“สถาปนิกแห่งป่าฝนร้อนชื้น” คำจำกัดความที่บ่งบอกแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิรัส พัชรเศวต ผู้ก่อตั้งสำนักงานออกแบบ EAST architects
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิรัส พัชรเศวต อาจารย์และอดีตหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานเด่นชัดในสถาปัตยกรรมสไตล์ทรอปิคัลโมเดิร์น ที่มีแก่นความคิดในการอยู่ร่วมกับดินฟ้าอากาศอย่างเข้าใจธรรมชาติ
การออกแบบบ้านในอดีตและปัจจุบัน มีความต่างหรือเหมือนกันอย่างไร
ในเชิงความเป็นมนุษย์ คนที่อยากสร้างบ้านมีความต้องการคล้ายๆกัน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน คือ เป็นบ้านที่อยู่สบาย ความสบายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนชอบ โดยภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เราอยู่ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลหลักอย่างหนึ่งในการออกแบบบ้าน ซึ่งประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนชื้น บ้านจึงได้รับการออกแบบให้อยู่สบาย ไม่ร้อน และสั่งสมจนเป็นภูมิปัญญาไทย ส่วนรูปแบบอาคารที่มาห่อหุ้มนั้น เป็นไปตามคติความเชื่อ และเทคโนโลยีการก่อสร้าง
ในส่วนรูปแบบบ้านที่นิยมในแต่ละสมัย เราต้องแยกกันเป็นสองส่วน คือ รสนิยม หรือ Taste เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเช่นนั้นในทุกยุคสมัย ส่วนความนิยมส่วนรวมน่าจะตรงกับความหมายของ -ism (อิส’ซึม) เช่น Modernism Minimalism คือ นิยมกันแพร่หลาย ซึ่งเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีโซเชียลมีเดียให้เข้าถึงความนิยมสากลอย่างรวดเร็ว ก็จะถูกคลี่คลายกลายเป็นรสนิยมส่วนบุคคล รูปแบบบ้านจึงมีการเปลี่ยนแปลง และมีหลายแนวคิดที่เพิ่มขึ้นมา เช่น เรื่องพลังงาน การดูแลรักษาง่าย และเทคโนโลยีรองรับการอยู่อาศัย เช่น การติดตั้งลิฟต์ในบ้าน ซึ่งเป็นไปได้ยากสำหรับบ้านในอดีต
สไตล์ทรอปิคัลเป็นอย่างไร
บ้านเราอยู่ในโซนทรอปิคัล คือ อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นโซนที่ใน 1 ปีจะมีเวลากลางวันและเวลากลางคืนเท่ากันอย่างน้อย 1 วัน ประเทศที่ตั้งอยู่ในโซนนี้ก็จะมีสภาพภูมิอากาศคล้ายๆกัน ส่งผลให้การออกแบบสถาปัตยกรรมมีบางอย่างคล้ายคลึงกัน ด้วยหลักการคิดเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติให้มากที่สุด กอดธรรมชาติไว้ นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา และนำเราไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งในสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ก็เป็นปกติที่บ้านจะทำชายคายื่นยาว มีการเปิดรับลม และระบายอากาศ แต่จะแตกต่างกันในมิติอื่นๆ ซึ่งมีเรื่องคติความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นของโลกที่มีผลทำให้รูปแบบบ้านแตกต่างกัน
คนเมืองปัจจุบันจะอยู่สบายตามหลักธรรมชาติได้อย่างไร
บ้านในเมืองพื้นที่ก็จะเล็กกว่าบ้านชานเมือง แต่เรายังยึดหลักการเดิมได้คือ การอยู่กับธรรมชาติ ทั้งแดด ลม ฝน แต่แน่นอนว่าบางอย่างนั้นทำไม่ได้ เช่น อาจไม่สามารถยื่นชายคายาวๆได้ถ้าพื้นที่แน่นเกินไป แต่ควรมีสัดส่วนพื้นที่ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ ซึ่งจะมากน้อยตามแต่ละกรณี อาจเป็นการนำธรรมชาติเข้ามาอยู่ภายใน การออกแบบผนังที่ระบายอากาศได้แทนผนังทึบตัน โดยมีสิ่งที่ชดเชยได้คือ การเพิ่มระดับความสูงภายในบ้านให้โปร่งขึ้น เมื่อมีแกนหลักในการออกแบบแล้ว เราค่อยคิดวิธีการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน และยังคงมีความสวยงาม จึงไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบใด
บ้านทรอปิคัลมีความคล้ายกัน แล้วแบบไหนจึงสัมผัสได้ถึงความเป็นบ้านไทย
สถาปัตยกรรมที่มีความเป็นไทยจะสะท้อนจากวัฒนธรรมที่เกี่ยวพันกับสภาพอากาศร้อนชื้นมาแต่โบราณ และบุคลิกที่นานาชาติรับรู้ได้ถึงความเป็นคนไทย คือ ความสุภาพ ความประณีต ประณีตสถาปัตยกรรมจึงเป็นอย่างหนึ่งที่เราแตกต่างจากประเทศอื่น โดยสะท้อนไปที่องค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่มีชั้นมีเชิง การเรียงลำดับโครงสร้างและองค์ประกอบในการก่อสร้างทั้งวัด วัง และบ้าน จนหล่อหลอมเป็นความคุ้นชินของช่างและสถาปนิกไทย เมื่อออกแบบบ้านและสถาปัตยกรรมจึงแฝงบุคลิกและประณีตสถาปัตยกรรมไปโดยธรรมชาติ
บ้านไทยนิยมมีใต้ถุน ยกพื้นบ้านสูง การออกแบบบ้านปัจจุบันควรยกพื้นสูงเท่าไร
แล้วแต่พื้นที่ครับ แต่แนะนำว่าถ้าทำได้ควรทำบ้านยกพื้นสูงไว้ก่อน บ้านที่ออกแบบมักทำพื้นสูง 1.50 เมตร และทำใต้พื้นให้สะอาด มีลมพัดผ่านได้ ก็จะไม่เป็นที่อยู่ของสัตว์ ป้องกันปลวกได้ระดับหนึ่ง และเดินงานระบบใต้พื้นได้ ซึ่งก็มาจากภูมิปัญญาโบราณที่ยังใช้ได้ดี
การสร้างบ้านและสถาปัตยกรรมในไทย ควรแสดงความเป็นไทยไหม
เป็นเรื่องที่ขบคิดและตีความกันในทุกยุคสมัย เราควรมาขบคิดกันก่อนว่า “ความเป็นไทย” คืออะไร ถ้ายึดกับไทยประเพณีก็เห็นภาพชัดเจน เป็นเรือนหมู่ มีเรือนนอน เรือนขวาง มีชานเชื่อม แต่ถ้าความหมายของคำว่า “ไทย” คือ คนไทย เป็นบ้านที่คนไทยอยู่อาศัย มีวิถีชีวิตแบบไทยๆ ตามยุคสมัย หรือ “ไท” ที่แปลว่า ความมีอิสระในตัว ก็จะไม่จำกัดที่รูปลักษณ์ และถ้า “ไทย” หมายถึง สถานที่ตั้ง ก็จะสะท้อนออกมาเป็นการออกแบบตามหลักสถาปัตยกรรมทรอปิคัล โดยส่วนตัวจะเชื่อและทำตามแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมที่อยู่แล้วสบายตามธรรมชาติ โดยไม่จำกัดรูปแบบ ความเป็นไทยก็จะสะท้อนอยู่ในสถาปัตยกรรมที่ยึดธรรมชาติแวดล้อมเป็นหลักอยู่แล้ว
การสร้างสถาปัตยกรรมมีปัจจัยเบื้องต้นหลักๆ คือ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ คติความเชื่อที่มีการตีความให้เป็นรูปธรรม และเทคโนโลยีการก่อสร้าง เมื่อนำมารวมกันก็จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความหมาย เป็นเรือนไทยอย่างที่เห็น มีคติความเชื่อผสมเข้าในในรูปของศิลปะเชิงสัญลักษณ์ จนเป็นภาพจำรูปลักษณ์ของเรือนไทยประเพณี และเมื่อสถาปัตยกรรมผ่านเวลาไปนานๆและคนยังให้คุณค่า ก็จะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงชนชาตินั้นๆ เช่นเดียวกับเรือนไทยประเพณี บ้านจีนโบราณ ซึ่งเราควรรักษาไว้
ในมุมมองของผม เราควรดำรงอัตลักษณ์ที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นไทยไว้ แต่ถ้าถามว่าทุกคนต้องทำไหม ก็ตอบว่าเราไม่จำเป็นต้องทำ เพราะจริงๆแล้วทั้งงานสถาปัตยกรรม การแต่งกาย การทำอาหาร การแสดงออกทางสังคม ไม่ว่าจะครอบด้วยรูปทรงอะไร มีความหลากหลายผสมผสานกันอยู่ ก็ยังเชื่อว่าเราทุกคนมีความเป็นไทยอยู่ในตัวเอง แต่อาจต่างมิติกัน
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารบ้านและสวน กันยายน 2565