Chickenville หรือ Kokošvaroš ฟาร์มไก่ที่ตั้งอยู่ใน Rakov Potok หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้กับเมือง Samobor ประเทศโครเอเชีย โครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นมาเพื่อการศึกษาอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของ ฟาร์มไก่ โครงการนี้มาจากความตระหนักได้ว่า เด็กก่อนวัยเรียนในท้องถิ่นนั้นไม่รู้ว่า “ไข่มาจากไหน” ซึ่งน่าแปลกใจมากเนื่องจากที่นี่เป็นพื้นที่ชนบท ดังนั้นแนวคิดของโครงการก็คือการสร้าง “หมู่บ้าน” เล็ก ๆ ที่มีฟังก์ชันการใช้งานเฉกเช่นที่อยู่อาศัย โดยมีทั้งส่วนเซอร์วิส พลาซ่า เส้นทางสัญจรสำหรับการเดินชม และอาคารสาธารณะเพื่อรองรับผู้มาเยี่ยมชม
ถนนถูกตัดผ่านใจกลางโครงการเชื่อมต่อกับเล้าไก่ที่อยู่รายล้อม ซึ่งถูกล้อมรั้วเอาไว้อีกชั้นเพื่อไม่เป็นการรบกวนการทำฟาร์มสัตว์ปีกขั้นพื้นฐาน พื้นที่ส่วนนี้ของ Chickenville ช่วยให้ผู้เข้าชมและเกษตรกรสามารถเข้ามาให้อาหาร และทำความสะอาดได้สะดวก
ความท้าทายแรกของโครงการ คือการรวบรวมความต้องการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและฟาร์มสำหรับครอบครัวเข้าด้วยกัน ความท้าทายต่อมาคือการออกแบบให้เกิดความร่วมสมัย โดยใช้วัสดุดั้งเดิมและยังคงยึดมั่นในเอกลักษณ์และเสน่ห์ของสุ่มไก่ตามชนบท งานก่อสร้างทั้งหมดเป็นไปตามข้อบังคับที่เข้มงวดในการเลี้ยงสัตว์ปีกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการคัดสรรไก่ การสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ช่วยให้งานของเกษตรกรและการบำรุงรักษาเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้น
ส่วนวัสดุที่ใช้ทำตัวอาคารของฟาร์ม เป็นวัสดุที่หาได้ง่ายราคาไม่เเพงอย่างไม้สน และลวด ภายใต้งบประมาณที่จำกัด โครงการนี้ร่วมกันก่อสร้างขึ้นโดยคนงาน (ที่ผู้ออกแบบระบุว่าเป็น amateur metal workers เลยเสียด้วย) รวมไปถึงเพื่อนบ้าน และตัวผู้ลงทุนเองด้วย นับว่าเป็นการสร้างความท้าทายสำหรับช่างเเละสร้างความแปลกใหม่ให้เเก่ชุมชนย่านนั้นเลยทีเดียว
เมื่อพิจารณาถึงฟังก์ชันและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันทั้งหมด Chickenville ได้แบ่งยูนิตทั้งหมดออกเป็น 3 ประเภท กลุ่มแรกมีแม่ไก่ไข่ 400 ตัว กลุ่มที่สองเป็นไก่กระทง 100 ตัว และกลุ่มที่สามเป็นลูกไก่อีก 30 ตัว พื้นที่ของแม่ไก่และลูกไก่ตั้งอยู่ในใจกลางโครงการ มีการล้อมรั้วมิดชิดและมีพื้นที่กลางแจ้งเป็นของตัวเอง ในขณะที่บ้านของไก่ไข่ถูกวางอยู่ในบล็อก 4 แยกส่วนหนึ่งเป็นบล็อกสำหรับแต่ละสายพันธุ์ตามลำดับ
ยูนิตหลักของโครงการพัฒนาขึ้นเพื่อให้แม่ไก่ได้มีที่ฟักไข่ตามธรรมชาติ โดยบ้านหนึ่งหลังออกแบบมาสำหรับแม่ไก่ 25 ตัว และไก่ตัวผู้หนึ่งตัว โดยแต่ละยูนิตแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่นอนกับพื้นฟักไข่ ขนาดและความสูงของบ้านง่ายต่อการมองเห็นความเคลื่อนไหว อีกทั้งการออกแบบพื้นที่สำหรับการนอนหลับและพักผ่อนของไก่นั้น ยังคำนึงถึงตำแหน่งมุมอาคาร องศาความลาดชัน รวมถึงระยะห่างทั้งแนวตั้งและแนวนอน พื้นผิวด้านใต้และด้านบนอาคาร สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือที่ฟักไข่ของแม่ไก่ต้องเข้าถึงได้ง่ายทั้งสำหรับเกษตรกรและผู้มาเยี่ยมชมได้เห็นวงจรทั้งหมดของไก่ได้ชัดเจน
ส่วนโซนและยูนิตสำหรับแม่ไก่และลูกไก่ในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไก่ไข่บางตัวในอนาคต มีการสร้างรูปแบบอาคารทรงกลมเป็นเหมือนเป็นเกาะกลางถนนที่ล้อมรั้วไว้ เพื่อไม่ให้รบกวนการเดินชมของผู้มาเยือน ทั้งยังป้องกันไม่ให้ผู้มาเยือนรบกวนเเม่ไก่เเละลูกไก่ในระยะประชิดมากจนเกินไปด้วย
ส่วนยูนิตที่เป็นโรงเรือนเลี้ยงไก่ซึ่งไม่ต้องใช้พารามิเตอร์จำนวนมากในการติดตาม ได้สร้างเป็นอาคารกล่องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียบง่าย มีหลังคาลาด และมีพื้นผิวเรียบ การออกแบบสำหรับการเป็นพื้นที่นอนหลับ หลบร้อน และพื้นที่กลางแจ้งครอบคลุมความต้องการหลักของไก่
เนื่องจาก Chickenville เป็นทั้งฟาร์มและโครงการท่องเที่ยวไปด้วยในตัว ผู้ออกแบบจึงสร้างสัญลักษณ์ให้กับอาร์ม ธง ชื่อพลาซ่า และแม้แต่หมายเลขถนนเพิ่มเติมเพื่อให้การปฐมนิเทศผู้เข้าชมง่ายขึ้น นับเป็นไอเดียสำหรับคนที่ต้องการจะผันตัวเองไปเป็นฟาร์มเมอร์ พร้อมกันนั้นยังสามารถทำธุรกิจท่องเที่ยวควบคู่กันไปได้ด้วย ใครสนใจลองหยิบไอเดียบางส่วนไปใช้ น่าจะดีไม่น้อยเลยนะครับ
เจ้าของโครงการ: Željko Franja
ออกแบบ: SKROZ d.o.o.
ทีมออกแบบ ฟาร์มไก่ : Margita Grubiša, Marin Jelčić, Daniela Škarica, Ivana Žalac, Dorotea Klinčić Visual identity: Maša Vukmanović Studio
ภาพ: Bosnić+Dorotić / Marko Mihaljević
เรียบเรียง: ND24