PICCOLO VICOLO CAFE คาเฟ่ลับในตึกแถวเก่าอายุกว่า 50 ปี ย่านบรรทัดทอง

PICCOLO VICOLO คาเฟ่บรรยากาศตึกเก่า ฮิดเด้นเพลสในซอยแคบ กลางย่านบรรทัดทอง

Piccolo Vicolo คาเฟ่ที่เกิดจากการรีโนเวตตึกแถวเก่าอายุกว่า 50 ปี ให้กลายเป็นคาเฟ่ลับย่านบรรทัดทอง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของในโครงการ “GalileOasis” คอมมูนิตี้อาร์ตสเปซที่ก่อตั้งโดยกลุ่มเพื่อน ๆ คณะละครสองแปด เพื่อหวังให้ที่นี่เป็นแหล่งรวมตัวของคนรักงานศิลปะ

Piccolo Vicolo สร้างความเซอร์ไพรส์ให้เราตั้งแต่ครั้งแรกที่เดินทางมา ด้วยการต้องเดินผ่านตรอกเล็ก ๆ ข้างโรงเรียนกิ่งเพชร กลางชุมชนบ้านครัวเหนือ ก่อนจะพบกับคาเฟ่บรรยากาศตึกเก่าสุดเท่ตรงหัวมุมสุดทางเดิน

PICCOLO VICOLO คาเฟ่บรรยากาศตึกเก่า ฮิดเด้นเพลสในซอยแคบ กลางย่านบรรทัดทองPICCOLO VICOLO คาเฟ่บรรยากาศตึกเก่า ฮิดเด้นเพลสในซอยแคบ กลางย่านบรรทัดทองPICCOLO VICOLO คาเฟ่บรรยากาศตึกเก่า ฮิดเด้นเพลสในซอยแคบ กลางย่านบรรทัดทองPICCOLO VICOLO คาเฟ่บรรยากาศตึกเก่า ฮิดเด้นเพลสในซอยแคบ กลางย่านบรรทัดทองจากชื่อภาษาอิตาลี Piccolo แปลว่าเล็ก ๆ ส่วน Vicolo แปลว่าตรอก หรือซอย เมื่อนำมารวมกันตั้งเป็นชื่อร้าน จึงบ่งบอกได้ดีถึงโลเกชั่นที่ซ่อนตัวอยู่อย่างลับ ๆ ในซอยเล็ก ๆ ย้อนไปถึงที่มาของที่ตั้ง คุณปั้น-นารา โลจนาทร เจ้าของเล่าว่า ที่นี่เคยเป็นเวิ้งตึกแถวที่มีผู้อยู่อาศัยจริงมาก่อน ก่อนหมดสัญญาเช่า จากนั้นเจ้าของโดยอาจารย์รัศมี เผ่าเหลืองทอง (นักเขียนบท นักแปล ผู้กำกับละครเวที และเป็นอาจารย์สอนด้านวรรณกรรมและการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) จึงเปิดพื้นที่ให้เหล่าลูกศิษย์กลุ่มคณะละครสองแปด เข้ามารีโนเวตพื้นที่ใหม่ เพื่อเปิดเป็นคอมมูนิตี้อาร์ตสเปซ โดยหนึ่งในหุ้นส่วน ก็คือคุณพ่อของคุณปั้นเอง ด้วยเหตุนี้ Piccolo Vicolo จึงเกิดขึ้น โดยคุณพ่อและคุณแม่ซึ่งมีอาชีพเป็นสถาปนิก รวมถึงเธอและน้องได้ช่วยกันออกแบบตกแต่งร้าน ระดมไอเดียใส่ความชื่นชอบของแต่ละคนลงไป จนกลายเป็นคาเฟ่ที่มีแนวคิดมาจากคนสองเจเนอเรชั่น

ตัวคาเฟ่เด่นด้วยร่องรอยของการทุบผนังตึกออก เผยให้เห็นแนวอิฐมอญที่ไม่เนี้ยบ แต่กลายเป็นเสน่ห์ให้ที่นี่ไปโดยปริยาย ช่วยเปลี่ยนภาพตึกแถวปิดทึบให้โปร่งโล่งขึ้น รวมถึงเปิดมุมมองเข้ามาสู่พื้นที่ภายในโครงการ ซึ่งยาวทะลุไปถึงคอร์ตกลางและเวิ้งตึกแถวภายใน ซึ่งเป็นโลเกชั่นที่หลายคนคาดไม่ถึงว่า จะพบกับสเปซแบบนี้ ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯนอกจากการทุบผนังแล้ว โครงสร้างดั้งเดิมต่าง ๆ เช่น พื้นไม้เดิม ช่องหน้าต่างเหล็กดัด หรือแม้แต่สีเดิมของผนังบางส่วนก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ก่อนปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ตามฟังก์ชันใช้งาน โดยชั้น 1 จะพบว่ามีการเจาะ Void เพื่อให้ชั้นหนึ่งกับชั้นสองเชื่อมต่อกัน ตรงกลางของช่องเปิดนี้ จัดวางกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีลำต้นตั้งตรงไปถึงชั้นบน ผนังปูนที่ถูกทุบ ได้รับการแทนที่ด้วยกระจกเทมเปอร์ รวมด้วยแผ่นพอลิคาร์บอเนตที่กรุยาวไปถึงชั้นบน ซึ่งเป็นวัสดุที่เหลือใช้จากงานรับเหมาตกแต่งร้านอาหาร ถือเป็นการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า เช่นเดียวกับไม้ที่รื้อจากตึกนี้ ที่ได้ดัดแปลงใหม่เป็นชั้นวางของหลังเคาน์เตอร์ รายล้อมด้วยเฟอร์นิเจอร์และเก้าอี้วินเทจที่เก็บสะสมไว้หลากหลายชิ้น โดยเฉพาะโป๊ะแก้วสีเขียวซึ่งเคยใช้เป็นทุ่นกลางทะเล ได้นำมาเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ ใช้แขวนตกแต่งเพดานเหนือเคาน์เตอร์ ดูล้อไปกับโลโก้รูปตัวโอ(O) กลายเป็นภาพสะดุดตาสำหรับลูกค้าที่มาเยือน ชั้นสองรื้อบันไดทางขึ้นเดิมออก โดยเปลี่ยนเป็นบันไดเหล็กสีดำนำทางขึ้นไปยังโซนอาร์ตสเปซ ที่ยังคงมองเห็นร่องรอยของแนวขั้นบันไดเก่า และสีเดิมของอาคารที่มีเรื่องราวตามกาลเวลาเอาไว้ อีกฟากหนึ่งจัดเป็นมุมนั่งเล่นแบบเซมิเอ๊าต์ดอร์ให้แขกได้นั่งเล่นชิล ๆ ตรงกลางมองลงมาผ่านช่อง Void จะเห็นสวนเล็ก ๆ ที่ชั้นล่าง ทั้งยังเป็นช่องให้ลมและอากาศไหลผ่านได้ ช่วยให้ไม่ร้อนจนเกินไป ซึ่งชั้นนี้ผนังด้านหน้าได้ถูกแทนที่ด้วยหน้าต่างกระจกใสขนาดใหญ่ หุ้มกรอบเหล็กสีดำเท่ ๆ เปิดให้มองเห็นวิวต้นหางนกยูง และโรงเรียนใกล้ ๆ ส่วนผนังด้านข้างยังคงเก็บรายละเอียดของหน้าต่างเหล็กดัดดั้งเดิมไว้

และในราว ๆ ต้นปีหน้าโครงการกาลิเลโอเอซิส มีแผนจะเสริมทัพด้วยโรงละคร โฮสเทล ร้านอาหาร รีเทลช็อป สตูดิโอออกแบบ ร้านขายแผ่นเสียง ฯลฯ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการออกแบบรีโนเวต ถ้าหากแล้วเสร็จเมื่อไหร่ room จะรีบอัปเดตบรรยากาศมาให้ชมแน่นอน แต่ตอนนี้ขอชวนทุกคนมารีแล็กซ์กับคาเฟ่แห่งนี้กันก่อน รับรองว่าใครที่ชอบเสน่ห์ของตึกเก่า บวกกับการสร้างสรรค์สเปซได้อย่างน่าสนใจละก็ ต้องชอบที่นี่เหมือนเราแน่นอน
ที่ตั้ง
535/32 ตรอกวัดพระยายัง ถนนบรรทัดทอง แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน 9.00-17.00 น. (ปิดเฉพาะวันอังคาร)
โทร.06-5816-8982
เจ้าของ : คุณลัดดา และคุณนารา โลจนาทร
ออกแบบ : บริษัท ปั้นแต่ง สตูดิโอ จำกัด โทร.0-2759-9799
เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : อนุพงษ์, นวชา ธรรมลักษมีบุญ