งานออกแบบอาคารของศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียง ที่มีโจทย์ทางด้านการเกษตรเข้ามาเป็นหลักการใช้งานได้อย่างโดดเด่น และยังเกื้อหนุนต่อบริบทโดยรอบได้อย่างน่าชื่นชมผ่านสถาปัตยกรรมแบบ Tropical Modern ที่มีอิฐมอญเป็นองค์ประกอบหลัก
สถาปนิก : VIN VARAVARN ARCHITECTS Ltd.
ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา เป็น อาคารที่มีหลังคาทรงแปลกตา โดยอาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เขาใหญ่ เพื่อรองรับกิจกรรมอบรมที่เกิดขึ้นภายในศูนย์ โดยคุณผึ้ง-พรรณราย พหลโยธิน เป็นผู้ก่อตั้ง จากแนวคิดของอ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร ซึ่งเมื่อสามปีกว่าก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตขึ้น จึงควรมีสถานที่ที่สามารถรองรับผู้คนประมาณหนึ่งพันคน
โดยคุณผึ้งนั้นต้องการให้ผู้ที่เข้ามาภายในศูนย์เรียนรู้ทางด้านการเกษตรนี้ มีความสะดวกสบายมากขึ้นไม่อยู่อย่างลำบากจนเกินไป แต่ต้องอยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน มีความทันสมัยได้ไม่ได้จำกัดรูปแบบจากภาพเดิม
คุณวิน-ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกแห่ง Vin Varavarn Architects ผู้ออกแบบอาคารนี้เล่าถึงโจทย์ครั้งนี้ว่า คุณผึ้งต้องการอาคารที่มีความเรียบง่าย แต่ด้วยโปรแกรมการใช้งานอาคารที่ค่อนข้างมาก อาคารหลังนี้จึงต้องใหญ่พอควร และพื้นที่โดยรวมทั้งหมดของโครงการก็ใหญ่มาก จึงต้องการอาคารสักหลังที่เป็นแลนด์มาร์คให้กับผู้คน ส่วนแนวคิดด้านความพอเพียงก็อาจไม่ต้องตีกรอบว่าต้องอยู่บ้านไม้ไผ่ กระท่อมไม้ที่ดูลำบาก เพราะว่าการดูแลรักษาในระยะยาวก็เป็นสิ่งสำคัญ
โครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตผสมกับเหล็ก ปกคลุมด้วยหลังคาขนาดใหญ่ กรุด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่เรียงเป็นตับ โดยมีการศึกษาเรื่องการระบายอากาศ แสง และความโปร่งของโครงสร้างทั้งหมดก่อนก่อสร้างจริง ไม้ไผ่ที่เห็นดังกล่าวในอนาคตทางศูนย์ก็สามารถซ่อมแซมได้เองตามอายุการใช้งาน เนื่องจากมีปลูกเพื่อรองรับเอาไว้แล้ว
จากการที่หลังคาเป็นหลังคาขนาดใหญ่ จึงเป็นเสมือนพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ยามฝนตกไปด้วยในตัว ช่วงแรกสถาปนิกได้คิดถึงระบบท่อและถังในการเก็บน้ำ แต่เมื่อได้มีการพูดคุยกับคุณผึ้ง จึงเกิดการผสมผสานคลองไส้ไก่ที่ขุดไว้ตลอดแนวน้ำจากชายคาซึ่งลาดลงมา พร้อมกับมีการปลูกสมุนไพรตามแนวคลอง ขุดหลุมขนมครกพักน้ำ และจัดการน้ำตามแนวคิดโคกหนองนาทางการเกษตร ช่วยให้มีการจัดการในส่วนนี้ได้ง่ายขึ้น
ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกคือสีอาคาร ซึ่งเป็นสีของดินในพื้นที่ตรงที่สร้างอาคาร นำมาผสมแล้วฉาบเป็นผนังปล่อยพื้นผิวให้ขุระขระบ้างตามธรรมชาติ ดูสวยงามและมีคุณค่ากับบริบทโดยรอบ
นอกจากนี้ถัดไปเล็กน้อย ยังมีอาคารห้องน้ำที่น่าสนใจไม่แพ้กัน สถาปนิกไม่ต้องการให้ห้องน้ำเป็นจุดด้อยของการใช้งานทั้งหมด เพราะเชื่อว่ากิจกรรมอบรมทางการเกษตร การใช้ห้องน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องทำสนองการล้างตัว ล้างเท้า อาบน้ำ และพักคอย จึงไม่ต้องการให้ผู้มาใช้อึดอัด อยากให้รู้สึกเดินได้รอบอย่างปลอดโปร่ง กลายเป็นการคลี่คลายฟอร์มวงกลมซึ่งเกาะกลุ่มกัน ด้วยการก่ออิฐโดยมีโครงเหล็กคอยช่วยพยุงอยู่ ทดลองให้มีความโค้งและบิดมากขึ้นจากการทำงานร่วมกับช่างซึ่งต่างก็เรียนรู้ซึ่งกันและกันในงานนี้ กลายเป็นรูปทรงแบบไทยๆ คล้ายโอ่งขนาดยักษ์ ช่วยถ่ายเทอากาศได้ดี และยังมีความเป็นส่วนตัวเมื่อเดินเข้าลึกสู่ภายใน แต่มีแสงส่องเข้าได้ตอบโจทย์สุขลักษณะที่ดีของห้องน้ำด้วยคอร์สต้นไม้ในบริเวณอ่างล้างหน้า
นับเป็นงานออกแบบอาคารของศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา ที่มีโจทย์ทางด้านการเกษตรเข้ามาเป็นหลักการใช้งานได้อย่างโดดเด่น และยังเกื้อหนุนต่อบริบทโดยรอบได้อย่างน่าชื่นชมเป็นอย่างมาก
เรื่อง สมัชชา วิราพร
ภาพ ศุภกร ศรีสกุล