Anandaloy คือศูนย์สำหรับผู้พิการที่มีสตูดิโอขนาดเล็กสำหรับทำงานสิ่งทอรวมอยู่ด้วย ที่นี่โดดเด่นด้วยการก่อสร้างด้วยวัสดุเรียบง่ายอย่าง ดิน และ ไม้ไผ่ ออกแบบโดย Anna Heringer จาก Studio Anna Heringer ซึ่งเธอมีความเชื่อว่า “งานสถาปัตยกรรมคือเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน” เช่นเดียวกับโปรเจ็กต์อื่น ๆ ของเธอที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป แอฟริกา หรือเอเชีย ซึ่งล้วนแต่ใช้วัสดุหาง่ายในท้องถิ่นเป็นหลัก รวมไปถึงอาศัยฝีมือและแรงงานจากช่างท้องถิ่น
เนื่องจากตัวอาคารทำจากดินเหนียวและ ไม้ไผ่ งบประมาณส่วนใหญ่จึงตกไปอยู่ที่ค่าแรงงานของช่างฝีมือหญิง ตัวอาคารนึ้จึงทำหน้าที่เป็นมากกว่างานสถาปัตยกรรม แต่ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาในระดับชุมชน
โครงการนี้คือการนำประสบการณ์จาก 5 โครงการที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ นำมาพัฒนาร่วมกับ Montu Ram Shaw ผู้รับเหมาชาวบังกลาเทศ และทีมทำโครงสร้างดินและไม้ไผ่จากในหมู่บ้าน รวมไปถึงผู้พิการบางคนที่ขอเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ของ Studio Anna Heringer นับเป็นกุญแจสำคัญที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความรู้ด้านการออกแบบและก่อสร้างได้ถูกส่งต่อไปยังผู้คนและชุมชนอย่างหยั่งรากลึก
บ่อยครั้งที่ความเป็นคนพิการของคนบังกลาเทศมักถูกมองว่าเป็นเพราะพวกเขาถูกลงโทษจากพระเจ้า ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ทำให้พวกเขาต้องอยู่กันอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ และถูกทิ้งให้ใช้ชีวิตตามลำพัง ในขณะที่คนอื่น ๆ ในบ้านต้องออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ภายใต้ปัญหาความยากจน พื้นที่สำหรับบำบัดเยียวคนพิการจึงแทบหาได้ยากมาก ยิ่งในพื้นที่ชนบทยิ่งแทบไม่ต้องพูดถึง
ในตอนแรกที่นี่วางแผนให้เป็นเพียงศูนย์บำบัด แต่ในตอนหลังตัดสินใจขยายอาคาร แล้วเพิ่มฟังก์ชันในส่วนของสตูดิโอ Dipdii Textiles ที่อนุญาตให้ช่างตัดเสื้อหญิงในหมู่บ้านได้เข้ามาทำงาน โดยเป็นส่วนหนึ่งและอยู่อาศัยภายใต้การดูแลของ Studio Anna Heringer ที่พยายามผลักดันให้ทุกคนในชุมชนเป็นที่ต้องการและรู้สึกมีคุณค่า ไม่เพียงแต่ผู้พิการเท่านั้น
จุดเด่นของอาคารหลังนี้ คือทางลาดขนาดใหญ่ที่พาดจากชั้นหนึ่ง เอื้อต่อการใช้งานของผู้คนทุกคน แม้ในขณะที่ทำการก่อสร้างจะมีการวิพากษ์วิจารณ์และพูดถึงที่มาที่ไปของทางลาดนี้ รวมไปคำถามว่าจะพัฒนาอาคารให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานอย่างเท่าเทียมกันได้อย่างไรก็ตาม แต่เมื่ออาคารแล้วเสร็จสมบูรณ์คำถามเหล่านั้นจึงถูกคลี่คลาย
ตัวโครงสร้างอาคารเลือกใช้ดินเหนียว แม้ว่าจะดูเป็นวัสดุราคาถูกและไม่ทันสมัยเทียบเท่าการก่ออิฐฉาบปูน แต่ผู้ออกแบบเลือกที่จะนำวัสดุดังกล่าวมาใช้อย่างสร้างสรรค์และดูร่วมสมัยขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพื่อแสดงถึงความสวยงามและประสิทธิภาพของดินโคลน ด้วยเทคนิกการก่อสร้างที่โคลนดินสามารถก่อขึ้นรูปได้โดยไม่ต้องมีไม้แบบ ทั้งยังก่อโค้งได้ง่าย ข้ามข้อจำกัดของผนังห้องสี่เหลี่ยมแบบทั่วไปจนหมดสิ้น
ผลลัพธ์ที่ได้คืออาคารผนังโค้งที่ไม่เหมือนใคร ดูแตกต่างโดดเด่นจากพื้นที่โดยรอบ ความโค้งของอาคารยังช่วยขับให้อาคารมีชีวิตชีวาและดูพริ้วไหว ส่งสารเป็นนัยว่าอาคารแห่งนี้ เป็นเหมือนสัญลักษณ์ความแตกต่างของมนุษย์ที่ไม่เหมือนกัน และความแตกต่างนี้เองคือความมหัศจรรย์
ออกแบบ: Studio Anna Heringer
ภาพ: Kurt Hoerbst, Benjamin Stähli, Stefano Mori and Studio Anna Heringer
เรียบเรียง: BRL