วันนี้ room มีนัดกับ คุณพงศภัทร์ อานามนารถ หนึ่งในหุ้นส่วนร้านที่ควบตำแหน่งออกแบบ-ตกแต่ง AYATANA Cafe คาเฟ่น้องใหม่แห่งบางแสน จังหวัดชลบุรี ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียล
แต่เมื่อเรามาถึง AYATANA Cafe ต้องบอกว่าค่อนข้างผิดจากที่คาดไว้ เพราะจากการดูรูปก่อนมาชวนให้นึกว่าคาเฟ่แห่งนี้ตั้งอยู่เงียบ ๆ หรือแอบซ่อนอยู่ในซอยที่ไหนสักแห่ง แต่แท้จริงแล้วกลับตั้งอยู่ริมถนนหลัก เข้าถึงง่าย ยิ่งกระตุ้นให้เราอยากเข้าไปดูสเปซด้านในมากขึ้นไปอีก
ด้วยความที่หุ้นส่วนทุกคนมีความชื่นชอบที่เหมือนกันคือการนั่งสมาธิ พอมีโอกาสได้มาทำคาเฟ่เป็นของตัวเองจึงคิดว่าทำอย่างไรให้คาเฟ่ได้เป็นสเปซที่สามารถทำประโยชน์ให้กับคนที่มาได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไปพร้อม ๆ กับการเสพบรรยากาศดี ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อร้านสุดยูนีคอย่าง AYATANA หรือ อายตนะ
“ผมนึกถึงชื่อขึ้นมาก่อนเลย ตั้งแต่เริ่มต้นว่าอยากได้ชื่อที่ฟังแล้วอิงธรรมด้วยแล้วก็เป็นเนื้อหาได้ด้วย พี่สาวเขาก็เลยคิดขึ้นมาว่า ถ้าคนไปที่ไหนแล้วเขาเหมือนได้รับประสาทสัมผัสครบทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ผมก็เลยนึกถึงคำว่า อายตนะ
อายตนะ หมายถึงการรับรู้ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอเราต้องตีความมาในเชิงคาเฟ่ ก็เลยมองว่าตรงนี้คือ Sense of space ซึ่งถ้าคนที่มาได้รับรู้ผ่านตาว่าร้านสวย หูได้ฟังเพลงเพราะ จมูกได้รับกลิ่นที่ดี แล้วก็รวมไปถึงกายใจ ด้วยความที่เราเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ เราก็อยากเติมรายละเอียดต่าง ๆ ที่มันจะไปโยงได้ถึงสิ่งที่เราอยากสื่อสารในเชิงการปฏิบัติได้ด้วย”
สิ่งแรกที่ดึงดูดใจเมื่อมาถึงคงหนีไม้พ้นสนามหญ้าผืนยาวที่มองไปเป็นบ่อน้ำขนาดย่อมและไปจบที่ศาลาหลังน้อยซึ่งมีวัตถุทรงกลมสีขาวหลากขนาด หลายเท็กซ์เจอร์ห้อยอยู่ ซึ่งทรงกลมเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นมุมถ่ายรูปยอดฮิต แต่ยังแฝงไว้ด้วยนัยยะของการเป็นตัวแทนหกก้อนของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยอ้างอิงสัดส่วนและตำแหน่งสูงต่ำตามร่างกายมนุษย์ ซึ่งทั้งหกลูกเลือกใช้ผิวสัมผัสมัน ด้าน และหยาบ เพื่อเพิ่มมิติให้กับสเปซเมื่อมีแสงตกกระทบ และได้ความรู้สึกทันสมัยไปในตัว
แต่ก่อนจะเดินไปถึงศาลานั้น ผู้ออกแบบยังแทรกความหมายไว้ในงานออกแบบโดยที่คุณอาจไม่รู้ตัว กับกำแพงสูงด้านซ้ายมือที่ออกแบบให้โค้งเว้าเหมือนคลื่นที่ค่อย ๆ ถี่น้อยลงจนราบเรียบ เปรียบเสมือนจิตใจมนุษย์ที่สามารถขัดเกลาความหยาบกระด้างให้อ่อนโยนได้ หากคุณเดินไปเรื่อย ๆ บ่อน้ำจะทำหน้าที่แบ่งสเปซเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ความวุ่นวายด้วยผิวน้ำนิ่งก่อนที่จะเข้าไปพบกับความสงบของห้องนั่งสมาธิที่แอบซ่อนอยู่ด้านหลังศาลา
สำหรับตัวอาคารผู้ออกแบบเลือกเก็บโครงสร้างเดิมที่เคยเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้างไว้ทั้งหมด มีเพียงผนังบางส่วนที่ทุบออกแล้วแทนที่ด้วยกระจกเต็มบานเพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในและช่วยให้ร้านดูโปร่งโล่ง การแบ่งพื้นที่ภายในร้านจึงอ้างอิงกับพื้นที่เดิมทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนคือ โซนเคาน์เตอร์บาร์สำหรับสั่งเครื่องดื่ม ถัดไปเป็นพื้นที่นั่งแบบเปิดแอร์พร้อมมุมโชว์ของเล็ก ๆ ที่เรียกว่า AYATANA Selected ชั้นรวมสินค้าทำมือ งานคราฟต์ที่เจอระหว่างเดินทาง บวกกับของสะสมมาแบ่งปันให้กับผู้ที่ชื่นชอบได้ซื้อไปสะสม และโซนสุดท้ายกับพื้นที่กึ่งเอ๊าต์ดอร์แบบดับเบิ้ลสเปซ
“ด้วยความที่เราก็เป็นคนชอบไปคาเฟ่ แต่ละร้านเราก็จะชอบแบบพื้นที่ที่มันกึ่งเอ๊าต์ดอร์อยู่แล้ว เอาความต้องการของตัวเองว่าเวลานั่งในพื้นที่เปิดโล่งที่มีลมพัดผ่านก็ให้ความรู้สึกชิล ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 การมีพื้นที่เปิดโล่งเลยเป็นหนึ่งในโจทย์ของเรา ประกอบกับเชิงธุรกิจที่มันต้องมีมุมเช็คอินไหม ให้ลูกค้ามาแล้วต้องถ่ายรูปด้วย”
โซนในสุดของร้านจึงกลายเป็นอีกพื้นที่ไฮไลต์ที่มีแสงธรรมชาติเข้ามาแบบเต็ม ๆ ตอบโจทย์การเป็นมุมถ่ายรูปในบรรยากาศ Asian Style ผ่านการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติให้ความรู้สึกอบอุ่น เผยสัจวัสดุที่ปรุงแต่งให้น้อย ผสมกับงานคราฟต์ แล้วมิกซ์กับเฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียนและเฟอร์นิเจอร์ญี่ปุ่นมือสอง ที่นำมาปรับแต่งใหม่บ้าง กลายเป็นความแตกต่างอย่างลงตัว
“วัสดุในโซนนี้ก็จะปูพื้นด้วยกระเบื้องหินที่ใช้ในสระว่ายน้ำ ผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นเอ๊าต์ดอร์ด้วยตัวของมันเอง แล้วเวลาถ้ามีลมฝนแรงจริง ๆ ก็สามารถโดนน้ำได้ ทั้งยังจะได้เกิดมิติอีกแบบหนึ่งเพราะสีก็จะเข้มขึ้น
ส่วนด้านในก็เลือกใช้เป็นหินขัด กระเบื้องดินเผา ที่มีความเป็นธรรมชาติ ผ่านกระบวนการน้อย มีความ handmade ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละชิ้นก็จะมีความไม่สมบูรณ์ ไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมเองรู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกับธรรมชาติหมดเลย สัจจะของวัสดุจริง ๆ ที่ทุกอย่างมันไม่มีทางแบบเท่ากัน เช่นเดียวกับมนุษย์”
เชื่อเลยว่านอกจากรูปถ่ายสวย ๆ ที่คุณจะได้กลับไปจากการมาเยือนคาเฟ่แห่งนี้แล้ว คุณยังจะได้สัมผัสความสุขผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 อย่างครบถ้วนทั้งการใช้ตามองการตกแต่งร้านสวย ๆ การได้ฟังเพลงเพราะ ๆ จากเพลลิสต์ที่คัดมาแล้ว การได้ชิมเครื่องดื่มที่รังสรรค์ขึ้นมาใหม่อย่างประณีต การได้กลิ่นกาแฟและเบเกอรี่หอมกรุ่น และสุดท้ายคือกายใจที่รู้สึกสงบ เรียบง่าย ได้แบ่งปันผ่านงานออกแบบที่ซ่อนนัยยะต่าง ๆ ไว้ในสถาปัตยกรรมแห่งนี้
ที่ตั้ง
209/2 ถนนพระยาสัจจา ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี
Location https://goo.gl/maps/Vi8C8BJV3Bds8sSS8
โทร. 08-0961- 9426
เปิดเวลา 9.00-18.00 (ปิดทุกวันพุธ)
ออกแบบ : คุณพงศภัทร์ อานามนารถ
เรื่อง : ปลากริมไข่เต่า
ภาพ : นันทิยา, นวชา ธรรมลักษมีบุญ
THAI HOUSE VIBE จำลองบรรยากาศบ้านไม้ไทย โซนพักผ่อนใหม่ใน