แบบบ้านปูนเปลือย : THE ESSENCE OF WABI-SABI ดิบ ๆ แต่ทว่าสง่างาม
เสน่ห์แบบไร้การปรุงแต่งนั้น แม้จะดูเหมือนเป็นเพียงความว่างเปล่าในความนิ่ง แต่ลึก ๆ แล้วกลับมีอะไรอีกมากมายคอยให้เราเข้าไปค้นหา ลองปล่อยใจให้ว่าง แล้วมาร่วมทริปชมบ้านสวยที่ได้รับการผสมผสานทั้งความทันสมัย ความดิบเท่ ดูเรียบง่ายตามแบบสถาปัตยกรรมสไตล์โมเดิร์น ปรัชญาพุทธ ผสมกลิ่นอายสถาปัตยกรรมแบบล้านนา จนกลายเป็นความงดงามแบบวาบิ-ซาบิอันทรงเสน่ห์ กับบ้านของ คุณโหน่ง – ชาตรี ลดาลลิตสกุล และ คุณแหม่ม – กุสุมา ฉันทภาค
ภายใต้รูป แบบบ้านปูนเปลือย สามชั้นสุดเท่หลังนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 170 ตารางวา ประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 2 หลังเชื่อมถึงกัน เมื่อหันหน้าเข้าสู่ตัวบ้าน อาคารฝั่งขวาคือส่วนออฟฟิศ ชั้นล่างใช้เป็นโรงเรียนสอนดนตรีของคุณแหม่มหรือครูแหม่มของเด็ก ๆ ชั้นสองใช้เป็นออฟฟิศของคุณโหน่งหรืออาจารย์โหน่ง สถาปนิกระดับแนวหน้าของเมืองไทย ส่วนอาคารฝั่งซ้ายใช้เป็นส่วนพักอาศัย ชั้นล่างออกแบบให้เป็นโรงจอดรถ ห้องรับแขก ครัวพร้อมส่วนรับประทานอาหาร ห้องเก็บของ และครัวไทยกึ่งภายนอก ด้านบนคือห้องนอนใหญ่ และห้องนอนของน้องต้นส้ม ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่มีพรสวรรค์ทั้งด้านดนตรีและศิลปะ สำหรับลานอเนกประสงค์กลางบ้านจัดให้เป็นส่วนกลางสำหรับทุกคน รวมถึงเด็ก ๆ นักเรียนเปียโนตัวน้อยของครูแหม่มด้วย จุดนี้ถือเป็นไฮไลท์เด่นของบ้านก็ว่าได้ เพราะออกแบบไว้อย่างน่าประทับใจ มีสระน้ำล้นยาวขนานไปกับตัวบ้าน ช่วยเพิ่มความเย็นสบายได้เป็นอย่างดี
“บริเวณนี้ออกแบบด้วยหลักการลมพัดผ่านผิวน้ำ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบสถาปนิก คนทั่วไปอาจไม่รู้ว่าสามารถใช้งานได้จริงๆ เทคนิคนี้เป็นการปรับความเย็นโดยใช้ธรรมชาติ ถือเป็นภูมิปัญญาง่าย ๆ ที่ผมเคยเห็นมาในวัยเด็ก คุณพ่อมักนำกะละมังมาใส่น้ำตั้งไว้หน้าพัดลม พอลมพัดผิวน้ำเข้ามาก็จะทำให้เรารู้สึกเย็นสบาย”
// บ้านนี้ไม่ต้องการความเนี้ยบ เพราะเป็นงานแบบท้องถิ่น
ที่มีงานฝีมือของช่างชาวบ้าน ผสมอยู่ร่วมกับเสน่ห์เนื้อแท้ของวัสดุต่าง ๆ
ให้ความรู้สึกสวยงาม ในตัวของมันเอง โดยที่เราไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก //
เมื่อถามถึงเหตุผลการสร้างบ้านในทำเลที่เงียบสงบเช่นนี้ อาจารย์โหน่งเล่าว่าเพราะชอบโลเกชั่นในหมู่บ้านที่ได้รับการออกแบบโดยเน้นเรื่องภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รอบ ๆ หมู่บ้านจึงมีบรรยากาศร่มรื่น น่าอยู่อาศัย สมกับชื่อหมู่บ้านที่ว่า “ร่มไม้ชายคลอง“ อีกทั้งทางโครงการยังมีการแบ่งขายที่ดินเปล่าให้เจ้าของบ้านสามารถสร้างบ้านเองได้ ตรงตามความต้องการที่อยากอาศัยอยู่ในบ้านที่ตนเองออกแบบ
“ตอนที่เริ่มออกแบบบ้านช่วงแรก ๆ ก็พะวงเกี่ยวกับการตัดสินใจว่าจะเอายังไงดี พอผมถามครูแหม่มว่าจะสอนเปียโนอีกนานไหม ครูแหม่มก็ตอบไม่ได้ พอครูแหม่มถามผมกลับบ้างว่าจะทำออฟฟิศสถาปนิกอีกนานไหม ผมเองก็ตอบไม่ได้เช่นกัน สุดท้ายก็มาลงเอยที่บ้านโฮมออฟฟิศ โดยออกแบบให้เป็นทั้งโรงเรียนสอนเปียโนและออฟฟิศสถาปนิก มีห้องอเนกประสงค์บนชั้น 3 ซึ่งผมตั้งใจจะทำเป็นที่แสดงงานในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นบ้านที่ต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมหลากหลายก็ว่าได้ครับ”
“งานส่วนใหญ่ของผมเน้นไปที่การออกแบบสถาปัตยกรรม มีการตกแต่งน้อยมาก มีกลิ่นอายแบบตะวันออก ส่วนของสะสมมีน้อยชิ้น องค์ประกอบของบ้านจึงดูเรียบๆ”
ส่วนสวนรอบบ้านก็เลือกปลูกต้นไม้ใหญ่และไม้ริมรั้วแล้วปล่อยให้เติบโตเองตามธรรมชาติ อย่างต้นหางนกยูงหน้าบ้านนั้นเป็นไอเดียของครูแหม่มเอง เพราะเธออยากได้ต้นไม้ที่มีรูปทรงสวยและให้ดอกสีสันสดใส เวลาที่ต้นหางนกยูงออกดอกสะพรั่งจะเกิดภาพสวยงามมาก ส่วนไม้ดอกหรือไม้พุ่มต่าง ๆ ครูแหม่มก็เป็นคนหามาปลูกเองภายหลัง บางครั้งเธอก็นำดอกไม้ที่ปลูกในบ้านมาจัดใส่แจกันประดับไว้ตามมุมต่าง ๆ ช่วยสร้างบรรยากาศให้บ้านดูมีชีวิตชีวา นอกจากนี้ บริเวณใกล้ครัวไทยครูแหม่มยังเน้นปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก ชะพลู กะเพรา ถ้าต้องการใช้ก็สามารถเด็ดนำมาปรุงอาหารได้ทันที
“ไม่ได้เน้นรูปแบบอะไรมากนัก เพราะการปลูกต้นไม้เพื่อเน้นความสวยงามกับการปลูกต้นไม้เพื่อให้ความสุขนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นถ้าครูแหม่มอยากปลูกตรงไหนก็ตามใจและให้อิสระเต็มที่ ผมคิดว่าคนธรรมดานั้น พอมาอยู่บ้านแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนะ ตอนออกแบบและก่อสร้างผมก็เป็นคนจัดการทั้งหมด โชคดีตอนที่เขามาเห็นแล้วเขาชอบผมก็มีความสุข”
บ้านหลังนี้ยังมีจุดเด่นอีกอย่างคือ การนำเอาไม้เก่า ทั้งไม้สัก ไม้มะค่า ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ไม้แดง และไม้ประดู่ มาใช้ในการก่อสร้าง ผสมผสานกับการใช้โครงสร้างคอนกรีตหล่อในที่ และไอเดียการตกแต่งแนวสัจวัสดุกลิ่นอายตะวันออก เจือบรรยากาศสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ทั้งยังมีการใช้ทรัพยากรไม้ได้อย่างคุ้มค่า โดยนำเศษไม้เหลือใช้มาตกแต่งด้านหลังประตูทางเข้าบ้าน ผนัง และส่วนอื่น ๆ ช่วยสร้างความกลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกันเข้ากับองค์ประกอบต่าง ๆ ในบ้าน จึงไม่แปลกใจเลยที่บ้านหลังนี้จะเป็นสถานที่สำหรับทัศนศึกษาของน้อง ๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย และเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้องสถาปนิกจากออฟฟิศต่าง ๆ
เราเชื่อว่าศิลปะและความงามทั้งหลายดำรงอยู่ในทุก ๆ ที่ ไม่เว้นแม้แต่ในความว่างเปล่า หรือภายในตัวตนของเราเอง การเสพศิลปะและความงดงามทั้งหลาย เชื่อหรือไม่ว่าสามารถส่งผลให้เรามองเห็นทุกสรรพสิ่งอย่างลึกชึ้งและชัดเจนขึ้น จนหลาย ๆ ครั้งกลายเป็นที่มาของไอเดียการสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับบ้านคอนกรีตเปลือยสุดเท่ของอาจารย์โหน่งหลังนี้ หลังจบทริปเยี่ยมชมบ้านแล้ว คุณล่ะมองเห็นศิลปะ แรงบันดาลใจ และเริ่มตกหลุมรักความงามแบบวาบิ-ซาบิ แล้วหรือยัง
ห้องน้ำในห้องนอนใหญ่วางอ่างอาบน้ำสีดำสำหรับแช่น้ำสไตล์ญี่ปุ่น ทำชั้นวางของตามมุมต่าง ๆ เพื่อรองรับฟังก์ชันการใช้งาน มุมนี้เหมาะนอนแช่น้ำพร้อมชมไม้กระถางฝีมือการจัดวางของครูแหม่มเอง ส่วนด้านบนทำระแนงไม้ นอกจากช่วยกรองแสงแล้ว ยังสร้างลวดลายของเส้นแสงที่แตกต่างตามช่วงเวลา มองแล้วเกิดมิติดูเพลิดเพลินดี