บ้านรูปทรงกล่องภาพลักษณ์โมเดิร์นที่เกิดจากการปรับปรุง และ ต่อเติมบ้าน เก่าอายุสองทศวรรษ ให้ตอบโจทย์ทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยและความงาม
บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ร่วมกับบ้านหลังอื่นในที่ดินผืนเดียวกัน ดังนั้นนอกจากการ ต่อเติมบ้าน เพิ่มพื้นที่ใช้สอยแล้ว การออกแบบยังต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยด้วย
เมื่อได้รับโจทย์เบื้องต้นจากทางเจ้าของบ้านให้รีโนเวตบ้านขนาดพื้นที่ 358 ตารางเมตร คุณเอกภาพ ดวงแก้ว ผู้ก่อตั้งสำนักงานสถาปนิก EKAR จึงเริ่มจากการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการออกแบบ ทั้งด้านโครงสร้างเดิม พื้นที่ใช้สอย และรูปแบบของอาคาร โดยตัดสินใจปรับเปลี่ยนที่จอดรถใหม่ จากเดิมที่มีขนาดเล็ก คับแคบตามสไตล์บ้านยุคเก่า ให้กว้างขวางและเชื่อมต่อการใช้งานกับพื้นที่บ้านได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งต่อเติมอาคารบริเวณด้านหน้าบ้าน สำหรับพื้นที่ห้องนั่งเล่นบนชั้นล่าง และห้องนอนที่มีห้องแต่งตัว และห้องน้ำขนาดใหญ่ตามโจทย์ที่ได้รับจากเจ้าของบ้านบนชั้นสอง โดยออกแบบให้มีการเชื่อมพื้นที่ใช้สอยกับบ้านเดิมอย่างต่อเนื่องกลมกลืน คอร์ตขนาดเล็กที่เกิดขึ้นระหว่างบ้านเดิมและพื้นที่ต่อเติมช่วยดึงแสงสว่างเข้ามาในพื้นที่ใช้งานได้ตลอดวัน
นอกจากนี้ ในส่วนของบ้านเดิม เมื่อทุบพื้นชั้น 2 เหนือห้องรับประทานอาหารออก ทำให้เกิดพื้นที่เปิดโล่งจากชั้นหนึ่งขึ้นไปจรดหลังคาของชั้นสอง (Double space) สร้างบรรยากาศโปร่งสบาย และดูโอ่โถง โดยเลือกกรุฝ้าเพดานให้ขนานไปกับแนวหลังคาทรงจั่ว และสร้างความน่าสนใจให้ฝ้าเพดานด้วยโครงสร้างไม้สีอ่อน กล่องไฟส่องสว่างพาดยาวต่อเนื่องจากผนังด้านหนึ่งถึงอีกด้าน สร้างเส้นนำสายตาให้เกิดความรู้สึกเชื่อมต่อของพื้นที่ระหว่างส่วนบ้านเก่ากับส่วนที่ต่อเติมใหม่
สำหรับการตกแต่งภายในเน้นความโปร่งโล่ง เลือกใช้สีโทนสว่างและเฟอร์นิเจอร์หลักเท่าที่จำเป็นต่อการใช้งาน ส่วนต่อเติมใหม่กรุพื้นไม้ลามิเนตสีอุ่น ช่วยดึงความขรึมของพื้นหินขัดในบ้านเดิมให้ภาพรวมดูโมเดิร์น และมีชีวิตชีวามากขึ้น
หากมองจากภายนอก ส่วนของบ้านที่ต่อเติมใหม่ด้านหน้าจะไม่มีช่องเปิดบนชั้นสอง เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ส่งผลให้รูปลักษณ์มีความเนี้ยบ และเรียบหรูในสไตล์โมเดิร์น นอกจากนี้มวลอาคารที่ต่อเติมขึ้นมาใหม่ยังทับซ้อนมุมมองของบ้านเก่าในจังหวะที่พอเหมาะ ทำให้เมื่อมองจากภายนอก บ้านทั้งหลังจะดูเหมือนเป็นบ้านหลังใหม่สไตล์โมเดิร์นที่ไม่มีกลิ่นอายเดิมแม้แต่น้อย ในส่วนของวัสดุกรุผิวอาคาร มีแนวคิดการออกแบบให้เชื่อมโยงกับพื้นหินขัดของบ้านหลังเดิม เพื่อสร้างบรรยากาศที่ต่อเนื่องจากภายในมาสู่ภายนอกบ้าน โดยสถาปนิกปรับเปลี่ยนเป็นการใช้กระเบื้องหินขัดแทนการสร้างพื้นผิวหินขัดแบบดั้งเดิม เพื่อประโยชน์ด้านการสร้างลวดลาย และความสะดวกรวดเร็วในการก่อสร้าง โดยใช้เทคนิคการผลิตแบบเลเซอร์คัท ทำให้เส้นสันคมชัด อีกทั้งออกแบบให้ไม่เหลือเศษวัสดุด้วยการสร้างแพทเทิร์นแผ่นหินเล็ก -ใหญ่ เพื่อให้เกิดเส้นสายที่เรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์ สร้างความรู้สึกคุ้นเคยแต่ก็สามารถปรับภาพลักษณ์ของบ้านให้ทันสมัยขึ้นได้เป็นอย่างดี
“เพราะเราชอบอารมณ์วินเทจของหินขัด แต่ช่างไม่สามารถทำหินขัดบนผนังได้ ก็เลยเลือกวัสดุสมัยใหม่อย่างกระเบื้องแทน ในฐานะของสถาปนิกเราต้องรู้จักใช้วัสดุและมองประโยชน์ใช้สอยกับความงามในสิ่งที่มันเป็นโดยไม่ต้องพยายามเป็นอย่างอื่น เมื่อกระเบื้องไม่ใช่หินขัดก็ต้องมีรอยต่อ เราจึงทำรอยต่อให้สวยไปเลย จากสแปนเสาบ้านเดิมราว 4 เมตร พอทำโครงสร้างใหม่ต้องกว้างขึ้นและต้องทำช่วงเสาให้ลงตัวกับวัสดุที่เลือกใช้ก็เลยมีการต่อแผ่นกระเบื้องใหญ่เล็กสลับกันระหว่างแผ่นใหญ่สุดกับแผ่นเล็ก 10 เซนติเมตรให้ลงตัวกับพื้นที่ กลายเป็นการต่อที่พิเศษกว่ากระเบื้องปกติ และยังเล่นความกว้างของเส้นต่อระหว่าง 10 มิลลิเมตรในแนวตั้งกับ 2 มิลลิเมตรในแนวนอนให้ดูน่าสนใจ รวมถึงการเลือกใช้ยาแนวสีเข้มสำหรับผิวผนังภายนอกและสีอ่อนสำหรับภายในให้เหมาะกับบรรยากาศของบ้าน”
สถาปนิกยังให้มุมมองของการรีโนเวตไว้อย่างน่าสนใจอีกด้วยว่า “หัวใจของการเก็บของเดิมและสร้างของใหม่คือบริบทที่มีอยู่แล้วกับเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายครั้งมีมิติซับซ้อนที่ต้องไปเจอหน้างานถึงเห็น อย่างการเจอโครงสร้างไม้จริงที่เราเก็บไว้และเจอความงามของหินขัด ทำให้เกิดการร้อยเรียงเรื่องราวจากอดีตมาสู่ปัจจุบันและอนาคตที่จะใช้ชีวิตต่อไปในบ้านหลังนี้ แม้บ้านจะไม่ใช่ที่อยู่ดั้งเดิมของผู้เป็นเจ้าของ แต่จะเก็บอย่างไรปรับอย่างไรไม่ให้แปลกแยกจากชีวิต พร้อมเสริมคุณค่าของบ้านเก่าให้เจ้าของใหม่ได้รับรู้จนรู้สึกภูมิใจไปกับบ้านใหม่หลังนี้และยังส่งต่อไปถึงรุ่นลูกได้อีก ผมว่าสิ่งนี้แหละที่น่าสนใจ”
เจ้าของ: คุณกิตติยา สังข์อุบล
ออกแบบ-ตกแต่ง: EKAR Architects
วิศวกรรมโครงสร้าง: คุณคทาวุธ ไชยแสน, คุณธีรวัฒน์ กงจักร
รับเหมาก่อสร้าง: คุณเวก เหม็นเณร
เรื่อง: Ektida N.
ภาพ: Rungkit Charoenwat