ระบบขนส่งสาธารณะ MAYDAY ผู้รังสรรค์ ป้ายรถเมล์เปลี่ยนเมือง - room

MAYDAY ผู้รังสรรค์ป้ายรถเมล์เปลี่ยนเมือง

ระบบขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกหนึ่งของคนเมืองในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่ระบบขนส่งสาธารณะเหล่านี้ก็มีมากมายหลากรูปแบบ บ่อยครั้งที่การเดินทางเป็นไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่างง! จะขึ้นรถไปต่อเรือ หรือหาสายรถเมล์ที่ถูกต้องช่างยากเหลือเกิน MAYDAY ทีมนักออกแบบที่เรียกได้ว่าเป็น “นักสื่อสาร” จึงลุกขึ้นมาทำให้ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว ทั้งยังเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยผ่านงานออกแบบ และ room ก็ได้มีโอกาสในการพูดคุยกับพวกเขาถึงมุมมองและวิธีคิดเพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะในประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

MAYDAY นักสื่อสารระบบขนส่งสาธารณะ

room : MAYDAY คืออะไร?

MAYDAY : “จริง ๆ คนชอบมองว่า เราเป็นนักออกแบบ แต่มากกว่านั้น เราทำเรื่องการพัฒนาสิ่งที่เป็นสาธารณะของสังคมมากกว่า ผ่านการลงพื้นที่ ทำความเข้าใจ เก็บข้อมูล และทำวิจัย จนปลายทางมันออกมาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ “สาธารณะ” ดีขึ้นได้ ในที่นี้พอเป็นป้ายรถประจำทาง จึงเป็นการพัฒนาให้กับ “ระบบขนส่งสาธารณะ” นั่นเอง”

ระบบขนส่งสาธารณะแบบเชียงใหม่

room : ล่าสุดที่เห็นป้ายรถประจำทางใหม่ของเชียงใหม่ที่ทาง MAYDAY ได้ไปออกแบบไว้ ส่วนตรงนี้คิดว่า ต่างกับกรุงเทพฯ มากน้อยแค่ไหน

MAYDAY : “อย่างในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ทางเชียงใหม่เองเห็นถึงปัญหาคือรถติดและซึ่งเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเรื่องของโลกร้อนเป็นเรื่องที่เป็นกันทั้งโลก แล้วเชียงใหม่ก็ดูจริงจังกับเรื่องนี้มาก พอมีโครงการมาร่วมกับเราด้วยเล็งเห็นว่า ขนส่งมวลชนเป็นขาหนึ่งที่น่าจะช่วยเรื่องลดปัญหารถติด และลดก๊าซเรือนกระจกได้ ก็เลยดึงเราเข้าไปร่วมด้วย นั่นคือที่มาของการที่เราเข้าไปร่วมกับโปรเจ็กต์นี้ เราเองก็อยากพัฒนาไปหลาย ๆ ด้าน และการจัดการกับป้ายเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายที่สุด คือเราไม่ได้มองว่ารถไม่ควรเปลี่ยน การเดินทางไม่ควรเปลี่ยน เส้นทางไม่ควรเปลี่ยน แต่ว่าเมื่อเราเป็นผู้ใช้งานมาตั้งแต่กรุงเทพฯ หรือที่ไหนก็ตาม มันจะรู้เลยว่าระบบทั้งหมดเป็นอย่างไรผ่านป้าย จัดการกับป้ายจึงง่ายที่สุดแล้ว ถ้าไปมองในเรื่องตัวรถ เรื่องการใช้บริการมันใช้เวลาขับเคลื่อนค่อนข้างเยอะ อะไรที่ทำได้เร็ว เราไม่อยากจะรอ ที่เชียงใหม่เราก็ทำป้ายเลย เหมือนที่เราเคยทำที่กรุงเทพฯ เพราะมีปัญหาที่ว่าแต่เดิมรถประจำทางแต่ละเจ้าแยกกันเดินรถก็แยกกันมีป้าย ฉะนั้นจุดเดียวที่จอดเหมือนกันคือจะมีป้ายเหมือนกัน 2-3 ป้าย ก็เป็นเรื่องที่ทับซ้อนกัน

“ที่เชียงใหม่รถประจำทางมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนว่าของรัฐ หรือเอกชน เลขท้ายก็ไม่เหมือนกัน รถก็ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างเดินรถ ต่างคนต่างจอด ไม่มีอะไรร่วมกันเลย พอเราจะมาทำให้ขนส่งเพื่อมวลชนให้ดีขึ้น ลดการใช้รถส่วนตัวลง อย่างแรกที่ควรทำเลยก็คือการรวมกันของป้ายรถเมล์ก่อนจะได้ไม่งง ทำให้ยืนรอรถที่เดียว จะรอสายไหนก็ได้ แต่เชียงใหม่มีรถเมล์ที่วิ่งไม่ได้ครอบคลุมทุกสายขนาดนั้น นับจำนวนรถก็คือน้อยมาก และแทบไม่เคยเห็นกันเลย แต่ข้อดีของมันก็คือรวมป้ายกันได้อยู่แล้ว และถ้ารวมป้ายได้ก็ดีไซน์เสียใหม่ไหม เลยเกิดเป็นเวิร์กชอปว่า ถ้ารวมป้ายแล้วจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน เพราะเราเชื่อว่าจริง ๆ แล้ว คนแต่ละเมืองก็มีความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความอยากจะสร้างสรรค์อะไรในเมืองของตนเองต่างกันไป คำพูดของการเวิร์กชอป คนเชียงใหม่อาจจะไม่เหมือนของคนกรุงเทพฯ เลยก็ได้ ซึ่งพอได้เก็บข้อมูลแล้ว ก็พบว่ามีดีเทลที่ไม่เหมือนกันจริง ๆ ด้วย”

room : แสดงว่าจริง ๆ แล้วป้ายตัวนี้ไม่ได้ไปทำอะไรใหม่ นอกจากการที่ทำให้ทุกคนรู้ว่า 1. มีรถเมล์ให้บริการ 2. ไปที่ไหนบ้าง 3. มีป้ายอยู่ตรงไหนบ้าง แบบนั้นหรือครับ?

MAYDAY : “ใช่ครับ จริง ๆ แล้ว นอกจากรถเมล์ก็พูดถึงรถสองแถวด้วย อย่างตัวป้ายที่มีเป็นเสา มีรูปรถเมล์กับรถกระบะ มันจะบอกเลขรถสองแถว ตามกฎหมายคือต้องวิ่งตามเส้นทาง แต่พอเราไปลงพื้นที่จริงเขาไม่ได้วิ่ง ฉะนั้นมันก็เลยใส่ข้อมูลไม่ได้ และจะมีบางป้ายที่มีรถสีอื่น อย่าง 3 จุด จะมีบางจุดที่รถสองแถวมีประมาณ 4 สาย รถเมล์มีแค่ 2 สาย ที่ผ่านเราก็จะบอกข้อมูลของรถสองแถว เพราะเรามองเป็นระบบขนส่งเดียวกัน คนใช้งานได้เหมือนกัน ก็จะบอกข้อมูลเหมือนกัน อย่างรายละเอียดเส้นทางที่อยู่ในแผนที่ก็เหมือนกันเลย ซึ่งในเบื้องต้น เราคงยังไม่ได้เข้าไปแตะเรื่องการให้บริการ แต่เราไม่ได้หมายความว่า ในเฟสต่อไปเราจะไม่ยุ่งเลย ในระยะแรกที่เราทำข้อมูลเคลียร์กับเทศบาลว่ารวมจุดให้ได้ก่อน เลยยังไม่ได้เข้าไปถึงเรื่องว่ารถแดงจะต้องทำอย่างไร ต้องเรียบเรียงข้อมูลให้เสร็จก่อน ส่วนเรื่องการปฎิบัติหน้าที่เราก็ให้ข้อมูล แล้วองค์การต่าง ๆ อย่างเทศบาลที่มีหน้าที่ร่วมกับเรา ก็นำข้อมูลนั้นไปต่อยอดเอง ถ้าต้องคุยต่อคงเป็นเฟสต่อไป ยังไม่ใช่ส่วนนี้”

ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นทางเลือกหนึ่งของคนเมืองในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  MAYDAY ทีมนักออกแบบที่เรียกได้ว่าเป็น "นักสื่อสาร" จึงเข้ามาช่วยเคลียร์

การสื่อสารทางกราฟิก
ที่มาจากการเก็บข้อมูล
สู่การพัฒนาแผนที่รวบยอดการเดินทางของเมือง

room : เหมือนกับว่าการสื่อสาร การทำความเข้าใจเป็นเรื่องที่สำคัญก่อนการพัฒนาตัวระบบเองเสียอีก

MAYDAY : “ใช่ครับ คือเวลาเก็บข้อมูล หรือทำแบบสอบถาม ผมพยายามจำลองให้เหมือนสถานการณ์จริงว่าเขาจะรู้เรื่องไหม อ่านออกไหม คำถามก็คือจะไปถึงนี้ถูกไหม ไปด้วยสายอะไร ก็คือจำลองสถานการณ์ให้เหมือนจริง เราก็จะเอาผลตรงนั้นมาว่าคนรู้เรื่องไหม เมื่อมันเปลี่ยนรูปแบบการให้ข้อมูล เราก็จะนำฟีดเบ็กกลับมาพัฒนางานต่อ ๆ ไป ซึ่งมันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่บางกอกดีไซน์วีคแล้ว เราทำทุกปี ทำครั้งแรกตั้งแต่ปี 2018 การทำเส้น ๆ หลาย ๆ สี (สไปร์เดอร์แมพ) มันใหม่มากสำหรับกรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่ในต่างประเทศมีมาเป็นร้อยปีแล้ว ตอนนั้นด้วยความที่มันใหม่มากสรุปก็คือหลง อีกอย่างมันเป็นวิธีใหม่สำหรับคนทำด้วยเช่นกัน เราเลยต้องมาเรียนรู้ฟีดเบ็กว่าคนยังไม่เข้าใจตรงนี้ไหม เราปรับแก้ไขตรงไหนได้อีกบ้าง หรือในบริบทป้ายเฟสถัดไปเราต้องปรับสีลง ด้วยวิธีการออกแบบสีที่มันอาจจะเยอะเกินไป เราต้องคุมธีมสีในทุก ๆ เฟสหลังจากนี้ นอกจากนั้นเรายังต้องเก็บทุก ๆ concern and requirement มาพัฒนางานเราเสมอ เชียงใหม่ก็เหมือนกัน ถึงแม้จะทำป้ายมาแล้ว แต่ก็ยังต้องมีแบบสอบถามมาอยู่ดี เพราะว่าด้วยลำดับการให้ข้อมูลหน้าตาไม่ได้เหมือนกรุงเทพฯ เป๊ะขนาดนั้น พอพัฒนาไปเรื่อย ๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นข้อมูลสำหรับพัฒนาตัวระบบไปเองในท้ายที่สุด”

จุดเริ่มต้นของความสนใจ “ระบบขนส่งสาธารณะ”

room : ขอย้อนกลับมาที่ตัวเมย์เดย์ ทำไมถึงสนใจเรื่องระบบสาธารณะ

MAYDAY : “ต้องเริ่มจากว่าด้วยออฟฟิศของเราอยู่ในพื้นที่ของเกาะรัตนโกสินทร์ และในปีแรกที่เราทำงาน มาจากกลุ่มแรกของเราชื่อว่า กลุ่มสาธารณะ มีประมาณ 20 คน ในปัจจุบัน ตอนที่เราเริ่มทำเราก็ทำงานกับเด็กทั้งชุมชนรอบข้างออฟฟิศ เรารู้สึกว่าถ้าพัฒนาคน พัฒนาเด็ก พัฒนาชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจ มันยั่งยืนกว่าการพัฒนาเป็นพื้นที่ที่ผมบอกไป เราว่าสมัยก่อนเดินทางด้วยรถไฟยาก เพราะไม่มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทีนี้พอไปได้แค่รถเมล์ ช่วงที่มีงานสนามหลวงปี 59-60 งานพระบรมศพฯ ตามสถิติคือคนเข้าไปหลาย 10,000 คน ต่อวัน เราเห็นคนหลงทางทุกวัน เราเลยคิดว่ามันทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม ในกลุ่มเล็ก ๆ ของคนสาธารณะก็มีคนสนใจเรื่องรถสาธารณะพอดี เลยรวมกลุ่มคนเหล่านี้มาเป็น MAYDAY ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวกสบายขึ้น เลยไปจับเป็นป้ายรถเมล์ก่อน เพราะว่าทำง่ายและทำได้เลย ถามว่าในอนาคตเราอยากทำมากกว่านี้ไหม เราทำแน่นอน อย่างปีที่แล้ว MAYDAY ก็ทำเรื่องสายรถเมล์ มันคือการปฏิรูปเส้นทางการขนส่งทางบก ทีแรกก็อยากจะเปลี่ยนสายใหม่ แล้วก็พยายามสร้างการมีส่วนร่วม ส่งรีพอร์ตไป แล้วไม่รู้ว่าทางนั้นจะเอาด้วยไหม แต่ด้วยโครงการก็ยังติดขัดอยู่เลยไม่ได้เกิดขึ้น จะชี้ให้เห็นว่าเราไม่ได้อยากทำแค่ป้าย เราอยากทำทำสายรถเมล์ เส้นทางรถ การบริการทุกอย่าง เพราะมันส่งผลถึงกันหมด แต่ก็เริ่มจากป้ายรถเมล์ก่อน”

ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นทางเลือกหนึ่งของคนเมืองในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  MAYDAY ทีมนักออกแบบที่เรียกได้ว่าเป็น "นักสื่อสาร" จึงเข้ามาช่วยเคลียร์

Social Network กับการพัฒนาไปของเมือง

room : แสดงว่าจากเดิมที่เราลงพื้นที่ทำความเข้าใจ ทดลองทำผลงานที่จะเอามาใช้จริง เรียกว่าเป็น Mock up ที่นำมาใช้จริง เราก็รอผลตอบรับแล้วนำกลับไปใช้ใหม่ เหมือนกับตอนนี้ พอมีโลกออนไลน์ช่วยให้สามารถสื่อสารได้สองทางตลอดเวลา ผมรู้สึกว่าการออกแบบเมืองมัน Interactive ขึ้น ใช่ไหมครับ

MAYDAY : “จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะที่เราประกาศหาเวิร์กชอปที่เชียงใหม่ เราไม่จำเป็นต้องไปลงพื้นที่ประกาศหา เราใช้ช่องทางออนไลน์ได้ Connection คนที่อยู่ในเชียงใหม่ หรือว่าเพจดัง ๆ ในเชียงใหม่ เราก็ประชาสัมพันธ์ไป สมมติว่าเรามีกรุ๊ปไลน์เราก็สามารถส่งต่อข้อมูลไปได้ว่าประมาณนี้ อาจจะไม่ได้เหมือนอย่างที่เขาคิดมา เขาโอเคไหมหรืออย่างไร เขาก็จะพิจารณากลับมาว่ามันเป็นหน้าตาอย่างนี้ได้ไหม เอามารวมกันได้อย่างไร กว่าจะออกมาหน้าตาเป็นแบบนี้ ต้องผ่านมาหลายคอนเซ็ปต์และหลายสี ทั้งหมดนี้การเก็บข้อมูลและสื่อสารด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทกับการพัฒนาเมืองในอนาคตพอสมควร มันเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมกันมากกว่าครับ เพราะมีโลกออนไลน์ คนก็มีการถกเถียงกันมากขึ้น มี คอมมูนิตี้มันดีขึ้น”

room : เหมือนโซเชียลมีเดียช่วยประสานคน และทำให้ทุกคนได้พูดในสิ่งที่ตนเองต้องการได้ง่ายขึ้น ถ้าหากว่าเรานำมารวมกันก็สามารถได้เมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วมและมีความสุขขึ้นแบบนั้นหรือเปล่าครับ

MAYDAY : “จริง ๆ อย่างน้อยก็ได้พูดออกมาก็ดีมากแล้ว แล้วค่อยหาทางออกร่วมกัน นอกจากการพูดอาจจะไม่พอ ถ้าไม่มีคนลงมือทำ หรือหาจุดร่วมกัน ก็จะเกิดสิ่งที่ทุกคนในเมืองโอเคไม่ได้ เพราะงานที่เราทำไม่มีใครได้ดั่งใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะกว่ามันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาหาจุดร่วมว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่น ป้ายรถเมล์กรุงเทพฯ ก็ต้องถามว่า เรายังอยากได้ป้ายรถเมล์ที่แมนนวลนี้ไหม ก็ไม่ใช่ หรืออยากได้ป้ายรถเมล์ที่เป็นสองขาไหม ก็ไม่ใช่อีก แต่ถ้าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในวันนี้เลย มันทำอะไรได้บ้าง ก็ต้องมาหาจุดร่วมให้มันเกิดขึ้นได้”

ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นทางเลือกหนึ่งของคนเมืองในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  MAYDAY ทีมนักออกแบบที่เรียกได้ว่าเป็น "นักสื่อสาร" จึงเข้ามาช่วยเคลียร์

ระบบขนส่งสาธารณะกับ Covid-19

ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นทางเลือกหนึ่งของคนเมืองในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  MAYDAY ทีมนักออกแบบที่เรียกได้ว่าเป็น "นักสื่อสาร" จึงเข้ามาช่วยเคลียร์

การประกวดออกแบบศาลารอรถเมล์กรุงเทพฯ

MAYDAY : “อย่างการมีส่วนร่วมเราก็มีงานประกวดที่น่าจะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมืองมากขึ้น นั่นก็คือการประกวดแบบศาลาของกรุงเทพฯ การออกแบบศาลารถเมล์ จากการประกาศผล 20 ทีมสุดท้ายเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้มีการโหวตจนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2564 จุดนี้จะเป็นครั้งแรกที่การออกแบบศาลารอรถเมล์สามารถให้ประชาชนโหวตได้ มีการจัดให้เดินดูว่า รูปแบบที่ออกมาจะหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะผมมองว่าการที่คนไปโหวตจะสร้างการมีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งดีครับ”

โหวตได้ที่ https://mayday.city

เมืองที่ดี เริ่มจากทุกคน

room : สุดท้ายนี้ก็อยากให้ MAYDAY ฝากอะไรกับคนอ่านนิดนึงครับ และอยากรู้ว่าเมืองที่ดี ในมุมมองแบบ MAYDAY เป็นอย่างไร

MAYDAY : “อะไรที่เริ่มต้นทำได้ก็เริ่มเลยจะดีกว่า ค่อย ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตจากสิ่งที่เราทำได้ ที่จัดการกับป้ายรถเมล์ก่อนเพราะว่าเป็นสิ่งที่เข้าไปจัดการได้ง่าย ขนส่งสาธารณะมันดี คุณภาพชีวิตของคนก็จะดี เริ่มทำอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

“ส่วนเมืองที่ดี ถ้าจะให้พูดก็คือคือเมืองที่คนในเมืองมีส่วนร่วมออกแบบเมืองที่เขาอยู่ งานหลาย ๆ งานที่พวกเราทำคืองานที่พวกเราเข้าไปพยายามถามว่าคนในเมืองรู้สึกและคิดอะไร หรืออยากทำในรูปแบบไหน ฉะนั้นมันคือเหตุผลว่า ทำไมเราไม่เอาผลลัพธ์จากการเวิร์กชอปในกรุงเทพฯ ไปสวมที่เชียงใหม่ เพราะเราเชื่อว่าคนแต่ละเมืองมีความต้องการในสิ่งที่ต่างกันทุกวันนี้หลาย ๆ อย่างถูกคิดในแบบ top down มาก ๆ ถ้าไปถึงวันที่คนในเมืองสามารถพูดสิ่งที่เขาต้องการออกมาได้ว่าอยากให้เมืองพัฒนาไปในรูปแบบไหน เมืองก็น่าจะเป็นไปในทิศทางที่คนในเมืองโอเคมากขึ้น และนำไปสู่เมืองที่ดีในรูปแบบที่พวกเขาอยากให้เป็นได้ในที่สุด”


สัมภาษณ์ : Wuthikorn Sut
เอื้อเฟื้อภาพประกอบ : MAYDAY