สู่บทใหม่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย Design 103 - room

สู่บทใหม่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย Design 103 International Limited

ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานที่ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนของสถาปัตยกรรมเพื่อการประชุมและแสดงสินค้าของประเทศไทย และในปีนี้หลังจากที่ได้ปิดปรับปรุงมาอย่างยาวนาน ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กำลังจะกลับมาใหม่พร้อมกับหลายสิ่งที่ทั้งต่อยอด และสืบสานเอาไว้

วันนี้ room ได้รับเกียรติจาก คุณนพดล ตันพิวัฒน์ CEO บริษัท Design 103 International Limited ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบสถาปัตยกรรมให้กับศูนย์ฯ สิริกิติ์ โฉมใหม่แห่งนี้มาเล่าให้ฟังถึงแนวคิดและสิ่งที่แฝงอยู่ในงานออกแบบในครั้งนี้

จากอดีต ก้าวล้ำสู่อนาคต

“ถ้าให้ย้อนกลับไปถึงศูนย์ฯเดิม ก็ต้องกลับไปเมื่อตอนสร้างเสร็จราวๆ ปี 2534 ตอนนั้นเริ่มใช้สำหรับเป็นที่จัดการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 46  ธีมของสถาปัตยกรรมจะเป็นการนำแนวคิดของเรือนไทย 4 ภาคมานำเสนอสถาปัตยกรรมไทย ส่วนในครั้งนี้เมื่อต่อยอดจากโจทย์เดิมที่เคยถูกใช้มา ในการออกแบบนั้นเราก็จะมี Core ของการทำงานอยู่ 3 เรื่อง นั่นคือ Inspiration, Integration และ Innovation ในการทำงานเพื่อให้ครอบคลุมต่อการใช้งานในอนาคตต่อไป”

“ถ้าถามว่าภาพของศูนย์ที่ดูเรียบง่ายขึ้นนี้มีที่มาอย่างไร อาจต้องย้อนกลับไปมองเรื่องอัตลักษณ์ที่เราตีโจทย์เรื่องของสถาปัตยกรรมไทยทั้งในดีไซน์เดิม และดีไซน์ใหม่นี้ การ Approach นั้นมีได้หลายวิธี อย่างศูนย์เดิมเรา Approach เรื่องของเรือนไทย 4 ภาค ก็จะเป็นสเกลของเรือนไทย พอมาศูนย์ใหม่ที่มีพื้นที่ของศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ซึ่งจะไม่ใช่สเกลเดิมแล้ว การที่จะตีโจทย์สถาปัตยกรรมไทยก็จะไม่ได้ออกมาเป็นรูปธรรมซะทีเดียว จะกลายเป็นนามธรรมมากกว่า ซึ่งเราไม่อยากทำให้ตัวสถาปัตยกรรมหลุดออกไปจากธีมโครงการที่ตั้งใจไว้ นั่นคือ สืบสาน รักษา ต่อยอด เราก็มาตีความว่าความเป็นสากลมันจะออกมาเป็นยังไง ที่แน่ๆ คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ที่มีที่มาจากพระจริยวัตรอันงดงาม เรื่องของเส้นโค้งและวัสดุที่เป็นอิสระ ส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ศูนย์มีความสมบูรณ์มากขึ้น จึงไม่ใช่แค่เรื่องของสถาปัตยกรรมอย่างเดียว แต่มันจะมีเรื่องของ Interior ด้วย ถ้ามองดีๆ กระจกที่เราใช้ ช่วงหนึ่งของเวลาจะมองเห็น Space และรายละเอียดข้างในที่เป็นส่วนของ Interior ที่ตกแต่งไว้ เป็นการเสริมกันโดยที่ไม่มีใครเด่นไปกว่าใคร”

“Feature หลักๆ ของตัวอาคารคือ นอกจากการเป็นศูนย์ประชุมแล้ว ยังเป็นส่วนแสดงสินค้า (Exhibition Hall) ซึ่งฮอลล์ที่เราทำตอนนี้เป็น Vertical Exhibition แห่งแรกในเมืองไทย เป็น Exhibition ที่ซ้อนกัน 2 เลเยอร์ ทั้ง 2 ชั้นก็มีคาแรคเตอร์ที่ต่างกัน ชั้นล่างจะเป็น Exhibition ที่มีช่วงกริดเสา ประมาณ 27 x 27 เมตร เพดานสูงประมาณ 7 เมตร พื้นที่ของฮอลล์ทั้งหมดประมาณ 22,000 ตารางเมตรต่อหนึ่งชั้น ชั้น 2 จะเป็น Column Free และมีหลังคา Super Truss ที่มีช่วงพาดที่ยาวมาก ประมาณ 108 เมตร ตลอดความยาวห้อง 216 เมตร ฮอลล์ใหญ่จะมีเพดานสูงประมาณ 13.50 เมตร รวมพื้นที่ของฮอลล์ทั้งสองชั้นประมาณ 45,000 กว่าตารางเมตร สิ่งนี้เป็นความพิเศษที่ผู้แสดงสินค้าและผู้เข้าร่วมชมงานจะต้องประทับใจอย่างแน่นอน”

สถานที่ตั้งแบบนี้มันเอื้ออำนวยในการเชื่อมให้คนเข้ามาได้โดยตรง เป็นภาพจำของ “ศูนย์ที่อยู่คู่กับสวน” ซึ่งก็เป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากศูนย์แสดงสินค้าที่อื่นๆ อย่างชัดเจน”

“อีกส่วนที่เราสร้างสรรค์คือ จะมีจุดเชื่อมที่ว่าง Space ภายนอกและภายใน เรียกว่า Feature Stairs จะอยู่ตรงหัวมุมทางเข้าข้างหน้าฝั่งสวนเบญจกิตติ เป็นส่วนที่เราออกแบบมาเพื่อช่วยในการเชื่อมคนที่อยู่ข้างล่างกับข้างบน, เชื่อมที่ว่างภายนอกและภายใน รวมถึงเป็นพื้นที่ที่จะนำแสงสว่างธรรมชาติจากภายนอกอาคาร เข้าสู่ภายในอาคารที่บริเวณใต้ดินได้ นอกจากนั้นยังสามารถเป็นช่องทางอพยพคนจำนวนมาก จากชั้นใต้ดินขึ้นมาที่ระดับผิวดินได้อย่างปลอดภัย เวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ได้อีกด้วย

“อีกเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญเลยคือ เรื่องของระบบ Logistics (ระบบการเดินทางและขนส่ง) หากมีการจัดงานพร้อมกันทั้งสองชั้น เราจะให้มีการเซ็ตอัพโดยใช้เวลาน้อยที่สุด และใช้เวลาในการจัดงานได้มากที่สุด ฮอลล์ต่างๆ เราสามารถใช้รถในการโหลดของเข้ามาได้อย่างสะดวก โดยฮอลล์ชั้นล่างสามารถให้รถสิบล้อขับเข้ามาในฮอลล์ได้ และสำหรับฮอลล์ด้านบนสามารถให้รถเทรลเลอร์ เข้ามา unpack ในฮอลล์ได้เลย โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในเมือง พื้นที่ มีมูลค่ามาก เรามองว่าวิธีการในการโหลดดิ้ง (Loading) มันต้องมีคิวอิ้ง (Queuing) ซึ่งก็ได้ออกแบบรองรับไว้อย่างเพียงพอ ใต้ดินจะเป็นที่จอดรถ จอดได้ประมาณ 3,000 กว่าคัน ในการก่อสร้างงานนี้ เราโชคดีที่ได้ผู้รับเหมาที่ดีมาก มีเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่สามารถสร้างทุกอย่างให้เสร็จในเวลาที่จำกัด สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาจึงค่อนข้างลงตัวเมื่อถึงหน้างานจริง”

“ทั้งหมดที่กล่าวมาคือภาพรวมคร่าวๆ ของโครงการที่จะเห็นได้ว่า เราพยายามต่อยอดคำว่า “ศูนย์การประชุมแห่งชาติ” ให้เป็นที่สุดอย่างแท้จริง ทั้งในทำเล การใช้งาน รูปแบบ และความเป็นแลนด์มาร์คที่ผูกพันและเชื่อมโยงกับเมือง”

Inspiration แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมไทย สู่ความเป็นสากล

“แรงบันดาลใจหรือ Inspiration เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แรกเริ่มเรามีการตีโจทย์ต่างๆ มากมาย แต่สรุปแล้วเราก็ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมของสถาปัตยกรรมไทยเอาไว้ งานนี้ก็เป็นโอกาสดีที่มีพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อยู่ เราก็ตีความไปในทางของสถาปัตยกรรมไทยในรูปแบบสากลมากขึ้น เรามองถึงเรื่องพระจริยวัตรของพระองค์ท่าน ความสง่างาม เราก็จะใช้เส้นโค้งเพื่อสื่อถึงความอ่อนโยน ลักษณะของสถาปัตยกรรมเราจะไม่ได้มองแค่เรื่องภายนอก แต่จะมองเรื่องภายในด้วย คนที่อยู่ด้านในก็จะมองเห็นข้างนอกได้ด้วย เป็นการเชื่อม Space ระหว่างภายนอกและภายในเข้าหากัน เนื่องจากที่ตั้งอยู่ย่านกลางเมืองมีการเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นการเคลื่อนย้ายของคนที่มาศูนย์นี้ก็ออกไปสู่บริบทข้างเคียงซึ่งก็คือ สวนเบญจกิติ จึงมีความเชื่อมโยงกันอยู่ คนที่อยู่ด้านในก็จะมองเห็นบริบทของความเป็นสวนได้ เห็นน้ำหรือสวนป่า ตอนนี้ก็มีการดึงส่วนนี้เข้ามาในอาคาร ในขณะเดียวกันเวลามอง Outside-In มันก็จะสะท้อนบริบทของความเป็นธรรมชาติในตัวอาคาร มันเป็นการเชื่อมของคนที่อยู่ในเมืองและธรรมชาติ รวมถึงการตกแต่งภายในก็ออกแบบตั้งอยู่บนพื้นฐานของงานที่สร้างความเป็นไทยสู่ความเป็นสากลผ่านรูปทรงที่เรียบง่ายเช่นกัน”

“แต่หากถามว่า “จุดเด่นหรือภาพจำของศูนย์ฯ นี้คืออะไร?” อย่างแรกที่เราเห็นคือ ความกว้างในเชิงของสเกล มันไม่ได้เป็นศูนย์ที่มีความสูง มองในมุมหนึ่ง ถ้าศูนย์นี้มีความใหญ่ แล้วอยู่ด้านหน้ากลุ่มตึกที่มันสูง มันจะกลายเป็นว่าศูนย์นี้จะมีความโดดเด่นขึ้นมา ศูนย์นี้เรายังออกแบบภายใต้กฎหมาย เนื่องจากอยู่ในโซนที่จำกัดความสูงไม่เกิน 23 เมตร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันจะเป็นรูปทรงที่แผ่ในแนวนอนมากๆ แต่ถ้าเลยโซนนี้ไปด้านหลังจะเป็นตึกสูงหมดเลย Skyline ของตึกเป็นการมองแบบ Reverse เหมือนมอง Negative Film ความสูงของตึกที่อยู่โดยรอบกลายเป็นแบ็คดรอปให้กับศูนย์นี้ และเนื่องจากโดยรอบเป็นต้นไม้ เลยเป็นตัวเสริมให้ศูนย์มีความเป็นเอกลักษณ์ในตัวของมันเอง เราใช้คำว่าบ้านเล็กในป่าใหญ่ มันเป็นศูนย์หรืออาคารหลังเล็กๆ ที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งสถานที่ตั้งแบบนี้มันเอื้ออำนวยในการเชื่อมให้คนเข้ามาได้โดยตรง เป็นภาพจำของ “ศูนย์ที่อยู่คู่กับสวน” ซึ่งก็เป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากศูนย์แสดงสินค้าที่อื่นๆ อย่างชัดเจน”

Integration บูรณาการอาคารร่วมกับการพัฒนาเมือง

ส่วนเรื่อง Integration เรามีการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ด้านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Security, Sustainability ดังนั้นเรามองว่างานสถาปัตยกรรมจะเป็นงานแรกที่ต้องเก็บข้อมูลรายละเอียดให้มากที่สุด  แล้วถึงจะส่งให้คนอื่นๆ ทำต่อได้

โดยหลักเลยคือเรามองในเรื่องของความคล่องตัว การเดินทางเข้าถึง (Mobility) และจากโลเคชั่นที่ศูนย์ตั้งอยู่การเดินทางที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดคือ รถไฟฟ้าใต้ดิน ตอนที่เราเริ่มทำศูนย์ฯ สิริกิติ์ใหม่เราก็มองตัวนี้เป็นคีย์หลักเพื่อการเคลื่อนย้ายคนที่อยู่รอบๆ เมืองเข้ามาในศูนย์ได้ง่ายที่สุด นอกจากนั้นเรามองว่าศูนย์จะกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงคนเข้ามาในสวน ดังนั้นเวลาเราเชื่อมให้คนเข้ามาในส่วนนี้ จะทำให้คนได้ใช้ประโยชน์มากขึ้นด้วย

อีกส่วนหนึ่งก็คือศูนย์ฯนี้อยู่ร่วมกับแผนพัฒนา Green Belt ของกรุงเทพมหานคร การออกแบบที่สร้างให้ศูนย์เป็นเหมือนแหล่งพักพิงร่วมกับสวนป่าเบญจกิติ และสอดคล้องกับระบบขนส่งสาธารณะจึงเป็นอีกส่วนหลักที่ต้องคำนึง การออกแบบในเรื่อง Mobility ช่วยสร้างความเชื่อมโยงเหล่านี้เข้าหากันให้ลงตัวได้ในที่สุด

Innovation สู่อาคารต้นแบบแห่งความยั่งยืน

เรื่องสุดท้ายคือ Innovation เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เราก็มองว่าในอนาคตมันจะยั่งยืนต่อไปยังไง เรามองเรื่องของ Sustainability ลดการใช้พลังงาน มีการใช้วัสดุต่างๆ เพื่อให้อาคารผ่านเกณฑ์ของ LEED Silver เป็นอาคารประเภทศูนย์ประชุมอาคารเดียวในไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ อีกเรื่องที่เรามองคือ เรื่องของพลังงานทดแทน พื้นที่หลังคาของอาคารบางส่วนเราก็ติดตั้ง Solar Roof ซึ่งมีความสามารถในการผลิตกำลังไฟที่จะเอามาใช้ประมาณ 1 เมกะวัตต์ เราพยายามสร้างให้โครงการนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างสรรค์งานที่ช่วยสังคมในบริบทต่างๆ ในระยะใกล้ และไกลไปพร้อมๆ กัน เพราะหลายโครงการก็ต้องมองเทรนด์การลดโลกร้อนกันนับแต่วันนี้แล้วเช่นกัน

ด้วยโลเคชั่นที่ตั้งอยู่ในย่าน New CBD และยังโอบล้อมด้วยธรรมชาติของสวนเบญจกิติ ที่เป็นเสมือนปอดใจกลางเมือง         สิ่งเหล่านี้จะสร้างให้สภาพแวดล้อมของคนมีการใช้ชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติมากขึ้น อันเป็นผลพลอยได้ของการมีสวนที่ใหญ่ อยู่ใกล้ๆ ทำให้เทรนด์การลดภาวะโลกร้อน การมีส่วนร่วมปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติที่คนพูดถึงต่อไปในอนาคต จะเป็นรูปแบบของการปฏิบัติจริงมากขึ้น โครงการนี้อาจจะเป็นโครงการแรกๆ แต่ต่อไปก็จะมีเพิ่มขึ้นโดยให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในเรื่องของธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยครั้งนี้โครงการเรามีข้อได้เปรียบอยู่แล้วเพราะอยู่ในบริเวณปอดใหญ่ เพราะเรื่องการขยับเข้าหาธรรมชาตินั้นคงเป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น ในต่างประเทศเค้าก็มองการณ์ไกล มองไปถึงการใช้ชีวิตนอกโลกกันแล้ว แต่ในตอนนี้ต้องมาคุยกันว่าจะทำยังไงไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ถ้าทุกโครงการมีแนวคิดในการพัฒนาอย่างนี้ จะทำให้ประเทศมีมลภาวะน้อยลง ท้ายที่สุดประชาชนก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การสร้างให้ศูนย์อยู่ร่วมกับสวนได้อย่างดีจึงเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เราตั้งใจสร้างให้เกิดขึ้นจริง และเป็นตัวอย่างให้กับทุกๆ คน

และนี่ก็คือหลากหลายแนวคิดอันน่าสนใจในงานสถาปัตยกรรมอีกแห่งที่จะกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประเทศไทยดังเช่นที่เคยเป็นมากับ “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” ที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า และจะพร้อมต้อนรับทุกท่านอย่างแน่นอน ในเดือนกันยายนนี้ โปรดติดตาม



เรื่อง: Wuthikorn Sut