บ้านชั้นเดียว ที่สะท้อนเงาอยู่บนผิวน้ำ พร้อมภาพวิวของต้นไม้สีเขียวที่เติบโตอยู่รายล้อมนี้ คือบ้านที่ทำหน้าที่เป็นโฮมสตูดิโอสำหรับใช้ทำงานและพักผ่อนของคู่รักนักออกแบบ คุณบิ๊ก-สุจินดา ตุ้ยเขียว สถาปนิกแห่งใจบ้านสตูดิโอ และคุณบี๊ท-โสภิดา จิตรจำนอง ฟรีแลนซ์อินทีเรียร์ดีไซเนอร์
ทั้งคู่ค่อย ๆ ช่วยกันเติมแต่งภาพบ้านในฝันหลังแรกทีละนิด ๆ แต่มากด้วยแพสชั่นให้สำเร็จเป็นจริง สำหรับการใช้ชีวิตที่แสนเรียบง่าย แต่เพียบด้วยความสุข
“ทุกอย่างค่อนข้างกะทันหัน มีเวลาแค่ประมาณสามเดือนครึ่งให้ออกแบบและก่อสร้าง ก่อนที่เราจะย้ายมาอยู่ที่นี่” เจ้าของ บ้านชั้นเดียว หลังนี้ บอกกับเรา ก่อนที่จะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำโฮมสตูดิโอเล็ก ๆ ในเมืองเชียงใหม่
คุณบี๊ทเล่าว่า หลังจากอพาร์ตเมนต์เก่าที่เคยอาศัยอยู่หมดสัญญา และขายตึกต่อให้เจ้าของใหม่รีโนเวตเป็นคอนโดมิเนียม เธอและคุณบิ๊กได้ตัดสินใจมาเช่าที่ดินริมน้ำแปลงข้าง ๆ Sher Maker สตูดิโอออกแบบของพี่ตุ่ย รุ่นพี่จากสถาปัตย์ฯ ลาดกระบัง หลังจากแอบมองที่ดินแปลงนี้จากร้านกาแฟ Asama Cafe ฝั่งตรงข้ามมานาน
“ตอนแรกก็ลังเล หลายคนก็ไม่เห็นด้วย ถามว่าทำไมไม่ซื้อบ้านไปเลย แต่ด้วยความกะทันหันแบบนี้ เราก็ไม่อยากกดดันตัวเองทำสิ่งที่อาจจะไม่เหมาะกับเรา บวกกับแอบมองที่ดินตรงนี้มานาน พอรู้ว่าปล่อยเช่า และพอเราลองคำนวณเรื่องงบประมาณดูแล้วว่า คุ้มกว่าการเช่าบ้านและรีโนเวตใหม่ก็ตัดสินใจเลย” ด้วยความชอบลองทำอะไรใหม่ ๆ รวมถึงเงื่อนไขของงบประมาณ ทำให้บ้านหลังนี้เป็นเสมือนสนามที่ให้ทั้งคู่ได้ทดลองทั้งเรื่องของวัสดุ ดีเทลการออกแบบ การได้ลองทำเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการคุมงานก่อสร้างเองทั้งหมด ซึ่งการออกแบบบ้านของตนเองในครั้งนี้ ทำให้ทั้งคู่ได้แลกเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาหน้างานกับช่างในพื้นที่หลากหลายแง่มุม จนเกิดเป็นดีเทลงานออกแบบใหม่ ๆ บนพื้นที่ทดลองขนาด 97 ตารางเมตร ของพวกเขาเอง
ความตั้งใจที่อยากจะแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น จากเดิมบ้านหลังใหม่จึงถูกจัดสรรพื้นที่ออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ โดยสเปซส่วนด้านหน้าถูกวางไว้เป็น Common Area ประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่น รับแขก และส่วนครัว ซึ่งเป็นที่ประจำของคุณบิ๊กที่มักจะตื่นมาเตรียมอาหาร ดริปกาแฟ ในทุก ๆ เช้าก่อนออกไปทำงาน ถัดจากพื้นที่ส่วนครัว ปรับลดสเต็ปพื้นเพื่อเปลี่ยนฟังก์ชันมาเป็นสตูดิโอทำงาน ที่ที่คุณบี้ทจะใช้เวลาช่วงกลางวันทำงานในบริเวณนี้ เมื่อตกเย็นชานหน้าบ้านยังเป็นที่โปรดของทั้งคู่
นอกจากจะได้นั่งพักผ่อนมองวิวพระอาทิตย์ตกบนผิวน้ำแล้ว ทั้งสองยังตั้งใจใส่ฟังก์ชัน “แม่เตา” หรือเตาไฟที่ผนวกเข้ากับพื้นชานเอาไว้สำหรับนั่งผิงไฟทอดอารมณ์ในวันที่อากาศเย็นและในบางครั้งก็กลายเป็นพื้นที่ปาร์ตี้สังสรรค์ของเหล่าเพื่อนฝูงที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนอีกด้วย
ในส่วนของพื้นที่ด้านหลัง จัดสรรให้เป็นส่วนของ Private Area พื้นที่ห้องนอน ห้องน้ำ ส่วนเก็บเสื้อผ้า และยังเป็นอาณาจักรของจุ๋งและจูดี้ สองแมวพี่น้องผู้ชอบร้องขอออกไปเดินเล่นนอกบ้าน พร้อมทิ้งตัวถูไถไปกับพื้นปูนขัดมันเท็กซ์เจอร์โปรดบริเวณคอร์ริดอร์ทางเดินที่ทอดยาวสวมเข้ากับตีนต้นตะแบกที่ถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับชานบ้าน ทำหน้าที่เชื่อมและแบ่งพื้นที่ระหว่างโซน Common Area และ Private Areaในเวลาเดียวกัน ทั้งยังเป็นช่องให้ลมได้หมุนเวียนถ่ายเทระหว่างวัน
กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ถูกออกแบบให้เป็นชานทางเดินรอบบ้าน ที่มีฟังก์ชันหลักกลายเป็นรันเวย์ให้จุ๋งและจูดี้ได้เดินเล่นรับแดดยามเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แสงแดดพาดผ่านช่องหน้าต่างร่อนเงาลงทาบบนพื้นสตูดิโอ เกิดแสงเงาล้อกับช่องแสงบริเวณหน้าจั่วที่คุณบีทเลือกใช้แผ่นพอลิคาร์บอเนทสีอมเทาแทนการใช้กระจกใส เพื่อกรองแสงแต่ยังคงให้เอฟเฟ็กต์เงาใบไม้เต้นระยิบจาง ๆ จากภายนอกอยู่ ผนวกเข้ากับหลังคาลอนลูกฟูกโปร่งแสงที่มุงบนพื้นที่ชานบางช่วง ยังช่วยเชื่อมโยงบรรยากาศภายนอกเข้าสู่ภายในผ่านแสงและเงาระหว่างวัน
นอกจากตัวบ้านที่ยกขึ้นสูงจากพื้นดิน 40 เซนติเมตร จะทำหน้าที่กันน้ำเข้าจากสภาพพื้นดิน ซึ่งเป็นแอ่งน้ำในวันฝนตกแล้ว ยังเป็นระยะที่ชวนนั่งห้อยขาเล่นกับแมวในวันแดดออก รวมถึงการยื่นพื้นชานออกมาจากฐานรากให้ได้ระยะที่เกิดแสงเงานิดหน่อย ช่วยทำให้ตัวบ้านดูมีมิติมากขึ้น ขณะที่ดีเทลเสาคีบที่ยื่นออกมารับหลังคาระเบียง นอกจากจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ประหยัดการใช้ไม้ลงแล้ว เส้นคู่จากไม้ขนาด 2×4 นิ้ว ที่ตั้งขึ้นรับโครงสร้างหลังคา ยังสอดรับกับเส้นแพตเทิร์นผนังบ้านที่ก่อจากอิฐ TAN BRICK โชว์แนวให้เห็นคาแร็กเตอร์ของเส้นเซาะร่องคู่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตัววัสดุเอง
“เราตั้งใจให้บ้านหลังนี้ เป็นโครงสร้างไม้ทั้งหมด มันสะดวกในการรื้อถอนหากวันหนึ่งต้องย้ายออก มีหน้าต่างกับประตูหลาย ๆ บานที่เราไปได้มาจากแหล่งขายไม้เรือนเก่าที่ลำพูน เรารู้สึกว่าการสร้างบ้านหลังนี้ เหมือนเป็นการรีไซเคิลวัสดุ หลาย ๆ สิ่งเราก็วนเอากลับมาใช้อีกครั้ง หรืออาจจะเอาไปใช้ได้อีกในอนาคต หน้าต่างบางบาน เสาบางต้น เรื่องราวบางเรื่องถูกบันทึกผ่านสิ่งของเหล่านั้น และมันทำให้เรารู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งกับบ้านจริง ๆ”
ภายใต้ความลังเลในการเช่าที่ดินชั่วคราวเพื่อสร้างบ้าน อาจเคยเป็นประเด็นที่ถกเถียงและคิดไม่ตกในตอนแรก หากแต่การได้ใช้เวลาเป็นส่วนหนึ่งกับสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับตัวเอง หรือแม้กระทั้งการได้เป็นเจ้าของความทรงจำร่วมกับสิ่งของที่รักในปัจจุบันทุก ๆ วัน ก็กลับให้คุณค่าทางความรู้สึกกับคนทั้งคู่ได้อย่างเรียบง่ายและงดงาม