SOI SQUAD OFFICE คือสำนักงานของสำนักพิมพ์ ซอย ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์อย่างเกาะรัตนโกสินทร์ เมื่อถึงคราวต้องรีโนเวต จึงเลือกรักษารูปลักษณ์ดั้งเดิมของอาคารไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้เข้ากับบริบทพื้นที่
ถ้าพูดถึงคำว่า ‘บริบท’ คุณจะให้นิยามของคำนี้ว่าอย่างไร หลายคนอาจนึกถึงสภาพแวดล้อมมาก่อนเป็นอันดับแรก ร่วมกับเรื่องราวรายล้อมที่จับต้องไม่ได้ เช่น แดด ลม ฟ้าฝน และประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่เพื่อนบ้านที่อยู่รอบด้าน และนั่นคือสิ่งที่ SOI SQUAD OFFICE มองเห็น ผ่านการเลือกใช้วัสดุใกล้ตัวที่หาพบได้ทั่วไปมาใช้ในการออกแบบตกแต่งอาคาร เพื่อคงไว้ซึ่งการอยู่ร่วมกันกับบริบทดังกล่าวได้อย่างไม่เคอะเขิน
จากบริบทแวดล้อมอันหลากหลายรูปแบบ คุณชัช – ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์ สถาปนิกจาก Everyday Architect & Design Studio และนักเขียนเจ้าของหนังสือ ‘อาคิเต็กเจอ’ รวมเรื่องที่พบเจอจากการทำงานอาคิเต็ก ได้หยิบองค์ประกอบต่าง ๆ มาบอกเล่าใหม่ และทดลองในงานออกแบบของเขาเองอยู่เสมอ เช่นเดียวกับงานออกแบบสำนักพิมพ์ ซอย แห่งนี้ เช่นกัน ซึ่งจะเรียกว่ามาจากบริบทร่วมระหว่างงานออกแบบออฟฟิศของเขากับงานออกแบบสำนักพิมพ์แห่งนี้ก็ไม่ผิดนัก
ถนนนครสวรรค์ สวรรค์ของคนรักหนังสือ
“ไอเดียหลักของ Everyday Studio จะสนใจเรื่องชีวิตคนไทยในปัจจุบัน” คุณชัชเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของออฟฟิศที่นำมาสู่งานออกแบบครั้งใหม่นี้
“ทางสำนักพิมพ์ได้เห็นงานตั้งรีโนเวตออฟฟิศของเราที่ใช้การรียูสวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เขา อยากนำบรรยากาศแบบนี้มาทำเป็นสำนักพิมพ์เหมือนกัน จนนำมาสู่อาคารพาณิชย์สีเขียวที่เราแทบจะคงสีเดิมไว้ทั้งหมด”
ตึกแถวห้องหัวมุม หน้าบ้านสีเขียว พื้นกระเบื้องลายดอกไม้ คือพื้นที่เดิมของตัวอาคารที่เจ้าของและนักออกแบบเห็นพ้องต้องกันว่าจะเก็บรักษาส่วนนี้ไว้ “ด้วยความที่เป็นสำนักพิมพ์ที่ทำเรื่องศิลปวัฒนธรรม เจ้าของจึงคิดไปอีกสเต็ปหนึ่ง ไม่ได้มองว่าจะย้อมเป็นสีอื่น แต่มองว่าถ้าเขาท้าทายตึกสีเขียวต่อภายในย่านได้ มันก็น่าจะท้าทายกฎระเบียบสีในเกาะรัตนโกสินทร์ด้วยเช่นกัน”
จากบริบทของอาคาร ขยายออกมาสู่มุมมองของย่านตามเส้นถนนนครสวรรค์ อย่างที่เรียกว่า East Old Town รายล้อมไปด้วยอาคารเก่าทั้งแบบชิโนโปรตุกีส และตึกแถวเรียบง่ายธรรมดา จากที่ลงเดินสำรวจย่าน หลายคูหาเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์ที่ยืนหยัดอยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ร้านหนังสือทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อม โดยมีคาแร็กเตอร์ร่วมกันคือชั้นวางหนังสือเหล็กฉากเจาะรูแบบง่าย ๆ อย่างที่พวกเราคุ้นตา
เหล็กฉากเจาะรู วัสดุชิ้นหลัก
เพราะเคยเป็นวัสดุที่ถูกใช้งานมาแล้วในออฟฟิศของ Everyday Studio และความเป็นไทยรอบตัวอย่างที่คุณชัชสนใจ ทำให้เหล็กฉากเจาะรู กลายมาเป็นพระเอกคนสำคัญของงานออกแบบสำนักพิมพ์ ซอย ทั้งกับการกั้นแบ่งโปรแกรมของพื้นที่ และงานตกแต่งที่มีกลิ่นอายของเหล็กฉากเจาะรูอบอวลอยู่รอบด้าน
“ข้อดีของวัสดุตัวนี้คือ ราคาถูกมาก เพราะเป็นงาน Mass Production แบบสุด ๆ ต่อขยายก็ง่าย นอกจากสะท้อนคาแร็กเตอร์ของถนนนครสวรรค์แล้ว ยังสัมพันธ์กับความรู้สึกของผู้คนในแง่ของความคุ้นเคยและเห็นได้ทุกที่ แล้วถ้าเราอยากจะหยิบมาใช้บ้างละ จะใช้ได้อย่างไรบ้าง?
“เราเลยพยายามสร้างเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินที่เกิดจากชั้นเหล็กทำสีขาวประมาณ 10 ตัว แล้วสวมเข้าไปตามฟังก์ชันที่ออฟฟิศจำเป็นต้องมี ตั้งแต่ส่วนหน้าสุดที่ใช้เป็นร้านจำหน่ายหนังสือขนาดเล็กของสำนักพิมพ์ หรือส่วนรับลูกค้า เปลี่ยนผ่านมาสู่ส่วนสำนักงานด้วยชั้นเหล็ก พร้อมกับไฟซ่อนที่กั้นแบ่งกลายเป็นโต๊ะทำงานได้ด้วย ก่อนนำไปสู่พื้นที่เก็บของ เราก็จะนำงานบิลท์อินจากเหล็กฉากที่แบ่งตามระยะมาใช้ในงานดีไซน์”
นอกจากการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายใน 40 ตารางเมตร ด้วยรูปแบบชุดชั้นเหล็กซึ่งปรับขยายได้แล้ว เหล็กฉากที่เหลือก็นำมาตกแต่งหน้างานด้วย ทั้งรางไฟซ่อน มือจับประตู หรืองานตกแต่งพื้นที่ส่วนต่าง ๆ รวมทั้งตัวเหล็กดัดแผงกั้นระหว่างพื้นที่ก็ถอดจากชั้นบนลงมาประกอบใหม่ เรียกว่าใช้วัสดุรียูสกับทุกส่วน พร้อมกับสัมผัสกลิ่นอายความรู้สึกอย่างที่ทุกคนเคยผูกพันร่วม
สเปซใหม่บนทางเดินเส้นเดิม
ออกจากงานภายในกลับมาสู่มุมมองจากภายนอก ข้อดีที่ได้จากอาคารหัวมุมคือช่องเปิดเดิมที่เทคมุมเข้าไปเป็นเหมือนกับพื้นที่โชว์สินค้าหน้าร้าน ในส่วนด้านหน้าคุณชัชเลือกถอยประตูทางเข้า เข้าไปจากประตูบานเฟี้ยมด้านหน้าเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ พร้อมกับเตรียมพร้อมก่อนจะเข้าสู่ภายในอาคาร
“คาแร็กเตอร์ที่เราตั้งใจอยากออกแบบ คือแรงปะทะระหว่างหน้าอาคารกับคนที่เดินผ่านไปมาว่าจะเป็นอย่างไร? เราก็เลย set back เข้าไปนิดนึง ให้มีระยะปรับตัวระหว่างพื้นที่ สำหรับเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ ก่อนเข้าไปสู่ประตูตรงกลาง ซึ่งก็จะกลายเป็นเส้นแกนนำเข้าไปสู่พื้นที่ภายในตามลำดับ”
แม้จะเป็นโปรแกรมมิ่งง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน และใช้วัสดุรอบตัว แต่ความสนุกก็อยู่ที่การซ้อนปรัชญาและวิธีคิด ก่อนถ่ายทอดออกมาเป็นงานดีไซน์ “เป็นเรื่องความพอดีของการเลือกใช้ของ และความพยายามที่จะหยิบวัสดุมาใช้งาน ส่วนไหนโชว์ได้ก็โชว์ ส่วนไหนจำเป็นต้องสวยก็ต้องสวย หรือวิธีคิดที่เริ่มจากแมททีเรียล เราก็ตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องความเป็นไทยในชีวิตประจำวันที่มีอยู่ สัมผัสได้ เหมือนกับที่เขียนในหนังสืออาคิเต็กเจอ ซึ่งก็มาจากการวิจัย และความสนใจส่วนตัวในเรื่องนี้”
ที่ตั้ง
140 ถนนนครสวรรค์ แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
โทร. 09-7429-9744
www.s-o-i.io
www.facebook.com/thisissoisquad
ออกแบบ : Everyday Architect & Design Studio
เรื่อง : skiixy
ภาพ : Ohm Anawat