Basic Space Coffee ภาพปัจจุบันอันร่วมสมัยของร้านกาแฟเจ้าเก่าเจ้าเดิมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ BodinChapa Architects ตีความหมายในการออกแบบและปรับปรุงอาคารผ่านการประยุกต์ใช้สิ่งเดิมในบทบาทหน้าที่ใหม่
จริงอยู่ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นนิรันดร์ ทว่ากับการรีโนเวตอาคารเก่าโดยไม่ทอดทิ้งความทรงเดิมไว้เพียงเบื้องหลัง อาจเป็นข้อดีประการหนึ่ง (แต่สำคัญยิ่ง) สำหรับบางสถานที่ โดยเฉพาะถ้าหากที่แห่งนั้นผ่านกาลเวลาที่น่าจดจำมาหลายช่วงอายุคน เรากำลังกล่าวถึงผลงานการออกแบบชิ้นล่าสุดของ BodinChapa Architects กับการเลือกเก็บและนำความทรงจำทรงคุณค่าของร้านกาแฟเจ้าเก่าเจ้าเดิมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตีความหมายผ่านการประยุกต์ใช้สิ่งเดิมในบทบาทหน้าที่ใหม่ ซึ่งกลายมาเป็นภาพปัจจุบันอันร่วมสมัยของ Basic Space Coffee
Basic Space Coffee เป็นร้านกาแฟที่เปิดบริการมาเป็นระยะเวลานาน มีฐานลูกค้าที่หลากหลายและก็ค่อนข้างมั่นคง ทว่าด้วยข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพื้นที่ใช้สอยที่ไม่สามารถรองรับจำนวนลูกค้าได้เต็มศักยภาพของพื้นที่ ทั้ง ๆ ที่ตัวร้านเองนั้นมีศักยภาพทั้งด้านคุณภาพของกาแฟ และทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่หัวมุมถนนเรียบคลองมะขามเรียง ถนนเล็ก ๆ ที่เป็นทางสัญจรหลักสายหนึ่งของเกาะเมืองอยุธยาก็ตาม
ด้วยพื้นที่อาคารเดิมซึ่งขาดการจัดสรรอย่างเหมาะสม ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่เหมือนจะเป็นข้อบังคับกลายๆ ว่าที่นี่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
จากบ้านพักอาศัย ร้านโชว์ห่วย ร้านอาหาร เรื่อยมาจนร้านกาแฟในปัจจุบัน การเปลี่ยนผ่านของการใช้งานพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่อดีต จึงเป็นเหมือนโจทย์ตั้งต้นให้ BodinChapa Architects ผู้ออกแบบนำสิ่งเหล่านั้นมาตีความหมายให้รูปแบบของพื้นที่และประโยชน์ใช้สอยใหม่มีความคล่องตัวมากขึ้น
ผลลัพธ์ของการออกแบบ Basic Space Coffee ในภาพล่าสุด จึงเป็นดั่งเงาสะท้อนของการตีความและเลือกเก็บประวัติศาตร์ของพื้นที่เดิมไว้ ผ่านการออกแบบพื้นที่ใหม่อย่างเรียบง่ายที่สุด เป็น Basic Space ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของคนหลายรุ่น หลายยุคสมัย ทั้งยังเข้าถึงบรรยากาศและใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
ผู้ออกแบบอธิบายว่า “ทุกรูปแบบการใช้พื้นที่ที่ผ่านมาของครอบครัว ส่งต่อไปถึงการเติบโตของพื้นที่และตัวอาคารอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามน้ำพักน้ำแรงที่มีในยุคสมัยนั้นๆ เราจึงเลือกที่จะเก็บประวัติของพื้นที่เหล่านั้นไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นชิ้นส่วนในความทรงจำของครอบครัว และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตอบโจทย์กับการใช้งานในปัจจุบัน เราจึงได้นำรูปแบบและวัสดุใหม่ ๆ เข้ามาผสมผสานกับสิ่งที่พื้นที่นี้มี ให้เกิดรูปแบบดีไซน์ที่สามารถไปต่อได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน”
เริ่มจากกรอบภายนอกของตัวอาคาร ผู้ออกแบบเก็บรักษาโครงหลังคาและวัสดุมุงหลังคาอย่างสังกะสีเอาไว้ เพื่อเป็นตัวแทนหรือภาพจำแรกของร้านที่สำคัญ ต่อมาผู้ออกแบบจึงเลือกการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภายในใหม่ ตั้งแต่การเปลี่ยนฝ้าเรียบตัดตรงเดิมให้เป็นฝ้าลาดเอียงตามลักษณะของหลังคาทรงจั่ว เพื่อเพิ่มมิติให้แกนตั้งของร้านมีพื้นที่โปร่งโล่งยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังเผยให้เห็นโครงสร้างเดิมของอาคารที่มีเสน่ห์ในตัวเอง ประกอบกับเลือกบริบทของชิ้นส่วนเดิมอย่าง ‘โต๊ะไม้ขาสิงห์’ มาปัดฝุ่นใช้งานในรูปแบบที่ต่างออกไป เพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำในอดีต ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านั้นต่างเคยผ่านการใช้งานเป็นส่วนหนึ่งของร้านอาหารมาก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น
ถึงกระนั้นบทบาทหน้าที่ใหม่ของโต๊ะไม้ขาสิงห์ที่เจ้าของร้านต้องการเก็บรักษาไว้ ไม่ใช่การนำไปเป็นโต๊ะกลางตัวใหญ่ไว้รองรับลูกค้าโดยตรงเสียทีเดียว หากมันถูกเลือกใช้และจัดเรียงเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างสรรค์เคาน์เตอร์บาร์กาแฟ ให้มีรูปลักษณ์หน้าตาที่ดูจะไม่ซ้ำใครอีกด้วย
“ชุดโต๊ะเหล่านี้เป็นชุดโต๊ะที่เหล่าคุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านซื้อเก็บไว้ ดังนั้นจึงเป็นชิ้นส่วนในความทรงจำของใครหลาย ๆ คนอีกด้วย ตัวร้านกาแฟถูกล้อมด้วยชุดประตูหน้าต่างไม้ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ซ่อนรายละเอียดเส้นสายที่เป็นเรื่องเดียวกันกับชุดโต๊ะไม้ขาสิงห์”
นอกจากพื้นที่นั่งภายใน เหล่าโต๊ะไม้ขาสิงห์ก็ยังถูกใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักอย่างโต๊ะภายนอกของร้าน รวมไปถึงภายในบ้าน และเป็นไอส์แลนด์ของครัวไทยสำหรับคุณแม่ของเจ้าของร้านอีกด้วย
“ชิ้นส่วนนี้จึงเป็นชิ้นส่วนที่เชื่อมโยงพื้นที่แต่ละส่วนของบ้านให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน พื้นที่นั่งภายนอกของร้านรวมถึงช่องแสงภายในครัวเปิด มุมมองคลองมะขามเรียงซึ่งเป็นคลองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับพื้นที่มาอย่างยาวนาน”
“หากชิ้นส่วนบริบทเดิมที่เราเลือกเก็บสร้างคำถามและบทสนทนาระหว่างคนที่เคยเข้ามาใช้พื้นที่ในแต่ละยุคสมัยได้ ถือว่ารูปแบบของการดีไซน์ได้ตอบโจทย์ในความตั้งใจแรกได้เป็นอย่างดี การเพิ่มวัสดุใหม่เข้ามาในพื้นที่ ไม่ได้เป็นการทำลายเสน่ห์เดิมที่พื้นที่นี้มี แต่เป็นการผลักดันเสน่ห์เดิมให้ไปต่อในยุคสมัยใหม่ได้อย่างยั่งยืน”
Basic Space Coffee คาเฟ่อยุธยา
ที่ตั้ง: หัวมุมถนนบางเอียน ช่วงตัดกับถนนเลียบคลองมะขามเรียง ใกล้กับกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ 07.30 – 16.00 น.
https://www.facebook.com/basicspacecoffee
ออกแบบและก่อสร้าง: BodinChapa Architects
www.bodinchapa.com / IG; bodinchapa_architects
ผลิตประตูและหน้าต่าง: Khethao
เรื่อง: นวภัทร (เขียน/เรียบเรียง)
ภาพ: Rungkit Charoenwat