กว่าหนึ่งทศวรรษมาแล้วที่ Creative Expo Taiwan ได้สร้างชีวิตชีวาให้กับแวดวงการสร้างสรรค์ของเอเชีย และปีนี้ก็นับเป็นครั้งที่ 11 ที่บรรดานักสร้างสรรค์ในหลากหลายสาขาของไต้หวันได้มารวมตัวกันนำเสนอผลงานใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตในธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงวัฒนธรรม งานศิลปหัตถกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบกราฟฟิก อาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปีนี้ room ไม่สามารถเดินทางไปไต้หวันได้ แต่ทางผู้จัดงาน Creative Expo Taiwan
ก็ส่งภาพบรรยากาศมาให้อัพเดตกันแบบเต็มอิ่ม โดยงานนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 – 25 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา นำทีมสร้างสรรค์โดยหัวหน้าภัณฑารักษ์ Lin Kun-Ying ที่นำเสนองานภายใต้ธีม Supermicros ซึ่งหมายถึงการเชื่อมโยงหน่วยเล็กๆ ที่นำไปสู่พลังอันยิ่งใหญ่ สะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน ข้อมูล และความศรัทธา
Lin Kun-Ying เชื่อว่า แม้ไต้หวันจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่มีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ และสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้เศรษฐกิจระดับโลก ไปพร้อมกับการเติบโตในระบอบประชาธิปไตย และยิ่งชาวไต้หวันเชื่อมั่นในวัฒนธรรมของตัวเอง ก็จะยิ่งสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้มากขึ้นอีก
臺灣文博會 Creative Expo Taiwan ครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 หมวดนิทรรศการและงานแสดง ซึ่งจัดขึ้นใน 3 พื้นที่กลางกรุงไทเป ได้แก่ หมวด
CULTURE จัดที่ Huashan 1914 Creative Park หมวด
DESIGN จัดที่ Songshan Cultural and Creative Par และหมวด
LICENSING ที่ Taipei Expo Park – Expo Dome
CULTURE – The Law of Beliefs
Law of Beliefs คือนิทรรศการหลักที่สร้างสรรค์โดย Lin Kun Ying แบ่งออกเป็น 3 โซน เมื่อผู้เข้าชมงานเข้ามาภายในจะพบกับ QR Code ที่สามารถสแกนเพื่อเชื่อมต่อกับ Facebook Messenger Chatbot ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อถามคำถามผู้เข้าชมงาน และนำคำตอบเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อเตรียมข้อมูลนิทรรศการที่เหมาะสมกับความสนใจของแต่ละบุคคล
ส่วนแรกคือ Ritual Hall ที่ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับดวงตาใหญ่ยักษ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งข้อมูล และความศรัทธา ส่วนอีกด้าน แอนิเมชั่นของใบหน้าขนาดใหญ่เป็นตัวแทนของพระเจ้าในตำหนักแห่งความเชื่อ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหลักฐานข้อมูล และความเชื่อความศรัทธา
ส่วนที่สองคือ Co-Creation Palace ที่นี่นำเสนอแง่มุมการเปรียบเทียบระหว่างประสบการณ์จากเหตุผล และอารมณ์ และกระบวนความคิดที่ผู้คนใช้ในการตัดสินใจว่าจะเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ ผู้ชมสามารถเลือกนั่งบนที่นั่งหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นตัวแทนของบทบาทต่างๆ ของชีวิตตั้งแต่เด็กจนโต ณ บริเวณกลางพื้นที่จัดแสดง โดยรอบเป็นเวทีขนาดย่อม 4 จุด ซึ่งมีการแสดงเป็นรอบ รอบละ 30 นาที
ส่วนสุดท้ายคือ Light Palace บรรยากาศภายในตกแต่งเลียนแบบโถงที่ประดับด้วยโคมไฟวัดของลัทธิเต๋า หรือศาสนาพุทธที่พบเห็นได้ทั่วไปในไต้หวัน โดยปรับประยุกต์ให้โมเดิร์นด้วยไฟแอลอีดี เมื่อเข้ามาในส่วนนี้ Chatbot จะประมวลผลออกมาเป็น QR Code ที่ผู้เข้าชมงานสามารถนำไปสแกนบริเวณเคาน์เตอร์ตรงกลาง จากนั้นลำแสงจะนำทางผู้เข้าชมงานไปสู่แท่นวางของบูชา
CULTURE – Craft Land
นิทรรศการที่ชวนสำรวจบทบาทของงานหัตถรรมหรือคราฟต์ในฐานะของสื่อกลางที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม สร้างสรรค์โดย Janet Hsu-Chieh Fang บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร La Vie ไต้หวัน โดยนิทรรศการนี้ตั้งใจจะเชื้อเชิญให้ผู้คนใกล้ชิดกับหัตถกรรมมากขึ้น และหันกลับมามองสิ่งของในชีวิตประจำวันในอีกแง่มุม รื้อสร้างกระบวนการผลิต โครงสร้างสังคม และวัสดุที่อยู่เบื้องหัลงงานคราฟต์เหล่านั้น พื้นที่ภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็น 5 โซน ซึ่งนำเสนอใน 5 แนวคิดที่แตกต่างกัน
ในโซนแรก Heritage Objects นำเสนอการเปรียบเทียบระหว่างผลงานของช่างฝีมือ และผลงานจากเครื่องพิมพ์สามมิติ เน้นย้ำแง่มุมความงามของฝีมือเชิงช่าง และความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม
โซนถัดมาคือ Integrated Objects นำเสนอการผสมผสานระหว่างเทคนิคงานคราฟต์แบบดั้งเดิมกับวัสดุร่วมสมัย ทั้งยังมีเวิร์กช็อปให้ผู้เข้าชมได้ทดลองสร้างสรรค์งานหัตถกรรมด้วยตัวเอง
Cooperative Objects เป็นโซนที่นำเสนอแนวคิดหัตถกรรมผ่านวีดิทัศน์เชิงสารคดีบนผนัง เล่าเรื่องราวของเมืองเล็กๆ ในไต้หวันที่ชาวบ้านทำงานจักสานกกเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนผ่านการค้าที่เป็นธรรม
โซนที่ 4 คือ Diverse Objects จัดแสดงผลงานหัตถกรรมร่วมสมัยในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งผู้เข้าชมงานสามารถสัมผัสอย่างใกล้ชิด เชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมพูดคุยถึงกระบวนการผลิต เทคโนโลยี และหลักการออกแบบที่นำมาประยุกต์ใช้ในงานคราฟต์ร่วมสมัย และโซนสุดท้าย Endangered Objects มีงานศิลปะจัดวางที่สร้างสรรค์ขึ้นจากแคปซูลกาแฟสำเร็จรูปที่ใช้แล้ว ชวนให้ผู้ชมนึกถึงยุค Anthropocence ที่ผู้คนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล และร่วมกันโหวตเพื่ออนาคตของงานหัตถกรรม สะท้อนถึงประสบการณ์ของผู้เข้าชมงานที่ได้มาเยี่ยมเยือนนิทรรศการนี้
CULTURE – Coop of Love
นิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องสโลว์ฟู้ด ดูยั่วเย้าด้วยเมนูเด็ดที่มาคู่กับค็อกเทล ทุกๆ สองวัน เชฟและมิกซ์โซโลจิสต์ระดับโลกในไต้หวันจะร่วมมือกันสร้างสรรค์เมนูอาหารและเครื่องดื่ม 3 เมนูสดใหม่ ผสมผสานรสชาติจากหลากหลายที่มาทั่วโลก หากผู้เข้าร่วมงานที่ยังไม่รู้ว่าจะสั่งอะไรดี สามารถทดลองเล่นเกมตอบคำถามออนไลน์ ซึ่งจะแนะนำเมนูอาหารและค็อกเทลที่ตรงกับความสนใจและความชื่นชอบของพวกเขา
เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งในนิทรรศการทำจากกล่องเปเปอร์มาเช่ที่มีข้อความรักอยู่ด้านใน เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดของอาหารที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความรัก
CULTURE – The Tropic of Cancer
Tropic of Cancer คือเส้นรุ้งที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลก 23 องศา 27 ลิปดาไปทางเหนือ และพาดผ่านไต้หวันตลอดเส้นทางยาวกว่า 2000 กิโลเมตร เส้นทางที่ข้ามหนึ่งห้วงทะเล แม่น้ำอย่างน้อยสามสาย และสี่ทิวเขา จากเกาะทางชายฝั่งตะวันตก ผ่านมณฑลเจียอี้ (Chiayi) และฮวาเหลียน (Hualien) ทางฝั่งตะวันออก ผู้เข้าชมสามารถสำรวจตัวอย่างอาหาร และธรรมชาติที่พบได้ตลอดเส้นทาง นิทรรศการนี้สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินและนักออกแบบ Gan Ke-Ping, Jhao Cian-Wang และ Ling Li-Tseng ตั้งใจนำเสนอความงามของธรรมชาติที่จะช่วยเปิดจินตนาการของทุกคนให้กว้างไกลยิ่งขึ้น พร้อมชวนทุกคนออกไปสำรวจตามเส้นทางบนเส้นสมมุติ Tropic of Cancer ที่สะท้อนความงามของไต้หวัน
นิทรรศการของเจียอี้ คัดสรรมาโดย Wang Jhao-cian และ Zutto Wu ภายใต้ชื่อ “Shine on the Infinity” นำเสนอเรื่องราวการเฉลิมฉลองของช่างฝีมือ และศิลปินจากเมืองเจียอี้ บรรยากาศภายในนิทรรศการได้แรงบันดาลใจจากแสงไฟสดใสของเวทีการแสดงแบบไต้หวันยุคคลาสสิก สื่อถึงการที่เจียอี้เป็นเหมือน “หลังเวที” ของไต้หวัน ที่สร้างศิลปิน และช่างฝีมือคุณภาพมายาวนาน
ในส่วนนิทรรศการของฮวาเหลียน “The Tales from Where the Land Emerged” จัดโดย Ling-Li Tseng เศษเสี้ยวของหินอ่อนนำที่จัดวางเป็นประติมากรรมนำเสนอเรื่องราวของชนเผ่าพื้นถิ่นของไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าอารยธรรม และมนุษย์ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากหิน แนวคิดหลักคือการช่วยให้ผู้คนหวนกลับมาเชื่อมโยงกับผืนดินอีกครั้ง
LICENSING
ในนิทรรศการนี้ Cowper Wang และ Mark Chang นำเสนอเรื่องราวของหนังสือการ์ตูนไต้หวันในยุคต่าง ๆ และความเชื่อมโยงเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรในอุตสาหกรรมร่วมสมัย ในนิทรรศการหลัก มีผู้เข้าร่วมแสดงงานกว่า 200 สตูดิโอ รวมไปถึงเอเจนซี่ชื่อดังอย่าง Sanrio Taiwan Muse ฯลฯ แสดงผลงานจากคาแรกเตอร์ชื่อดังอย่าง Hello Kitty และ Pui Pui Molcar นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินหน้าใหม่ไฟแรงอีกกว่า 100 ราย ดึงดูดความสนใจจากตัวแทนลิขสิทธิ์ และผู้เข้าชมงานทั่วไป
ทั้งยังมีแอพลิเคชั่นออนไลน์ที่ชวนให้ผู้เข้าชมงานค้นหาศิลปินและนักวาดภาพในนิทรรศการนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินหน้าใหม่ไฟแรงอีกกว่า 100 ราย ดึงดูดความสนใจจากตัวแทนลิขสิทธิ์ และผู้เข้าชมงานทั่วไป
DESIGN
อีกพื้นที่การจัดแสดงคือ Songshan Cultural and Creative Park ที่นี่มีการจัดแสดงสินค้าดีไซน์ต่าง ๆ ทั้งของขวัญ ของชำร่วย ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ ซึ่งสินค้าดีไซน์ที่จัดแสดงในงานยังตอบรับกับเทรนด์การออกแบบที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วย อย่างเช่น Work from home หรือสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ Taiwan Design Research Institute ยังร่วมกับ Pinkoi แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์สชั้นนำของไต้หวัน มาช่วยสร้างประสบการณ์การจับจ่ายออนไลน์ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
นับเป็นอีกงานเทศกาลที่แสดงจุดยืน และภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจสร้างสรรค์ในไต้หวันได้เป็นอย่างดี พร้อมสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันเป็นรากฐานสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าพร้อมเทคโนโลยี เพราะในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนสูง ความคิดสร้างสรรค์อาจคือคำตอบในการอยู่รอดบนเวทีโลก
ภาพ: Creative Expo Taiwan
เรียบเรียง: psuw