XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่ที่แทนสมการค่า X ด้วยดีไซน์ ค่า Y ด้วยกาแฟ - room

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่ที่แทนสมการค่า X ด้วยดีไซน์ ค่า Y ด้วยกาแฟ

หากพูดถึงย่านแบริ่ง หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าอยู่แถวไหนของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่อาจรู้จักแค่อ่อนนุช ปุณณวิถี อุดมสุข เรื่อยมาจนบางนา ทั้ง ๆ ที่ถ้าหากเลยมาอีกนิดหน่อยก็จะถึงแบริ่งแล้ว จึงไม่แปลกใจนัก หากหลายคนบอกว่าไม่คุ้น เพราะย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของโรงงานอุตสาหกรรม XXXYYY.OFFICIAL

แต่สำหรับ คุณไนน์-กชพร เปี่ยมราศรี ที่อาศัยอยู่ย่านนี้มาตั้งแต่เด็กจนเคยชิน และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการพัฒนาของย่านในเชิงสร้างสรรค์จึงชวนเพื่อนซี้อย่าง  คุณหลิง-อรวรรณ กอเสรีกุล ที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาเปิดพื้นที่ที่เรียกว่า Project Space ให้เกิดขึ้นผ่านรูปแบบของคาเฟ่ให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้นอย่าง XXXYYY.OFFICIAL

จากความตั้งใจของสองเพื่อนซี้ที่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากทั้งสองได้ลาออกจากออฟฟิศก็มีเวลาทบทวนตัวเองและตกตะกอนถึงสิ่งที่อยากทำจริง ๆ จนมาลงตัวที่การเปิดคาเฟ่ในรูปแบบของพื้นที่แห่งการทดลอง ด้วยความที่คุณไนน์หลงใหลในกาแฟอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ถึงขั้นอยากรู้ตัวผลิต ตัวเมล็ด โรงคั่ว การชง หรือว่าเทคนิคต่าง ๆ ส่วนคุณหลิงเอง ก็เป็นคอกาแฟอยู่แล้ว และมักหาสถานที่นั่งทำงานอยู่เสมอ ๆ การทดลองเปิดพื้นที่แบบที่ตัวเองอยากได้ก็คงเป็นไอเดียที่ดีไม่น้อย

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ

ที่มาของชื่อพื้นที่ชวนสงสัย XXXYYY.Official

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ
คุณหลิง-อรวรรณ กอเสรีกุล (ซ้าย) คุณไนน์-กชพร เปี่ยมราศรี (ขวา)

 “ฟังชันก์ของกาแฟมันคือการ refreshing คนให้ตื่น ให้รู้สึกสดใหม่เหมือนพึ่งเริ่มวัน สเปซมันก็ควรเป็นแบบนั้นไปด้วย กาแฟเหมือน object ร้านกาแฟควรเป็นบรรยากาศที่ push ฟังชันก์นี้ ให้ไปถึงผู้บริโภค  ถ้าเราทำคาเฟ่ ก็ไม่อยากให้เป็นร้านกาแฟที่บรรยากาศหลับ อยากทำทุกอย่างให้มันเป็นแบบตัวเราเอง”- คุณหลิง

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์

“หลังจากออกจากงาน ไนน์ก็ไปเทคคอร์สหนึ่งแล้วมันเป็นคอร์ส Marketing Communication แล้วเขาก็บอกว่า “ถ้าอยากให้คนจำคาแร็คเตอร์ของเราได้ ต้องอธิบายให้ได้ว่า x กับ y ของแบรนด์คืออะไร” ต้องเป็นอะไรที่พอพูดสองอย่างนี้แล้ว ลูกค้าต้องจำได้เลยว่าเราคือใคร”

“ไนน์ชอบคำนี้มาก เลยเอามันมาอยู่ด้วยกัน เป็นชื่อร้านไปเลย” คุณหลิงเสริม

เพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์และตัวตนใหม่จากการดึงประเด็นสองอันขึ้นมาชู โดยสองสิ่งที่ทั้งสองคนเห็นต้องตรงกันคือการมาเจอกันของ “กาแฟ” และ “งานดีไซน์” ที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทั้งคู่ขาดไม่ได้แน่ ๆ โดยสเปซทีจะเกิดขึ้นนี้ไม่อยากให้เป็นเพียงแกลเลอรี่ หรืออาร์ตสเปซ ที่มีคาเฟ่มุมเล็ก ๆ ไว้บริการ แต่อยากให้ความสำคัญกับทั้งสองเรื่องนี้เท่า ๆ กัน

“เหมือนเราจำกัดความ x กับ y ว่าคือ Coffee and project space ไม่ใช่แกลเลอลี่ คือถ้าใครอยากริเริ่มโปรเจ็กต์หนึ่งขึ้นมา อยากทำเอ็กซิบิชัน หรือจะทำเวิร์กชอปก็เป็นไปได้หมดเลย เราสามารถจัดหาทั้งสเปซ และครีเอทีฟเซอร์วิสได้ด้วย เพราะว่าไนน์กับหลิงและเพื่อน ๆ เองก็พร้อมที่จะช่วย เผื่อใครไม่มีทีมในมือ มาตัวเปล่าพร้อมกับไอเดียเราก็พร้อมจะช่วย”

จากคอนเซ็ปต์แบบนามธรรม สู่พื้นที่แบบรูปธรรม

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์
“ชั้นวางของที่ทำหน้าที่เป็นพาร์ทิชั่นภายในตัว สำหรับเป็นชั้นวางของดีไซน์ที่ select ของมาจาก house brand ต่าง ๆ ทั้งจากแบรนด์ของเพื่อน ๆ ที่เราอยากสนับสนุน ซึ่งปกติอจะอยู่ในออนไลน์ หรือว่าย่านที่ไกลจากเรา”

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์

“คือหลัก ๆ เราก็มีความต้องการที่เราอยากได้ คืออยากเสิร์ฟกาแฟที่ดีกับอยากมีพื้นที่เอาไว้บอกเล่าผลงาน เราไปปรึกษา พี่พลอย–พลอยพรรณ ธีรชัย และ พี่เดย์–เดชา อรรจนานันท์ จาก THINKK studio ก่อนหน้านี้ตอนช่วงที่หลิงออกจากงานได้มีโอกาสไปฝึกงานกับพี่เขา  เหมือนได้เรียนรู้วิธีการทำงานมาจากเขาประมาณหนึ่ง และคิดว่าคุยภาษาเดียวกัน เหมือนเขาก็เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการ แล้วแปรมาเป็นงานดีไซน์ในแบบที่เข้าใจกันทั้งคู่ โดยพี่เขาตีความออกมาว่า xxxyyy คือความ disparity หรือความต่างกันมาก ๆ ที่มาอยู่ด้วยกัน ดูจะเข้ากันไม่ได้เลย”

เห็นได้ชัดจากความคอนทราสต์ของเท็กซ์เจอร์ในการตกแต่งภายใน คือพื้นที่ชั้นบนดูเนี้ยบด้วยการทาสีขาว ส่วนด้านล่างทำการแซะสีเก่าออกเพื่อเผยวัสดุจริง แล้วเพิ่มความป็อปด้วยการหยอดสีให้ดูสนุกมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น โดยนิยามว่าเป็นสไตล์ Pop Loft กลายเป็นการผสานความดิบเท่แบบอินดัสเทรียสผ่านการโชว์โครงสร้างเข้ากับความสนุกสนาน มีความรู้สึกเฟรนด์ลี่ ไม่เกร็ง

 ออกแบบให้ทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงได้

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์ XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์ XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์

ด้วยฟังก์ชันของการควบรวมพื้นที่คาเฟ่และพื้นที่จัดแสดงงานเข้าไว้ด้วยกัน การเข้าถึงทุกพื้นที่ไม่เพียงแต่ส่วนของคาเฟ่จึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะพื้นที่ในโซนแกลเลอรี่อาจไม่ใช่ความคุ้นชินของคนไทยนัก แล้วส่วนใหญ่มักเป็นสเปซที่ทำให้รู้เกร็ง หากแต่ทำอย่างไรให้ศิลปะเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง ๆ การออกแบบสเปซจึงเป็น “หัวใจ” ของการเข้าถึงที่ว่านี้

“จากตอนแรกที่เป็นชั้นลอยปกติ  เราได้ทำการต่อเติมวอล์กเวย์ขึ้นมาเพื่อที่จะได้พื้นที่จัดแสดงงานมากขึ้น แล้วก็มีพื้นที่นั่งมากขึ้น  เราเลยบอกพี่เดชัดเจนว่า ถ้าเราแบ่งโซนนิ่งชัดเจน โซนไหนเป็นการแสดงงาน โซนไหนเป็นคาเฟ่ คนก็อาจจะไม่ได้อยากเข้าไป แต่เราอยากให้เป็นแวดล้อมของคนที่มานั่งทานกาแฟด้วย”

ผลลัพธ์ที่ได้คือการออกแบบบรรยากาศให้คนสามารถนั่งดื่มกาแฟท่ามกลางงานดีไซน์ โดยมีต้นไม้เป็นจุดศูนย์กลาง คอยเชื่อมให้ทุกคนรู้สึกสบายใจและนั่งได้นานขึ้น รวมไปถึงพื้นที่บริเวณวอล์กเวย์ด้านบนที่ทำการเพิ่มที่นั่งแบบบาร์ให้คนสามารถขึ้นไปนั่งจิบชิล ๆ หลังเดินผ่านผลงานศิลปะ

สดใสซาบซ่านด้วย “เฟอร์นิเจอร์”

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์ XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์

XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์ XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์ XXXYYY.OFFICIAL คาเฟ่แบริ่ง นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์

สิ่งหนึ่งที่ดึงความสนใจตั้งแต่มาถึงร้านนี้เลยคงหนีไม่พ้นเฟอร์นิเจอร์สีสันสดใสที่มีหน้าตาแทบไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากบ้านของคุณไนน์ที่เป็นโรงงานเหล็กแปรรูปอยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงสามารถทำการทดลองและเล่นสนุกได้มากขึ้นหลังจากพาทีมดีไซน์ไปทัวร์โรงงานเพื่อดูวัตถุดิบเพื่อนำมาสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้เฟอร์นิเจอร์ทุกตัวมีหน้าตาที่แตกต่างกันมาก ส่งผลให้คนที่มารู้สึกสนุก ไม่น่าเบื่อ และสามารถกลับมาเยือนได้อีกเรื่อย ๆ

“ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ ก็ยังเป็นการจับคู่ระหว่าง x กับ y เหมือนกัน ด้วยการหาความเป็นไปได้ของการนำเหล็กไปอยู่กับวัสดุอื่น ไม่ต้องเป็นเหล็กทั้งตัวก็ได้ โดยมีการผสมไม้ หรือผสมไม้หุ้มเบาะ เป็นการทดลองใช้วัสดุที่สนุกดี เช่น ม้านั่งยาวที่ไซซ์ยาวผิดปกติ มันจะเหมือนพวกเก้าอี้มอเตอร์ไซค์วินโฮมเมดที่เขาชอบเอาเหล็กและคานจากวัสดุใกล้ตัวหาได้ง่ายมาต่อประกอบเข้าด้วยกัน พยายามเก็บไอเดียจากบรรยากาศรอบ ๆ ที่นี่ ว่าเขามีชีวิตกันอย่างไร ซึ่งในอนาคตเราก็จะขายเฟอนิเจอร์พวกนี้ด้วย เพราะปกติโรงงานไนน์ก็จะรับเป็นออเดอร์มา มี Active Product ไว้เลยเป็นแคตตาล็อก น่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งให้กับโรงงานเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ดีที่นำเหล็กไปอยู่กับพาร์ทอื่น ๆ”

เปิดตัวโปรเจ็กต์ด้วยนิทรรศการ “It’s XXX with YYY”

“เรามองไว้ตั้งแต่เปิดร้านเลยว่า วันแรกอยากมีนิทรรศการที่จริงจัง ไม่ใช่เป็นแค่  pilot ที่เราหามาเล็ก ๆ ก็คิดว่าไหน ๆ เราก็มีคอนเซ็ปต์ร้านที่มั่นคงให้เอาไปเล่าได้หลายอย่าง คือการนำ xxx มาอยู่กับ yyy ก็เลยตั้งชื่อนิทรรศการว่า It’s xxx with yyy แล้วก็ไปชักชวนเพื่อน ๆ ที่อยู่หลากหลายวงการ ตั้งแต่วิศวะ คนทำฟาร์มสเตย์ กราฟิก ช่างภาพ บอกเขาว่ามานิยาม x กับ y ในแบบของตัวเองหน่อย ในรูปแบบที่ตัวเองสนใจผ่านมีเดียที่ตัวเองถนัด ก็เลยออกมาเป็นชิ้นงานเกือบ 30 งาน แล้วสุดท้ายเราก็มาช่วยกันดิสเพลย์ตามจุดต่าง ๆ”

 สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในเมนูเครื่องดื่มและขนม

การมิกซ์สิ่งของเข้าด้วยกันไม่ได้จบแค่พาร์ทของงานดีไซน์ แต่ยังครอบคลุมไปถึงพาร์ทของเครื่องดื่มและเบเกอรี่ด้วย หากมองผ่าน ๆ อาจจะรับรู้เพียงหน้าตา สีสัน และองค์ประกอบที่ดูเย้ายวนใจ หากแต่ได้ลองกัด ลองเคี้ยว ลองดื่ม ดูจะสัมผัสได้ถึงการผสมผสานของวัตถุดิบที่มากกว่าหนึ่งกันได้อย่างลงตัว

ไม่ว่าจะเป็นเมนูซิกเนเจอร์อย่าง Moulded Coffee ที่ล้อเลียนมาจากวิธีการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ด้วยเทคนิกการขึ้นแม่พิมพ์ โดยจับ2 วัตถุดิบมาเจอกัน คือช็อตกาแฟรสขมด้านบนกับพานาคอตต้านุ่มละมุนรสหวานด้านล่างที่ทิ้งให้เซ็ตตัว เมื่อดื่มพร้อมกันจะให้รสที่กลมกล่อม เป็นความคอนทราสต์ที่ลงตัว

หรือจะเป็น Sip & Crisp เมนูกาแฟดำที่เล่นเรื่องเท็กซ์เจอร์ของวัสดุที่หลากหลายซ้อนเลเยอร์กันประหนึ่งงานดีไซน์ โดยประกอบไปด้วยความต่างของความกรุบกรอบในชั้นบนสุด ไล่ลงมาเป็นฟองนมนุ่มลิ้น แล้วปิดท้ายด้วยกาแฟในชั้นล่างสุด พอยกชิมก็จะได้ทั้งการดื่มและการเคี้ยวไปพร้อม ๆ กัน

รวมไปถึงเมนูเบเกอรี่ในรูปแบบของ Home Bake กับเมนูยอดนิยมอย่าง Lemon Pound Cake ที่เรียกได้ว่าใช้มะนาวแบบครบทุกส่วน เริ่มตั้งแต่เนื้อแป้งด้านล่างที่จะมีกลิ่นมะนาว ท็อปด้วยตัว glaze ที่ราดด้านบนใช้ส่วนผสมของน้ำมะนาวเยอะกว่าปกติ กินแล้วช่วยตัดเลี่ยนได้อย่างดี ตกแต่งด้วย Lemon Candy ซึ่งเมื่อทานพร้อมกันแล้วจะได้รสชาติที่ไม่ได้เป็นหวาน ๆ เกินไป แต่ได้รสเลม่อนแบบจัดเต็ม

Streusel Sour Cream Cake ตัวเค้กวนิลาด้านล่าง ไว้กินเป็น best pair คู่กับกาแฟดีที่สุด
Moussey Brownie
Good Fortune Spark

เราเชื่อที่สุดเลยว่าหากใครได้มาเยือนร้านนี้แม้ว่าคุณจะมีพื้นฐานด้านดีไซน์หรือไม่ ถ้าได้เข้ามาในสเปซนี้แล้วย่อมรับรู้ได้ถึงกลิ่นอายของงานออกแบบที่อบอวลอยู่ทั่วทุกกมุมร้าน ไม่ว่าจะเป็นสเปซ การตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ มุมขายของดีไซน์ ส่วนจัดนิทรรศการ ไปจนถึงเมนูต่าง ๆ ยิ่งถ้าคุณรักในงานดีไซน์อยู่แล้ว คงได้นั่งเพลิน ๆ อยู่ในร้านแบบลืมเวลากันไปเลย ที่สำคัญคือที่แห่งนี้ได้บอกเล่าตัวตนความเป็นอินดัสเทรียลของพื้นที่ “ย่านแบริ่ง” ไปแล้วอย่างแนบเนียน

“ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาแล้วรู้สึกเป็นคำตอบของสิ่งที่กำลังทดลองอยู่ ก็คือว่าคนหมู่มากที่ไม่ได้อินงานดีไซน์ แต่ว่ามาแล้วก็ประทับใจ เขาจะมาถ่ายรูปทหรือมาเดินเล่น เขาก็มีความสุข ซึ่งไนน์ว่าอันนี้น่าจะเป็นจุดสูงสุดของงานดีไซน์เหมือนกันที่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนที่ไม่ได้มีความรู้หรือไม่ได้สนใจในพาร์ทนี้เลย พิสูจน์ให้เห็นว่าเราก็ทำได้ดีอยู่” – คุณไนน์

 

เจ้าของ: คุณกชพร เปี่ยมราศรี และ คุณอรวรรณ กอเสรีกุล
ออกแบบ: THINKK studio


เรื่อง: Woofverine
ภาพ: นันทิยา บุษบงค์
ผู้ช่วยช่างภาพ: หทัยรัตน์

 

RONIN CAPSULE นั่งจิบกาแฟในคาเฟ่กึ่งแกลเลอรี่ของครอบครัวศิลปินสไตล์ซามูไรไร้สังกัด

THE SHOPHOUSE 1527 เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการอยู่อาศัยผ่านร่องรอยในความดิบ