THE GREEN ISLAND หัวใจของชุมชนชาวเมียนมาร์พลัดถิ่นในตำบลแม่ปะ
The Green Island

THE GREEN ISLAND หัวใจของชุมชนชาวเมียนมาร์พลัดถิ่นในตำบลแม่ปะ จังหวัดตาก

ทีมสถาปนิกจาก Estudio Cavernas ร่วมมือกับ PlayOnside สร้างพื้นที่อเนกประสงค์ในชื่อว่า The Green Island ขึ้นเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนผู้อพยพชาวเมียนมาร์ในจังหวัดตาก

บนพื้นที่ใจกลางสถานีกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครแม่สอด ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีชุมชนเล็ก ๆ ของชาวเมียนมาร์ ซึ่งถูกปฏิเสธการเข้าถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ อพยพมาตั้งรกรากกว่า 400 ชีวิต โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขามีรายได้จากการคัดแยกพลาสติกจากองขยะขาย

ในขณะเดียวกัน นับเป็นเวลากว่าสองปีเต็มที่ Estudio Cavernas ได้เข้ามาฝึกอบรมสมาชิกในชุมชนแห่งนี้ ให้มีความรู้ความสามารถและเทคนิคในการก่อสร้าง รวมถึงรู้จักพลิกแพลงวัสดุพื้นถิ่นที่หาได้ง่ายมาใช้สำหรับการพัฒนาชุมชนของตัวเองอย่างยั่งยืน

The Green Island

และเมื่อพวกเขาได้รับงบประมาณสนับสนุนสำหรับการสร้างพื้นที่แห่งโอกาส ทีมงานของ Estudio Cavernas จึงร่วมมือกับ PlayOnside ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนและสร้างความเท่าเทียมโดยไม่จำกัดเพศหรือชาติพันธุ์ผ่านการเล่นกีฬา สร้างพื้นที่อเนกประสงค์ในชื่อว่า “The Green Island” ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน

The Green Island

ศูนย์เรียนรู้ในชุมชนที่ผู้พลัดถิ่นทุกคนเสมือนเป็นเจ้าของร่วมกัน

เพื่อสร้างการเข้าถึงโอกาสอันหลากหลายของเหล่าเยาวชนในชุมชนแห่งนี้ Estudio Cavernas จึงตั้งใจสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้และเล่นสนุกไปพร้อมกัน ผ่านการออกแบบห้องเรียนรู้ในอาคาร และห้องเรียนรู้กลางแจ้ง เริ่มจากอาคารหลังใหญ่ที่ออกแบบพื้นที่ให้เกิดความยืดหยุ่นและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสิ่งของ โดยมีตู้อเนกประสงค์เคลื่อนที่ซึ่งติดตั้งมาพร้อมกระดานไวท์บอร์ด ทำหน้าที่เป็นทั้งพาร์ทิชั่นและสื่อการสอนในตัว มีศาลาหลังเล็กเป็นที่รวมกลุ่มหลบร้อนเล่นสนุกกับเพื่อนร่วมชุมชน และมีสนามฟุตบอลที่เป็นลานกว้างไว้ออกกำลังหรือจับกลุ่มทำกิจกรรมที่สร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในชุมชนได้เป็นอย่างดี

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่สอดรับกับบริบท

ด้วยบริบทพื้นที่อันเป็นเขตโล่งแจ้งและมีสภาพอากาศที่รุนแรงในฤดูร้อนและช่วงมรสุม ฐานรากของอาคารอเนกประสงค์จึงเลือกใช้โครงเหล็กกล่องเสาละหนึ่งคู่ยึดกับโครงไม้ ยกให้สูงเหนือพื้นเพื่อเลี่ยงการกัดเซาะของน้ำที่ไหลหลากในช่วงฤดูมรสุม ตัวอาคารใช้ไม้แปรรูปจากไม้ซุงที่ได้รับการจดสิทธิบัตรสำหรับงานโครงสร้างและพื้น

The Green Island The Green Island

พวกเขายังออกแบบหลังคาให้มีความลาดเอียงต่ำ เพื่อช่วยปกป้องอาคารจากปริมาณของน้ำฝนในช่วงฤดูฝน มุงหลังคาสองชั้นด้วยแผ่นเหล็กเคลือบอลูมิเนียมด้านล่าง วางโครงไม้ยูคาลิปตัสพาดให้เกิดระยะห่างให้อากาศถ่ายเท และปิดทับอีกชั้นด้วยตับจากที่ยึดไว้กับโครงไม้ยูคาลิปตัส เพื่อช่วยสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็เว้นช่องเปิดขนาดใหญ่ทั้งสามด้าน เพื่อสร้างทางระบายอากาศและให้เป็นที่อยู่ของแสงธรรมชาติ

พร้อมกันนี้ยังฝังระบบระบายน้ำแบบ French Drain ในราคาประหยัดไว้ใต้ดิน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขัง โดยมีต้นสักและต้นไม้ใหญ่ทางฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอาคารเป็นแนวป้องกันความร้อนอีกหนึ่งแรง

The Green Island

ในอาณาบริเวณโดยรอบศูนย์เรียนรู้ยังมีแปลงผักสวนครัวและผลไม้ที่นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตอาหารเสิร์ฟคนในชุมชนแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นห้องเรียนเกษตรในพื้นที่จริง ซึ่งเด็ก ๆ จะได้รับการสอนหลักการปลูกผักขั้นพื้นฐานด้วยตัวเองไปในตัว

ผลลัพธ์จากความร่วมมือ

จากวันแรกที่ครอบครัวผู้อพยพกว่า 20 หลังคาเรือนได้สร้างที่อยู่อาศัยของตนเองขึ้นรอบเกาะสีเขียว จวบจนวันนี้ที่ The Green Island ผู้มาทีหลังถือกำเนิดขึ้น ศูนย์กลางของชุมชนแห่งนี้เปรียบได้กับสัญลักษณ์ในเชิงการพัฒนาพื้นที่ ที่เกิดจากความร่วมมือของผู้สนับสนุน นักออกแบบ และคนในชุมชนเอง อาจกล่าวได้ว่า ที่นี่คือสถานที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม และทุกคนก็เป็นเจ้าของร่วมกันโดยแท้จริง

The Green Island

Plan and Section Drawing

The Green Island
DETAIL
The Green Island
ISOMETRIC
The Green Island
ELEVATION
The Green Island
LONG SECTION
The Green Island
SHORT SECTION
The Green Island
PLAN

สถาปนิกโครงการ: Juan Cuevas, Yago Cuevas และ  Denis Amirtharaj
ควบคุมงานก่อสร้าง:  Estudio Cavernas
Collaborators: Les frères Molcard

งบประมาณ: 14,800 ยูโร (ราว 500,000 บาท) ได้รับการสนับสนุนจาก Playonside Org. , Estudio Cavernas และ Siemens Gamesa

พื้นที่โครงการ:  Intervention – 1,590 ตรม.
Community Center – 57 ตรม.

เรื่อง:  Kara Demilio
เรียบเรียง: ND24
ภาพ:  Denis Amirtharaj