ท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ ระบบนิเวศของเราก็กำลังตกอยู่ในอันตราย และหนึ่งในสาเหตุสำคัญก็มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกว่า 1 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกเกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสำหรับประชากรทั่วโลก ดังนั้น ในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่ง Spirulina Society เชื่อว่าเราสามารถมีส่วนช่วยดูแลโลกได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต และการบริโภคอาหารในชีวิตประจำวัน
ตามคำแนะนำของสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) สาหร่ายเกลียวทอง หรือ สไปรูลิน่า (Spirulina) ถือเป็นอาหารชั้นยอด เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ นับเป็นแหล่งโปรตีนจากพืชที่สมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น Spirulina Society สไปรูลิน่า ยังสามารถเพาะเลี้ยงในบ้านได้ในต้นทุนต่ำ ใช้น้ำและพื้นที่น้อย เพียงแค่มีการสังเคราะห์แสงในสภาวะที่เหมาะสม เราก็สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวัน ถือเป็นอาหารทางเลือกที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดขึ้นจากการผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้
ชุดอุปกรณ์เพาะเลี้ยงสไปรูลิน่าของ Spirulina Society ออกแบบโดย อัญญา เมืองโคตร มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบการเพาะปลูกที่ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพสำหรับวิถีชีวิตคนเมือง ให้ทุกคนสามารถผลิตอาหารได้ด้วยตัวเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการผลิตของเสีย และผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดไฟล์โมเดล 3 มิติ และติดต่อกับผู้ผลิตในท้องถิ่น เพื่อผลิตชุดอุปกรณ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเป็นการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) ทำให้เกิดของเสียน้อยลง และใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังไร้ควันพิษ ในกระบวนการผลิตใช้วัสดุพลาสติกชีวภาพ (PLA) สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ
โครงการนี้ส่งเสริมการผลิตในท้องถิ่น และการผลิตตามความต้องการของผู้ใช้ โดยเปลี่ยนจากรูปแบบของการผลิตสินค้าจำนวนมากในโรงงานแห่งเดียว มาเป็นการกระจายการผลิตแทน ซึ่งให้ความสำคัญกับการเคลื่อนย้ายของข้อมูล (ไฟล์โมเดล 3 มิติ) และการใช้ห่วงโซ่อุปทานของวัสดุในท้องถิ่น โดยผู้ใช้งานสามารถศึกษาวิธีใช้ และคำแนะนำต่าง ๆ ผ่านคู่มือในเว็บไซต์ www.spirulinasociety.org
ภาพ Spirulina Society
เรื่อง dsnm