การบรรจบของ ธรรมชาติ อันสวยงามสู่พื้นที่พักอาศัยภายในสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “บ้าน” โดย BOONDESIGN เกิดเป็นเส้นสายอาคารที่งดงามบนความสงบนิ่ง สมชื่อ Casa Cloud ก้อนเมฆที่เป็นจุดบรรจบระหว่างผืนดินกับผืนฟ้า
ออกแบบ: BOONDESIGN โดย คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์
เจ้าของ: คุณชาลี สมุทรโคจร
พื้นที่สัมพันธ์ของธรรมชาติและการอยู่อาศัย
บ้านหลังนี้ใช้การยกระดับพื้นที่ขึ้นมาสู่ชั้น 2 เป็นพื้นที่หลักโดย เชื่อมโยง สวนและธรรมชาติที่นอกบ้านนั้นจะมีการไล่ระดับตามกันขึ้นมาจนถึงระเบียงห้องรับแขก การยกพื้นที่หลักมาไว้ที่ชั้นสองนั้นสร้างความเป็นส่วนตัวที่ดีกว่าพื้นที่ชั้นล่าง ทั้งยังเปิดโอกาสให้สามารถเปิดรับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นระดับที่พ้นจากสายตาโดยทั่วไปแล้วนั่นเอง
เมื่ออยู่ในห้อง กระจกบานใหญ่สูง 4 เมตรจะสร้างบรรยากาศที่เหมือนสวนกับห้องรับแขกเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน ไม่มีการแบ่งกั้น พื้นที่ยาว 12 เมตรจึงให้ความรู้สึก คุณบุญเลิศตั้งใจออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ให้มีความลื่นไหลต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นส่วนเดียวกันทั้งหมดเพราะไม่ต้องการให้พื้นที่ภายในถูกมองว่าเป็นเพียงอาคาร และพื้นที่ภายนอกเป็นเพียงแค่สวน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นสัมพันธ์กันเกิดเป็นสถาปัตยกรรมนั่นเอง แม้แต่การเลือกวัสดุที่คำนึงถึงความการเชื่อมโยงธรรมชาติเข้ากับองค์ประกอบต่างๆเช่นเดียวกัน “ถ้านิยามว่าเป็นเพียงอาคาร นั่นอาจเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้าง แต่เราคิดไปมากกว่านั้น เราออกแบบพื้นที่ว่าง อย่างห้องนั่งเล่นนี้ที่ออกแบบเป็นพื้นที่ภายใน ดึงเอาธรรมชาติเข้ามา การยื่นชายคา การเลือกหินอ่อนดำที่จะไม่รบกวนทิวทัศน์ภายนอก ตลอดจนกรอบบานสีน้ำตาลเข้มที่กลมกลืนล้อไปกับแนวต้นไม้กิ่งไม้ก็เป็นความตั้งใจทั้งหมด เพราะธรรมชาติคือความงามที่สุดแล้ว ความโปร่งโล่งและสัมผัสได้ถึงธรรมชาติจึงเป็นการอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ที่ผมตั้งใจออกแบบให้กับเจ้าของบ้าน”
อยู่สบาย เป็นส่วนตัว รับแดด ลม ฝน
แม้บ้านหลังนี้จะหันหน้าทางทิศตะวันตก แต่ด้วยการออกแบบชายคายื่นยาว แนวกำแพงที่อยู่ในมุมที่เหมาะสม และการทำช่องเปิดชั้นบนที่พอเหมาะก็ทำให้บ้านหลังนี้ได้รับแสงธรรมชาติอย่างพอดี ไม่มีความบาดตาหรือแดดจ้ารบกวนสู่ภายในเลย การออกแบบในส่วนนี้คุณบุญเลิศกล่าวว่าต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงแต่เป็นความงามเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยอีกด้วย
ที่ห้องนอนบนชั้นสามนั้น มีการทำช่องเปิดขนาดเล็กแคบแต่ยาวตลอดอาคาร และถอยร่นแนวระเบียงเข้ามาถึง 3 เมตร ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นพื้นที่กึ่ง Outdoor ที่ได้บรรยากาศแบบ Tropical Vibe เชื่อมโยงกับสวนภายนอก และเมื่อเอนกายลงบนเตียงจะสามารถมองเห็นถึงท้องฟ้าสีครามได้อย่างชัดเจนและสวยงามเสมือนนอนอยู่บนก้อนเมฆอย่างไรอย่างนั้น อีกทั้งในวันอากาศดียังมองออกไปยังท่าเรือของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกด้วย
บทกวีแห่งความเงียบที่ขับธรรมชาติให้เด่นชัด
สิ่งที่เราประทับใจในบ้านหลังนี้ที่สุดเห็นจะเป็นแสงและเงาที่งดงามในทุกส่วนของตัวบ้าน เมื่อถามคุณบุญเลิศแนวทางการออกแบบแสงและเงาเหล่านี้ คำตอบที่ได้กลับทำให้เราเซอร์ไพรซ์ “เรากำหนดแสงและเงาแต่ไม่ใช่เพื่อความงาม สิ่งที่คิดก่อนเลยคือความเหมาะสม ชายคาบังแดดอย่างพอดิบพอดีกับระยะของพื้นที่ใช้งาน ทิศของแสงที่เข้ามาแล้วจะสะท้อนกับผืนผนังก่อนจะกระจายสู่จุดอื่นๆในอาคาร สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของความเหมาะสม เมื่อเหมาะสมดีแล้วก็ทำให้เกิดความงามขึ้นได้เอง อีกทั้งการเลือกวัสดุและการใช้สีในบ้านหลังนี้ ผมออกแบบให้องค์ประกอบต่างๆในบ้านหลังนี้มีความเรียบ นิ่ง เพื่อปล่อยให้แสงและเงารวมทั้งบรรยากาศค่อยๆดำเนินไป ผู้อยู่อาศัยจะรู้สึกผ่อนคลาย และความนิ่งเงียบตรงนี้ยังช่วยขับเน้นความงามของธรรมชาติรอบๆบ้านอีกด้วย”
ภาพ: Wison Tungthunya
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut