนอื่นเขามองว่า เราทำตรงนี้ดีแล้วหรือยัง ทุกครั้งที่ส่งประกวดก็จะตื่นเต้น อยากรู้ว่าคนอื่นมองงานของเราว่าอย่างไร เราจะต่อยอดจากตรงนี้ได้อย่างไร เเต่ถึงจะได้หรือไม่ได้รางวัลก็ไม่ได้ซีเรียส”
เรื่อง: MNSD
ภาพ: นันทิยา
ภาพผลงานจาก: npda Studio
ในนิตยสาร room ฉบับล่าสุดเราได้ชวน คุณณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ มาเป็นนักเขียนรับเชิญในคอลัมน์ “GUEST room” ให้ทุกคนได้อ่านความคิดของเขาในอีกมุมมองที่กลั่นผ่านตัวอักษรบนเนื้อกระดาษ อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบแล้ว ชวนอ่านงานเขียนของเขากันต่อได้ในนิตยสาร room #ROUGHandRAW วางแผงแล้ววันนี้
https://www.facebook.com/roomfan/posts/10158155756531419