ตึกแถวในตรอกเล็กซอยน้อยคือวิถีชีวิตอันคุ้นเคยและเปี่ยมเสน่ห์ของย่านเมืองเก่าในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกันกับที่ “ย่านตลาดน้อย” แม้วันนี้เราจะมีร้านชาเปิดใหม่อย่าง Citizen Tea Canteen of Nowhere เป็นเป้าหมายซึ่งอยู่ไม่ไกลข้างหน้านี้ แต่ก่อนเลี้ยวเข้าร้าน ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าสุดปลายตรอกนี้จะมีอะไร และทะลุไปเดินเล่นที่ไหนต่อได้อีกบ้าง
ช่วงสองสามปีนี้มานี้ คนรักงานออกแบบรับรองว่าต้องคุ้นเคยกันดีกับชื่อ Citizen of Nowhere แบรนด์หัตถกรรมร่วมสมัยของ คุณศรัณย์ เย็นปัญญา ดีไซเนอร์สุดป็อปแห่ง 56thStudio ผู้มุ่งมั่นปลุกวิญญาณศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาชายขอบที่ถูกลืมเลือนหรือด้อยค่า ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันยุคใหม่ และคอลเล็กชั่นหัตถกรรมของเขา ก็คือจุดเริ่มต้นของการเปิดแฟลกชิปสโตร์แห่งใหม่นี้ Citizen Tea Canteen of Nowhere ยังมาพร้อมคาเฟ่ชาไทยสีส้มหน้าตาคุ้นเคย ที่นำเสนอในภาษาใหม่ที่ละเมียดละไมขึ้น
“หลังจากแบรนด์เข้าสู่ปีที่สาม เรามีสินค้าค่อนข้างเยอะขึ้น เลยรู้สึกว่างานหัตถกรรมมันจะน่าสนใจและน่าซื้อมากขึ้นถ้าเราสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้มีปฏิสัมพันธ์ เลยเกิดเป็นโชว์รูมที่มีคาเฟ่ในตัว คนจะได้มอง ได้สัมผัส ได้สำรวจข้าวของได้แบบเพลิน ๆ”
จากแกนหลักของแบรนด์หัตถกรรมที่ต้องการอุ้มชูวัฒนธรรมชายขอบ สวมเข้ากันพอดีกับคอนเซ็ปต์ของสภากาแฟหรือสภาชาแบบไทย ๆ ซึ่งเป็นเหมือนพื้นที่สำหรับการร่วมวงชวนคนใกล้เคียงมาสังสรรค์ แลกเปลี่ยนบทสนทนาผ่านเครื่องดื่มคาเฟอีนในมือ งานทั้งสองแบบแม้จะมีรูปแบบที่แตกต่างกันในแง่ของระบบการจัดการ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการ Deconstruction – รื้อ ถอด ประกอบ สร้าง ให้กลับมาในรูปแบบของความป็อปและความสนุกสนาน
“จริง ๆ แล้วเครื่องดื่มประเภทชานม ชาไทย มันมีช่องว่างอยู่เยอะระหว่างชาจีนตามเยาวราชที่ต้องล้างถ้วยชาสามรอบ กับชาแถวสยามสแควร์ที่เป็นชาไข่มุก คือมันยังไม่มีพื้นที่ตรงกลางที่เรารู้สึกว่า คนรุ่นใหม่สามารถกินชาที่ค่อนข้างละเมียด แต่ว่าก็ไม่ต้องถึงขั้นมีพิธีรีตองมากมายเหมือนชาจีน ผมเลยรู้สึกว่า นี่แหละคือวัฒนธรรมที่ถูกด้อยค่าเหมือนงานหัตถกรรมเป๊ะเลย”
หน้าร้านเปิดต้อนรับด้วยกระเบื้องสีส้มเป็นกรอบบอกพิกัดร้านให้เห็นอย่างชัดเจนจากปากตรอก เปิดประตูเข้าไปเจอกับตู้โต๊ะเก้าอี้ที่คุ้นตา รายล้อมด้วยองค์ประกอบสีสันสดใส แนะนำให้เริ่มต้นจากการเลือกสั่งชาที่ถูกใจตรงเคาน์เตอร์ แล้วค่อยหาที่นั่งเอนหลังให้สบายใจ ที่นี่มีให้เลือกทั้งชานมไทย 4 เบลนด์ ที่มีระดับความนุ่ม และรสชาติลุ่มลึกที่แตกต่างกันไป หรือจะเป็นชาร้อนเบลนด์พิเศษ อย่างกลิ่นขนมปังกล้วยหอม หรือเป็ดตุ๋นเจ้าท่า ที่รับรองว่ากลิ่นหอมสมุนไพรกับชาไทยจะติดตรึงในใจแน่นอน
“ส่วนเรื่องการจัดการสเปซ หนึ่งในหุ้นส่วนของเราเป็นเจ้าของอาคารนี้ เขาก็อยากทำให้พื้นที่นี้อยู่ได้นาน ผมก็เลยทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นงานคราฟต์ทั้งหมด อย่างเช่น ในส่วนผนังจะแปะกระดาษปรินต์ดิจิทัลเป็นวอลล์เปเปอร์ก็ทำได้ แต่ว่าเราเลือกใช้วิธีซิลก์สกรีนเหมือนเวลาทำเสื้อยืด มาสกรีนบนเศษไม้ แล้วค่อยเพ้นต์เพิ่ม หรือวอลล์เปเปอร์เราก็ทำเป็นกราฟิตี้ พ่นทับไป ความยุ่งยากในการทำงานก็เลยจะเพิ่มขึ้นอีกขั้น เพราะเราต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ผ่านงานคราฟต์”
บริบทที่รายล้อม คืออีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับการออกแบบพื้นที่ อย่างบริเวณหน้าต่างกระจกหน้าร้านชั้น 2 ที่เปิดปะทะพอดีกับจั่วหลังคาสีสันของศาลเจ้าโจวซือกง (วัดซุนเล่งยี่) ตลาดน้อย คือช่องเปิดที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศิลปวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิมที่สืบเนื่องอย่างยาวนาน เข้ากับความร่วมสมัยที่ได้รับการตีความใหม่ผ่านสินค้าและการตกแต่งภายในร้าน
“Visual ต่าง ๆ มันเกิดจากความรู้สึกที่เราไม่อยากเป็นผู้บุกรุกพื้นที่แบบ 100% เราอยากให้มีสิ่งที่สัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น ถ้าสังเกตก็จะเห็นพวก Motif ต่าง ๆ ที่เป็นเสือ มังกร น้ำเต้า หรือภาษาจีน ถูกหยิบยืมมาจากวัฒนธรรมที่อยู่ในละแวกนั้น หรือแม้แต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ แก้วสกรีนลวดลาย เครื่องพวง ก็มาจากการสำรวจร้านชารอบ ๆ เยาวราชที่หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เลยพยายามนำ Visual Culture แบบนี้มาใช้ในพื้นที่แห่งนี้”
ที่นี่จึงเป็นเหมือนพื้นที่ให้คุณศรัณย์ได้ทดลอง ได้ใช้เซนส์หรือสัญชาตญาณการออกแบบ ที่สะท้อนตัวตนของเขาได้อย่างเต็มที่ ผ่านการสัมผัส และเรียนรู้พื้นที่ด้วยตัวเอง
“ผมว่าการใช้เซนส์มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลย มันทำให้พื้นที่รู้สึกสบาย เหมือนกับแต่งบ้านจริง ๆ เพราะมันไม่ได้ถูกกำหนดหรือสเป็กมาก่อน ซึ่งวิธีการวางแปลน มันเกิดจากการเข้าไปในสเปซบ่อยๆ แล้วก็ดูว่า นั่งตรงนี้มันสบายไหม ติดโน่นเติมนี่ดีไหม มากกว่าการพยายามวางผังแบบโปรเจ็คต์อื่น ๆ ที่เคยทำมา”
“อย่างไม้ Patchwork ที่ตกแต่งผนัง ผมว่าก็ยังไม่มีใครทำในประเทศไทย ตอนแรกเราก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้รึเปล่า แต่ก็พอคุยกับโรงงานสกรีน สุดท้ายก็หาวิธีทำจนได้ เวลาติดเรียงบนผนัง คนที่ทำก็คือผมกับน้อง ๆ เพราะช่างอาจจะไม่สามารถมององค์ประกอบการจัดวางได้ลงตัวนัก ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันคือเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ถ้าสมมติจะเกิดสาขาสองขึ้นมา มันก็จะหน้าตาไม่เหมือนแบบนี้”
ก่อนชาแก้วสุดท้ายจะหมดลง เราถามเส้นทางกลับจากน้องพนักงานด้วยความที่ไม่ค่อยคุ้นชินกับย่านนี้นัก และเมื่อเราเดินกลับผ่านทางศาลเจ้าโจวซือกง ก็พบผู้คนคลาคล่ำที่พึ่งเดินออกจากโรงเจ พาให้รู้สึกกลมกลืนเหมือนเป็นคนแถวนี้ เราต่างกำลังเดินเท้าบนเส้นทางเดียวกัน แม้จะเริ่มต้นจากต่างที่ก็ตาม แต่ถนนสายวัฒนธรรมเส้นนี้ ก็จะพาเราเดินทางกลับสู่ถนนเส้นหลักไปด้วยกันได้ในที่สุด
——-
ที่ตั้ง
Citizen Tea Canteen of Nowhere
ซอยวานิช 2 ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
เปิดบริการวันเสาร์ เวลา 09.00 น.-19.00 น. (อัพเดทวันและเวลาให้บริการได้ผ่านทางแฟนเพจ)
ออกแบบ: 56thStudio
เรื่อง: skiixy
ภาพ: นันทิยา