“หุ่น | ไร่ | กา ท้องนาบ้านย่า” ที่พักและ คาเฟ่พิษณุโลก เปิดใหม่ แถมยังเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ธรรมชาติ เล่นโคลน เลี้ยงไก่ และเลี้ยงปลาท่ามกลางบรรยากาศสงบเงียบ ที่ตั้งอยู่อย่างกลมกลืนกับผืนนา เปรียบดั่ง “หุ่นไล่กา” ที่มาในรูปแบบสถาปัตยกรรมดีไซน์เรียบง่าย แต่มีเสน่ห์แบบบ้าน ๆ ในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม และคาดเดาถึงสิ่งที่จะได้พบเจอ เมื่อก้าวผ่านกำแพงสูงตระหง่านเข้ามาสู่พื้นที่ของรีสอร์ต ซึ่งมีความพิเศษมากกว่าเพียงแค่วิวทุ่งนา หุ่น|ไร่|กา
ท่ามกลางท้องทุ่งที่บ้างก็แปรเปลี่ยนเป็นสีเขียวขจี บ้างก็แปรเปลี่ยนเป็นสีทองอร่าม ตามการผันเปลี่ยนของฤดูกาลในการทำเกษตรกรรมของชาวนาในละแวกพื้นที่ ด้วยบริบทที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ กลิ่นอายชนบทในตำบลมะขามสูง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นจุดเริ่มต้นของ คาเฟ่พิษณุโลก แห่งนี้ หุ่น|ไร่|กา
ความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมของที่นี่ เจ้าของโครงการและผู้ออกแบบตั้งใจให้มันเป็นดั่ง “หุ่นไล่กา” กลางทุ่ง ที่กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามและตีความสิ่งปลูกสร้างฝีมือมนุษย์ในอ้อมอกธรรมชาตินี้ในมุมที่ต่างออกไปจากความคุ้นชินที่ผู้ออกแบบมองว่า ในบางครั้งภาพของทุ่งนาเบื้องหน้าก็อาจไม่ได้ทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับมันมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กต่างจังหวัดที่โตมากับบริบทเหล่านี้และมองเห็นมันอยู่ในทุก ๆ วัน
“โครงการนี้เริ่มต้นจากการได้รับรู้ถึงพลังความตั้งใจและความคาดหวังจากเจ้าของโครงการ ว่าต้องการอะไรบางอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้จากเรา” ผู้ออกแบบอธิบาย “และโชคดีมากที่เจ้าของโครงการมีความเชื่อเดียวกับเรา”
“เมื่อได้เห็นแบบร่างเบื้องต้น บริบทที่เรียบง่าย คุ้นตา ทําให้เราต้องค้นหาสิ่งที่ต่างจากที่เราเห็นทั่วไป เราตั้งใจให้มีบางสิ่งในทุ่งนาเขียวๆ กว้างๆ ฟ้าสวยๆ เรามองหาสิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงมาเป็นประเด็นหลักในการออกแบบ หุ่น | ไร่ | กา”
“เรามองว่าหุ่นไล่กาเป็นสิ่งแปลกปลอมในทุ่งนาที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา หุ่นไล่กาไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น มันคือสิ่งที่ฝังตัวอยู่กับทุ่งนาจนเราเห็นเป็นความเคยชิน และเข้าใจว่าเป็นองค์ประกอบแรกๆ ของทุ่งนา เราจึงหยิบเรื่องราวของหุ่นไล่กามาเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบ”
“ตัวสถาปัตยกรรม เราแทนค่าของหุ่นไล่กาด้วยเพลน เรามองลักษณะทางกายภาพของหุ่นไล่กาในท้องทุ่งเป็นอย่างนั้น มองแบบตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน ในการเริ่มต้น พอเพลนมาวางคู่กัน 2 เพลนก็เกิดเป็นตัวสถาปัตยกรรม เรากําหนดให้ตัวอาคารมีความเรียบง่ายที่สุด ลดทอนรายละเอียดให้มากที่สุด และด้วยสัดส่วนที่เรากําหนดขึ้นมา มันก็ค่อนข้างแปลกตาเมื่อวางเพลนลงไปในท้องทุ่งนา”
หุ่น | ไร่ | กา แบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรกคือรีสอร์ตจํานวน 4 ห้อง ต่อเนื่องมาถึงตัวคาเฟ่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผู้ออกแบบได้รับเพิ่มเติมจากเจ้าของโครงการในภายหลัง
“เรามองว่าจะเล่าเรื่องเดิมให้มีความเกี่ยวเนื่องกันแต่ต้องมีความโดดเด่นมาก กว่าเดิม เพลนขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับบริบทของท้องทุ่งนา ส่วนหน้าโครงการวางตัวลงตามแนวแกนที่เราออกแบบไว้ว่า ต้องการให้ผู้เข้ามาโครงการค่อย ๆ เห็นสิ่งที่เราพยายามจะเล่า เราไม่อยากให้คนที่เข้ามาหน้าโครงการเดาออกเลยว่าตัวอาคารทั้งหมดเป็นอย่างไร เราอยากให้คนค่อย ๆ เดินผ่านและเห็นสิ่งที่เราพยายามจะนําเสนอ”
“สุดท้ายปลายทางอย่างไรก็คือภาพของทุ่งนา แต่เราอยากลําดับการเดินของโครงการให้ดูมีอะไรบางอย่างมากกว่าการเดินเข้าคาเฟ่และทุ่งนาปกติ ด้วยความที่ผังของโครงการที่เราวางค่อนข้างอิสระในการเดินในโครงการ ทุกส่วนเดินถึงกันได้หมด เราไม่อยากปิดกั้นการไหลของคน”
“เหมือนเราอยู่คาเฟ่ในเมือง เวลาเราเดินในทุ่งนา เราอยากจะเดินไปไหนก็ได้ ซึ่งมันก็น่าตื่นเต้นเมื่อโครงการสร้างเสร็จ แล้วเราเฝ้าดูการใช้งานอาคารของคนที่เข้ามาในโครงการ อีกส่วนที่เราให้ความสําคัญก็คือรายละเอียดผิวสัมผัสของอาคาร เราอยากให้มันเป็นเส้นสายของทุ่งนา เป็นเส้นสายที่คุ้นชินแต่เรามาเรียบเรียงใหม่”
“กําแพงขนาดใหญ่ที่ใช้บล็อกช่องลมวางตัวสลับไปมา เหมือนกริดที่อยู่ในทุ่งนา ช่วงกลางวันจะอยู่เงียบ ๆ สงบ ๆ ทําหน้าที่เป็นกําแพงที่ให้ร่มเงาและลดการปะทะแสงโดยตรงของตัวอาคาร พอพลบคํ่าก็จะอวดแสงที่ซ่อนอยู่ภายในออกมาให้ชมกันเหมือนตื่นขึ้นหลังจากความเงียบในตอนกลางวัน”
“ส่วนภายในคาเฟ่ เราไม่ต้องการนําเสนอรายละเอียดมาก เราอยากให้บรรยากาศภายในร้านเงียบหายมากที่สุดเพราะ ต้องการให้ความสําคัญกับทุ่งนา จึงเลือกใช้กระจกเงามาเป็นผิวภายในส่วนใหญ่ เพื่อให้สะท้อนบรรยากาศ บริบทรอบนอกเข้ามาสู่ภายในร้าน”
ผู้ออกแบบและเจ้าของโครงการ เปรียบเปรย “หุ่น | ไร่ | กา” คาเฟ่พิษณุโลก แห่งใหม่ เป็นเสมือนลูกสาวกํานัน คือมีความ ทันสมัยนิดๆ เชยหน่อยๆ แต่ก็ยังมีเสน่ห์แบบบ้านๆ ซึ่งผลลัพธ์ในบั้นปลายก็ออกมาสมดังใจในระดับใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดเอาไว้
“สถาปัตยกรรมทําหน้าที่ไว้เพียงส่วนหนึ่ง ที่เหลือเป็นหน้าที่ของธรรมชาติ แสงแดด ลม ฝน ต้นไม้ ทุ่งนา และมนุษย์ จึงจะทําให้ตัวสถาปัตยกรรมนั้นสมบูรณ์ หลายคนที่เข้ามาในโครงการถามว่าไหนคือ หุ่นไล่กา เรามองว่าสถาปัตยกรรมที่เราสร้างขึ้นและคนที่เข้ามาเดินในโครงการนี่แหละคือหุ่นไล่กา ซึ่งพอจะมีคนเข้าใจอยู่บ้าง การทิ้งพื้นที่ให้คิดและจินตนาการต่อกันเอง ก็เป็นความสนุกที่เราคาดเดาไม่ได้”
ที่ตั้ง: ต.มะขามสูง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
https://www.facebook.com/hunraika/
โทร.095-242-5144
เจ้าของ: คุณทวินันท์ ฉิมนาค และคุณภัทรพงษ์ แต่งเนตร
ออกแบบ: ธรรมดา อาร์คิเทค
โดย คุณภูริทัต ชลประทิน, คุณภัทรพงศ์ ผูกเหมาะ, คุณจิรศักดิ์ จุลมณี และคุณขุมทอง ชลประทิน
www.facebook.com/thammada.architect
โทร.086-933-3350
ภาพ: PanoramicStudio