50 เมตร คือความกว้างของหลังคาโค้งที่พาดช่วงยาวโดยไม่มีเสากลางของสถานีกรุงเทพ คงไม่น่าตื่นเต้นเมื่อเทียบกับสมัยนี้ แต่เมื่อกว่า 105 ปีก่อนนั้น เป็นที่น่าตื่นตาที่สุดแห่งหนึ่งในพระนครเลย และเชื่อไหมว่าโครงสร้างหลังคานี้ยังไม่เคยต้องซ่อมครั้งใหญ่เลยจนปัจจุบัน
สถานีกรุงเทพ ก่อสร้างในยุคสร้างเมืองที่เปิดรับความรู้และเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและศิลปสถาปัตยกรรมจากต่างชาติ จึงมีความผสมผสานและเป็นสิ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้น่าสนใจพอๆกับสถาปัตยกรรมที่เป็นสถานีต้นทาง เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างเส้นทางไปยังหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อรักษาเอกราชในยุคล่าอาณานิคม และเป็นอีกจุดเปลี่ยนของเมือง เมื่อเกิดชุมทางการขนส่งขนาดใหญ่ ณ ทุ่งวัวลำพอง แห่งนี้ มารู้จัก สถานีกรุงเทพ ซึ่งมีรหัสสถานี 1001 ในอีกมุมมองกัน
ลำดับการก่อสร้างและอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของสถานีกรุงเทพ
สถานีกรุงเทพ มีรูปแบบเป็นทรงประทุนเรือ หรือ อาร์คโค้ง หรือ ทรงกระบอกฝ่าซีกสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง วางผังอาคารเป็นรูปตัวอี (E) มีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี มีจุดเด่น คือ กระจกสีช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งติดตั้งกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่า ๆ กับตัวอาคารสถานี มีนาฬิกาเรือนใหญ่ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านในเป็นเอกลักษณ์ เป็นเครื่องบอกเวลาที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น นาฬิกาทั้งสองเรือนถูกสั่งทำพิเศษให้มีไฟส่องสว่างในตัว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหน้าปัด 120 เซนติเมตร และเข็มนาฬิกามีขนาดยาวประมาณ 60 เซนติเมตร
อาคารที่มีอายุมากกว่าชั่วอายุคน และมีผู้คนเข้าใช้งานแบบที่เรียกได้ว่า “สมบุกสมบัน” ที่ไม่ใช่เพียงขนส่งคนโดยสารเท่านั้น ยังเคยเป็นวิธีการขนส่งสินค้าทั้งใหญ่เล็กที่เร็วที่สุดอีกด้วย เป็นอาคารที่ดีไซน์ทันสมัย ทรงคุณค่า และดีไซน์เหล่านั้นยังคงมีให้เห็นอยู่แต่น้อยคนที่จะรู้ บ้านและสวน มีโอกาสได้คุยกับ คุณวรุตม์ กี่จนา สถาปนิกฝ่ายการช่างโยธา การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ทำงานที่นี่มาร่วม 24 ปี มีส่วนในการปรับปรุง และซ่อมบำรุงหลายต่อหลายครั้ง
จากการศึกษาของคุณวรุตม์ ได้สรุปเป็น “โน้ตย่อประวัติทางสถาปัตยกรรมสถานีกรุงเทพ” แบบเข้าใจง่ายๆ โดยสถานีกรุงเทพริเริ่มก่อสร้างปลาย ร.5 พ.ศ.2449 และเริ่มก่อสร้าง พ.ศ.2553 โดยมีการสร้างเป็น 2 ช่วงคือ
ช่วงที่ 1
สร้างอาคารหลังคาโค้งเป็นโถงชานชาลา มีลักษณะโชว์โครงสร้างเหล็กเหล็กทรัสพาดช่วงกว้าง 50 เมตร ยาว 150 เมตร และทำแผงกระจกซึ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น สร้างเสร็จ พ.ศ.2455 แบบร่างโดย นายคาร์ล ดือห์ริ่ง (K.S. D’hring) สถาปนิกชาวเยอรมัน และแบบก่อสร้างโดย นายเกอร์เบอร์ (Mr.Gerber) วิศวกรชาวเยอรมัน
ช่วงที่ 2
สร้างอาคารโถงระเบียงโดยรอบ ออกแบบในปีพ.ศ.2455 โดย มาริโอ ตามานโย (Mr. Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ซึ่งเก่งด้านรายละเอียดงานปั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก ยุคฟื้นฟูเรอเนสซองส์ (Renaissance Revival) สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2459
ดีไซน์ที่ซ่อนอยู่ในสถานีกรุงเทพ
สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นมาล้วนเริ่มต้นบนกระดาษ แต่ด้วยกาลเวลากว่าร้อยปีทำให้แบบก่อสร้างของอาคารเก่าๆมักสูญหาย จึงมีการศึกษารายละเอียดของอาคารอีกครั้ง คุณวรุตน์ เล่าถึง สถานีกรุงเทพ ว่า “แบบก่อสร้างของอาคารเก่าหาไม่ค่อยเจอแล้ว จึงทำการสำรวจ รังวัดและเขียนแบบขึ้นใหม่ มียังหลงเหลืออยู่ที่นี่เป็นบางส่วนของแบบก่อสร้างโรงแรมราชธานี (มีภาพในหัวข้อถัดไป) ส่วนอาคาร สถานีกรุงเทพ นี้เป็นการก่อสร้างที่นำเทคโนโลยีมาจากยุโรปซึ่งคาดว่ามาจากประเทศเยอรมัน โดยใช้โครงสร้างเหล็ก ผนังกระจก และน่าจะเป็นการทำโครงสร้างช่วงเสากว้างโดยไม่มีเสากลางเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตัวอาคารมีการสร้างหลายยุค ซึ่งจากคำบอกเล่าของพนักงานรุ่นเก่าๆ และเทียบเคียงกับอาคารในยุคเดียวกัน จึงสันนิษฐานว่าก่อสร้างฐานรากด้วยระบบฐานแผ่โดยใช้ไม้ซุง เนื่องจากสมัยก่อนไม้เป็นวัสดุที่มีมาก ส่วนโครงสร้างเหล็กน่าจะขนส่งมาเป็นชิ้นๆจากผู้ผลิตแล้วมาประกอบภายหลัง อย่างโครงหลังคาเหล็กโค้ง ถ้าสังเกตจะเป็นชิ้นสั้นๆ ยาว 2.50 เมตรนำมาต่อกัน”
“ผมเคยมีส่วนในการปรับปรุงเมื่อปีพ.ศ. 2559 ได้ขึ้นไปดูหลังคาเดิมซึ่งเป็นหลังคาเหล็กลอนที่หนาหลายมิลลิเมตร ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้ว 100 ปี จึงปรับปรุงโดยไม่ได้รื้อของเดิมออก แต่ใช้วิธีการมุงหลังคาเมทัลชีตของปัจจุบันทับลงไปอีกชั้น ดังนั้นถ้ามองจากภายในอาคาร ท้องหลังคาที่เห็นคือหลังคาดั้งเดิม หลังคาที่เห็นว่าโค้งนั้น จริงๆเป็นการมุงหลังคาโค้ง 4 ระดับ สันนิษฐานว่าเพราะในอดีตไม่สามารถผลิตแผ่นหลังคาเหล็กได้ยาวๆ หรืออาจเพื่อความสะดวกในการขนย้าย จึงทำเป็นแผ่นยาว 5-6 เมตร ปูซ้อนทับกันฝั่งละสี่ช่วง โดยแต่ละช่วงมีการยกปลายหลังคาขึ้นให้เกิดช่องว่าง อาจเพื่อช่วยระบายอากาศหรือเผื่อการขยายตัวของเหล็กเมื่อโดนความร้อน ส่วนตรงกลางหลังคามีการทำสกายไลต์ และช่องระบายอากาศด้านบนเพื่อระบายควันจากรถไฟ”
ข้อสันนิษฐานอิทธิพลของรูปแบบสถาปัตยกรรมสถานีกรุงเทพ
สันนิษฐานว่าการออกแบบ สถานีกรุงเทพ ได้อิทธิพลจากสถานีรถไฟในต่างประเทศ 3 แห่งดังนี้
- สถานีรถไฟแฟรงค์เฟิร์ต อามมาน (Frankfurt Am Main) พ.ศ.2424-2431 สถานีรถไฟในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี
- สถานีรถไฟโรม (Stazione Termini, Rome 1866-1874)
- สถานีรถไฟพอร์ตานูวา ตูริน (Pota Nuova) ออกแบบโดย สถาปนิก คาร์โล เชปปิ (Carlo Ceppi) ซึ่งมีข้อน่าสังเกตคือ เมืองตูรินเป็นบ้านเกิดของ มาริโอ ตามานโย และมาริโอ ตามานโย เคยร่วมงานกับคาร์โล เชปปิ
โรงแรมราชธานี
อาคารโรงแรมราชธานี ออกแบบโดยนายเอ ริกาซซิ (Mr. A. Rigassi) สถาปนิกชาวอิตาลี สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2470 แม้ปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานเป็นส่วนสำนักงาน แต่ยังสามารถจินตนาการได้ถึงความหรูหราจากเสาหินอ่อนและโถงบันไดที่ตกแต่งฝ้าดานไม้ประดับคิ้วบัว หนังสือ 100 ปี สถานีกรุงเทพได้เล่าถึงโรงแรมราชธานีว่า ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวมีมุขยื่นที่ปลายทั้งสอง กว้าง 13.50 เมตร ยาว 130 เมตร แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน ส่วนห้องพักอยู่ตรงกลาง อาคารแบ่งเป็น 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างเป็นส่วนบริการประกอบด้วย ห้องโถงทางเข้าตั้งอยู่ปลายสุดทิศใต้ มีบันไดใหญ่ผังตัวยู (U) แบบ 3 ตอนขึ้นตรงกลางแล้วหมุนกลับแยกซ้ายขวา ติดกับโถงทางเข้าเป็นภัตตาคารขนาดใหญ่ ส่วนกลางอาคารเป็นห้องครัว ที่พักพนักงาน และส่วนบริการซักล้าง พื้นที่ส่วนทิศเหนือเป็นที่ทำการไปรษณีย์ ปลายสุดทิศเหนือเป็นสำนักงานศุลกากรสำหรับตรวจกระเป๋าและหีบห่อที่จะต้องเสียภาษี
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิกที่เรียบง่าย หลังคาทรงปั้นหยามีพนักขอบหลังคาแบบโปร่งประดับลูกกรงล้อมรอบ การตกแต่งภายในอาคารเป็นอย่างเรียบง่าย เน้นการแสดงโครงสร้างคอนกรีตเสาลอยตัว คาน และพื้น ที่หัวเสาตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นรูปดอกกุหลาบศิลปะแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) พื้นห้องโถงและทางเดินปูด้วยกระเบื้องเคลือบบันไดบริเวณห้องโถงปูด้วยแผ่นหินอ่อน
แบบก่อสร้างอายุกว่า 105 ปี ของโรงแรมราชธานีที่ยังเหลืออยู่
การรักษาอาคารให้คงความงาม
คุณวรุตม์ ได้เล่าถึงการบำรุงรักษาอาคารว่า “มีการซ่อมบำรุงแทบทุกปี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องระบบระบายน้ำและการรั่วซึม อย่างในปีพ.ศ.2559 ทำวัสดุคลุมหลังคาใหม่ โดยปูเมทัลชีตทับหลังคาเดิม มีการจ้างวิศวกรมาตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างด้วย อาคารโดยรวมอาจมีการทุรดตัวบ้าง แต่ด้วยโครงสร้างที่เป็นฐานแผ่จึงทรุดอยู่ในระนาบเดียวกัน ในประวัติยังไม่มีโครงสร้างส่วนใดเสียหายหนัก มีแต่ส่วนอาคารข้างเคียงที่เป็นโรงแรมราชธานีเดิมซึ่งมีความชื้นแทรกซึมจากพื้นดินเข้าไปในผนังอาคารทำให้สีบวม จึงได้ทำระบบกันซึมในปีเดียวกัน แผงกระจกที่เห็นเป็นสเตนกลาส ซึ่งเป็นกระจกสีมีการพิมพ์ลายและเสริมตะแกรงลวด จึงค่อนข้างทน มีการแตกน้อย และเปลี่ยนชิ้นที่เสียหายด้วยกระจกสเตนกลาสแบบเดิม”
“สีของอาคารไม่มีข้อมูลว่าสีเดิมเป็นสีอะไร เพราะรูปถ่ายที่มีเป็นขาวดำ อีกทั้งมีการปรับปรุงซ่อมแซมเรื่อยมา ในปัจจุบันเป็นการเทียบเคียงสีเดิมเท่าที่สืบค้นได้ คือ เป็นการใช้สีทูโทนครีม-น้ำตาล ส่วนบนสีครีม ส่วนล่างเป็นสีน้ำตาล ซึ่งน่าจะมาจากการออกแบบสีของตู้โดยสารในอดีตที่ทาสีท่อนล่างเป็นสีน้ำตาล เนื่องจากผู้โดยสารกินหมาก จึงมีการบ้วนน้ำหมากแล้วเปื้อนตัวรถ จึงออกแบบสีให้ดูไม่เลอะเทอะ และเป็นที่มาของสีที่นิยมใช้กับอาคารของการรถไฟ”
ชุมทางการขนส่งที่คับคั่งและใหญ่ที่สุด
รถไฟในอดีตเป็นการขนส่งที่สำคัญที่สุด เพราะเชื่อมต่อเส้นทางไปยังทุกภูมิภาคที่ห่างไกลและประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ด้วยปริมาณการขนส่งที่คับคั่ง ทำให้พื้นที่กว่า 120 ไร่ ที่เรียกว่า “ย่านสถานีกรุงเทพ” เกิดความแออัดเพราะไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ เนื่องจากล้อมรอบด้วยถนนและคลอง โดยทิศใต้จรดถนนพระราม 4 ทิศเหนือจรดคลองมหานาค ทิศตะวันออกจรดถนนรองเมือง และทิศตะวันตกจรดคลองผดุงกรุงเกษม ในปีพ.ศ. 2503 จึงย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ย่านสินค้าพหลโยธิน คุณวรุตม์เล่าว่า “แต่เดิมไม่มีถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม แต่เป็นรางรถไฟซึ่งเป็นย่านขนส่งสินค้า มีรถไฟมาจอด สินค้าก็มาบรรจุข้างคลอง และเป็นที่ทำการรับ-ส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดจอดรถแท๊กซี่ ต่อมาจึงย้ายที่ทำการรับ-ส่งสินค้าไปที่บางซื่อ ซึ่งในอดีตเรียกว่า ย่านสินค้าพหลโยธิน โดยให้สถานีกรุงเทพขนส่งเฉพาะผู้โดยสาร และสินค้าขนาดเล็กที่ขนไปกับตู้โดยสารได้ซึ่งเรียกว่า สัมภาระ จากนั้นได้ยกเลิกย่านสินค้าพหลโยธิน และเปลี่ยนเป็นสถานีกลางบางซื่อในปัจจุบัน”
รู้จัก “ย่านสถานีกรุงเทพ”
ย่านสถานีกรุงเทพ มีพื้นที่กว่า 120 ไร่ เป็นชื่อเรียกพื้นที่ทำการของการรถไฟฯ บริเวณนี้ทั้งหมด ประกอบด้วยหลายส่วน เช่น สถานีกรุงเทพ โรงรถดีเซลรางกรุงเทพ (โรงซ่อมบำรุง) กองกำกับการตำรวจรถไฟ อาคารตึกบัญชาการ (ตึกขาว) สโมสรรถไฟ อาคารพัสดุยศเส (ตึกแดง) ซึ่งมีทั้งที่สร้างในยุดเดียวกับสถานีกรุงเทพและต่อมาหลังจากนั้น มารู้จักอาคาร 4 อาคารในย่านสถานีกรุงเทพกัน
อาคารพัสดุยศเส (ตึกแดง)
อาคาร 3 ชั้น วางแปลนเป็นรูปตัวยู ก่อด้วยอิฐสีแดง ตั้งอยู่ติดกับสะพานยศเส ริมคลองผดุงกรุงเกษม สันนิฐานว่าก่อสร้างในช่วงเวลาใกล้เคียงกับอาคารสถานีกรุงเทพ คือ ปี พ.ศ. 2453 เดิมตัวอาคารด้านเหนือและใต้เป็นสองชั้น มีลิฟท์ที่ใช้ในการขนพัสดุ จำนวน 3 ตัว จุดประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นที่เก็บรวบรวมพัสดุหรือเป็นโกดังเก็บของ รวมถึง วัสดุที่เหลือจากการสร้างอุโมงค์ขุนตานและการก่อสร้างทางสายใต้ มีช่วงเวลาหนึ่งที่รัฐบาลได้รวมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมเข้าด้วยกัน ทำให้อาคารพัสดุยศเส ต้องรับภาระหนักในการเป็นผู้เก็บรักษาเครื่องใช้ต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลทำให้มีการรื้อถอนและต่อเติมอาคารมาแล้วหลายครั้ง ตามความจำเป็น อาคารออกแบบโดยหลวงสุขวัฒน์ ในสมัยที่พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ เป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2471 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2474 และต่อเติมเป็นสามชั้นในปี พ.ศ. 2494 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้จัดตั้งกรมพัสดุแห่งชาติขึ้น โดยใช้อาคาพัสดุรถไฟแห่งนี้เป็นที่ทำการ
ปัจจุบันอาคารพัสดุ แห่งนี้ ใช้เป็นที่ทำการของฝ่าย/สำนักงานต่าง ๆ ของการรถไฟฯ แต่มักจะถูกเรียกตามลักษณะเด่นที่เห็นคือ “ตึกแดง” ตามวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ด้วยความงดงามของโครงสร้างสถาปัตยกรรมอย่างยุโรป แนวผนังก่ออิฐบางบัวทอง ผสมผสานกับบันไดไม้สักแผ่นโตอย่างโบราณ ทำให้อาคารพัสดุยศเสแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร ประจำปี 2549
อาคารตึกบัญชาการ (ตึกขาว)
“กรมรถไฟ” ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟ อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมโยธาธิการ ที่ทำการกรมรถไฟนี้ เดิมเป็นตึก 2 ชั้น อยู่ด้านเหนือสถานีหัวลำโพง ซอยริมคลองตรงข้ามกับวัดเทพศิรินทราวาส ขณะนั้นมี นาย คาร์ล เบ็ทเก (Karl Bethge) หรือ เค เบธเก้ ชาวเยอรมันเป็นเจ้ากรม เป็นเหตุผลให้ชาวรถไฟรุ่นเก่าเรียกที่ทำการรถไฟรุ่นเก่าเรียกที่ทำการรถไฟหลังนี้ว่า “ตึกเบธเก้”
ในปี พ.ศ. 2460 ขณะที่ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมกำแพงเพชรอัครโยธิน มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ พระองค์แรก จึงได้รวมกิจการรถไฟทั้ง 2 กรม คือ กรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าด้วยกัน จากนั้นทรงเล็งเห็นว่าตึกเก่านั้นไม่กว้างขวางพอ จึงก่อสร้างเพิ่มเติมอีกติดต่อกับหลังเก่า ขนานกับทางรถไฟอีกข้างหนึ่ง และขนานกับลำคลองอีกด้านหนึ่ง เป็นรูปตัวยู (U) เมื่อทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้เสร็จฯ มาเปิดและทอดพระเนตรตึกที่ทำการกรมรถไฟ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2462 พร้อมกันนี้ได้เสด็จไปเปิดใช้สถานีจิตรลดาด้วย
ต่อมาราว พ.ศ. 2482 ได้มีการก่อสร้างตึกที่ทำการกรมรถไฟเป็นตึก 3 ชั้น ตามแบบสถาปัตยกรรมทันสมัย ประสานกับตึกที่ทำการเดิม และประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2491 กรมรถไฟได้รับงบประมาณสร้างตึกบัญชาการ เป็นอาคารชั้น 3 บนฐานรากเดิมของตึก 2 ชั้น รูปตัว U มีทางเข้าลอดตัวตึกนี้ และเชื่อมอาคารทั้ง 2 เข้าหากัน แต่แล้วเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2495 เกิดไฟไหม้ที่ตึก 3 ชั้นทางทิศใต้ จึงมีการซ่อมแซมและต่อเติมตึกที่เชื่อม 2 ชั้น ทางด้านตะวันออกให้เป็น 3 ชั้น เหมือนกันหมดทุกด้าน และได้อัญเชิญตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นติดตั้งที่หน้าตึกบัญชาการชั้น 3 และนำตราล้อปีกสัญลักษณ์ของกรมรถไฟติดตั้งที่ชั้น 2 อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่พนักงานรถไฟฯ นับเป็นเกียรติอันสูงสุดของชีวิต เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนิน ณ อาคารตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อทำการเปิดอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
โรงรถดีเซลรางกรุงเทพ (โรงซ่อมบำรุง)
หอสัญญาณสถานีกรุงเทพ(หอควบคมรถไฟเข้าออก)
เปิดไทม์ไลน์ 134 ปี
ความเป็นไปของกิจการรถไฟและสถานีกรุงเทพ 2430-2564
ลำดับเหตุการณ์สำคัญของสถานีกรุงเทพ ที่บอกเล่าทั้งด้านการก่อสร้างและสะท้อนวัฒนธรรม และสังคมในสมัยนั้นโดยย่อ
- พ.ศ.2430 สำรวจพื้นที่เพื่อสร้างทางรถไฟหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชโองการสำรวจพื้นที่เพื่อทำการสร้างทางรถไฟหลวง จากกรุงเทพฯ ถึงเมืองนครเชียงใหม่ โดยเหตุผลที่ต้องสร้างทางรถไฟหลวง เพราะได้รับแรงกดดันจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกโดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งในขณะนั้นกำลังแพร่อิทธิพลไปทั่วทวีปเอเชีย และเข้าปกครองประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐกันชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนโยบายของประเทศในขณะนั้นเป็นไปเพื่อการป้องกันประเทศเป็นหลัก และการก่อสร้างทางรถไฟเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันประเทศ เนื่องจากสามารถลำเลียงทหาร อาวุธและอาหาร ระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดตามแนวชายแดนได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการคมนาคมทางอื่น
- พ.ศ.2433 ประกาศสร้างทางรถไฟสยามและก่อตั้งกรมรถไฟ หลังการสำรวจเส้นทางรถไฟเสร็จสิ้น รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าเส้นทางแรกที่ควรสร้าง คือ เส้นทางกรุงเทพมหานครถึงเมืองนครราชสีมา ในวันที่1 มีนาคม มีพระบรมราชโองการ ประกาศสร้างทางรถไฟสยามจากกรุงเทพมหานครถึงเมืองนครราชสีมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้นในเดือนตุลาคม โดยสังกัดอยู่กับกระทรวงโยธาธิการ มีนาย คาร์ล เบ็ทเก (Karl Bethge) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟคนแรก
- พ.ศ.2434 เริ่มการก่อสร้างรถไฟหลวงในราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม เวลา 17.00 น. เศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์เริ่มการก่อสร้างรถไฟหลวงในราชอาณาจักรไทย ณ ปะรำพิธีที่ฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตรงข้ามวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ปะรำพิธี คือ ตึกบัญชาการการรถไฟแห่งประเทศไทย
- พ.ศ.2439 เปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรก ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร ซึ่งมีระยะทาง 71 กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟหลวงสายนครราชสีมา
- พ.ศ.2443 เปิดทางรถไฟสายนครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟสายนครราชสีมา มีระยะทางทั้งหมด 265 กิโลเมตร
- พ.ศ.2449 กรมรถไฟริเริ่มที่จะสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพใหม่ เพื่อให้มีความทันสมัยและสวยงามเป็นศรีสง่าแก่
พระนคร ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมได้สะดวกมากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้พื้นที่ซึ่งห่างจากสถานีเดิมไปทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร และอยู่ใกล้กับปลายรางรถไฟสายปากน้ำ (อาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อแรกสร้างนั้นเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มี 2 ชานชาลา ตั้งอยู่หลังอาคารที่ทำการกรมรถไฟหลวง) - พ.ศ.2453 เริ่มการก่อสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพ โดยกรมรถไฟได้ว่าจ้างให้นายคาร์ล ดือห์ริ่ง (K.S. D’hring) สถาปนิกชาวเยอรมันเป็นผู้ออกแบบอาคาร แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้แบบของคาร์ล ดือห์ริ่ง ไม่ได้สร้าง แต่กลายเป็นแบบของนายมาริโอ ตามานโญ (Mr. Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ที่ได้รับการพิจารณาให้สร้างแทน โดยการออกแบบได้รับแนวความคิดจากสถานีรถไฟตอนครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ของยุโรปที่ต้องมีหน้าตาสวยงามเพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนครและแสดงถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย
- พ.ศ.2459 เปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน และเวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานี
- พ.ศ.2460 ตั้งกรมรถไฟหลวง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการรถไฟทั้ง 2 กรม คือ กรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าด้วยกัน และเรียกว่า กรมรถไฟหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงพระองค์แรก
- พ.ศ.2468 กรมรถไฟหลวงเปิดโรงแรมชั้นหนึ่งที่วังพญา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เพื่อรองรับชาวต่างชาติ
- พ.ศ.2470 เปิดโรงแรมราชธานี เมื่อวันที่ 24 มกราคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงแรมราชธานี ถือเป็นโรงแรมขนาดเล็กมีจำนวน 10 ห้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีกรุงเทพ แต่มีความทันสมัย ห้องนอนแต่ละห้องมีระเบียงส่วนตัว มีห้องอาบน้ำพร้อมน้ำประปาชนิดร้อนและเย็น พร้อมพัดลมและไฟฟ้า อำนวยความสะดวกแก่ผู้พักซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาด้วยรถไฟ
- พ.ศ.2494 ตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม
- พ.ศ. 2503 ย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ย่านสินค้าพหลโยธิน โดยปรับปรุงให้สถานีกรุงเทพมีภารกิจบริการด้านขนส่ง
มวลชนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากกิจการรถไฟมีการขยายตัวด้านการโดยสารและการขนส่งสินค้ามากขึ้น และไม่สามารถขยายพื้นที่ได้อีก - พ.ศ. 2512 ปิดตัวโรงแรมราชธานี เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับโรงแรมใหม่ๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกได้ดีกว่าทั้งด้านบริการและทำเลที่ตั้ง โดยต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดัดแปลงอาคารโรงแรมราชธานีเพื่อใช้เป็นที่ทำการของกองงานต่างๆ สำนักงานและห้องรับรอง
- พ.ศ. 2513-2540 ปรับปรุงต่อเติมอาคารสถานีรถไฟกรุงเทพอีกหลายครั้ง เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การขยายความยาวของชานชาลา สร้างชานชาลาและหลังคาคลุมชานชาลาเพิ่มเติม ปรับปรุงห้องจำหน่ายตั๋วโดยแยกเป็นห้องจำหน่ายตั๋วประจำวันและห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและร้านค้าต่างๆ สำหรับผู้โดยสารและผู้ที่มารับส่ง เป็นต้น
- พ.ศ. 2541 ปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ 2 ข้างของโถงพักคอยให้เป็นร้านอาหาร ร้านค้าและบริษัทที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว พร้อมสร้างชั้นลอยเพื่อเพิ่มพื้นที่นั่งคอยสำหรับผู้โดยสาร มีการสร้างห้องจำหน่ายตั๋วประจำวันขึ้นใหม่โดยชั้นบนเป็นพื้นที่ทำงานของพนักงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกในการปฏิบัติงาน และเพิ่มพื้นที่ด้านข้างทางทิศตะวันตกของอาคารสำหรับรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น
- พ.ศ. 2547 ติดตั้งระบบปรับอากาศ โดยกั้นผนังกระจกและปรับปรุงอาคารให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
- พ.ศ.2559 ปรับปรุงอาคารในวาระครบรอบ 100 ปี ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานีกรุงเทพ ทั้งด้านใน ด้านนอก และบริเวณรอบตัวอาคารใหม่ทั้งหมด เช่น ปรับปรุงและซ่อมแซมหลังคา พร้อมทั้งต่อเติมหลังคาคลุมบริเวณชานชาลารถไฟด้านนอก ปรับปรุงผนังด้านในและด้านนอก ดาดฟ้า พร้อมทั้งทาสีตัวอาคารใหม่เพื่อความสวยงาม
- พ.ศ.2564 ย้ายสถานีหลัก จากสถานีกรุงเทพ เป็นสถานีกลางบางซื่อ
ขอบคุณข้อมูล : การรถไฟแห่งประเทศไทย
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ศุภกร ศรีสกุล, หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์, การรถไฟแห่งประเทศไทย
UNFOLDING BANGKOK งานแสดงแสงสีเสียงที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถาปัตยกรรมสมัยเรอเนสซองอันทรงคุณค่า
บันทึกภาพ ‘สถานีรถไฟ กรุงเทพ’ ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ตึกแดง-ตึกขาว สำนักงานอายุร้อยปีของการรถไฟฯ
ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag