รีโนเวต ตึกแถวเก่า ย่านสาทร ให้เปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งภายในและภายนอก - room

รีโนเวต ตึกแถวเก่าย่านสาทร ให้เปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งภายในและภายนอก พร้อมดีไซน์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของ 3 ครอบครัวในตึกเดียว


DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: One and a Half architects

บ้านหลังนี้เกิดขึ้นจากความต้องการหาบ้านหลังใหม่ให้กับลูกทั้งสองคนของเจ้าของบ้าน ซึ่งเริ่มจากการมองหาคอนโดมิเนียม แต่ด้วยราคาคอนโดมิเนียมกลางใจเมืองมีราคาที่สูงหลายสิบล้าน จึงกลับมาดูตึกแถวเดิมของครอบครัว อายุประมาณ 30 ปี ในย่านสาทร ซึ่งเหมาะสมทั้งทำเลและการเดินทางที่สะดวกสบาย ก่อนตัดสินใจเลือกที่จะรีโนเวตตึกแถวนี้ ให้เป็นบ้านใหม่ของครอบครัว โดยยังคงโครงสร้างอาคารเดิมไว้ แล้วปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในใหม่เพื่อให้เข้ากับความต้องการใช้งานของสมาชิกแต่ละคน

ฟาซาดด้านหน้าอาคารส่วนที่เป็นหน้าต่างบานพับ ออกแบบหน้าตาเป็นลักษณะเดียวกับแผงฟาซาดทำให้ดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ต้นไม้ยื่นออกมาจากระเบียงเพิ่มความเป็นธรรมชาติให้กับตัวบ้าน

#ขยายพื้นที่ใช้งานด้วยดับเบิ้ลสเปซในตึกแถว ความต้องการของเจ้าของบ้านที่บอกกับทีมสถาปนิกจาก One and a half Architects คือต้องการให้ลูกทั้งสองคนมีพื้นที่ของตัวเอง ต้องการคุณภาพการอยู่อาศัยเทียบเท่าคอนโดมิเนียมหรูกลางเมือง สถาปนิกจึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจโครงสร้างอาคารเดิม ซึ่งพบว่ายังแข็งแรงใช้งานได้ดีอยู่ จากนั้นจึงออกแบบแก้ปัญหาพื้นที่เดิมแล้วจัดวางฟังก์ชันใหม่ โดยแบ่งกลุ่มภายในอาคารเป็น 3 ส่วนหลัก คือ พื้นที่ส่วนกลางที่ชั้น 1 พื้นที่ครอบครัวของลูกชายชั้น 2 และพื้นที่ครอบครัวของลูกสาวชั้น 3 จากของเดิมที่เคยมีเพดานเตี้ยได้แก้ปัญหาด้วยการตัดพื้นเดิมออก แล้วปรับให้แต่ละโซนมี ดับเบิ้ลสเปซเป็นของตัวเอง จัดการย้ายบันไดมาอยู่ในตำแหน่งใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ใช้งานภายในให้กว้างขึ้น และออกแบบให้มีช่องแสงเหนือบันไดช่วยนำพาแสงสว่างเข้ามายังพื้นที่ภายในบ้านจึงดูโปร่งขึ้น

ห้องนั่งเล่นชั้น 1 ออกแบบเป็น Double Space เชื่อมต่อกับห้องลูกชายชั้น 2 ซึ่งทำเป็นระเบียงกระจกใส มองเห็นการใช้งานระหว่างกันของชั้น 1 และชั้น 2
Living Area ชั้น 3 ออกแบบเป็นพื้นที่นั่งเล่น ที่มีโต๊ะทำงานพร้อมตู้เก็บของติดผนังขนาดใหญ่มีตู้บานเปิดหน้าบานสีขาวด้านบนซึ่งออกแบบให้เรียบเนียนไปกับผนังสีขาว

#บ้านสามหลังในตึกเดียวสถาปนิกออกแบบฟาซาดอาคารให้มีรูปทรงเหมือนบ้าน 3 หลัง สะท้อนถึงการจัดสรรพื้นที่ภายในออกเป็น 3 ส่วน โดยใช้โครงสร้างเหล็กเจาะรูทำเป็นหน้าต่างเปิด-ปิดได้ ตัวฟาซาดทำหน้าที่กรองแสงแดด กรองฝุ่นควันจากรถที่สัญจรผ่านไปมาตลอดทั้งวัน ทั้งยังช่วยกรองเสียง และบังสายตาจากคนภายนอกได้ด้วย โดยการออกแบบนี้เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการเลือกลวดลายเหล็กเจาะรูเอง ทำให้ได้ลายเรขาคณิตตรงกลางของแผ่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างจากบ้านหลังอื่น นอกจากนั้นยังทำแผ่นฟาซาดให้ออกมามีความ Frameless คือให้ด้านหน้าเรียบเนียนเสมอกันมากที่สุด หรือดูเหมือนไม่มีกรอบของแผ่นเหล็ก ส่วนสีสันของตัวบ้านทั้งด้านนอกและด้านใน สถาปนิกออกแบบโทนสีให้มีความละมุนโดยใช้สีขาว พื้นไม้โทนสว่าง และกระเบื้องสีเทาให้ออกมาดู Timeless สวยงามต่อไปได้ในระยะยาว

มุมต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับระเบียงบ้าน เป็นที่พักผ่อนสายตาอีกหนึ่งจุด
ห้องนั่งเล่นชั้น 1 เป็นพื้นที่ Open Plan ต่อเนื่องไปยังส่วนรับประทานอาหาร ใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้สมาชิกครอบครัวได้ใช้งานร่วมกัน
ครัวแบบไอส์แลนด์ออกแบบพื้นที่แคบให้มีเคาน์เตอร์ใช้งานตรงกลางห้อง สามารถเตรียมอาหารและนั่งรับประทานอาหารได้ที่ไอส์แลนด์ได้เลย มีช่องเปิดรับแสงจากฝั่งหลังบ้าน ทำให้ห้องครัวสว่าง โปร่ง ไม่อึดอัด

#ปรับคุณภาพการอยู่อาศัยใหม่ให้สมาชิกในครอบครัวพื้นที่ภายในแบ่งการใช้งานออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ชั้น 1 เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีห้องรับแขก ชั้น 2 เป็นพื้นที่ของลูกชาย และชั้น 3 เป็นพื้นที่ของลูกสาว แต่ละชั้นมีฟังก์ชันใช้งานครบถ้วนเป็นของตัวเอง เป็นเสมือนห้องสวีทขนาดใหญ่ที่มีห้องนอน ห้องนั่งเล่น พื้นที่ทำงาน และห้องน้ำ โดยกั้นประตูตรงโถงบันไดเพื่อความเป็นส่วนตัว และมีห้องนอนสำหรับแขกอีกชั้นละ 1 ห้อง อยู่ฝั่งหลังบ้าน สำหรับรองรับเพื่อน หรือญาติที่มาพักอาศัยที่บ้าน โดยแยกส่วนกับพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของบ้านอย่างชัดเจน สำหรับส่วนรับประทานอาหาร และครัวกำหนดให้อยู่ที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกคนได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ขณะที่พื้นที่สีเขียวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เลือกใส่ลงไปในอาคาร โดยออกแบบให้อยู่ที่ระเบียงหลังฟาซาดหน้าบ้าน ใช้เป็นมุมนั่งเล่นเล็ก ๆ สำหรับพักผ่อนสายตา แถมยังช่วยกั้นระหว่างสภาพแวดล้อมภายนอกกับตัวบ้านอีกชั้นหนึ่งได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือการออกแบบเพื่อให้ได้พื้นที่คุณภาพสำหรับอยู่อาศัยในบริบทที่ตั้งเดิม ภายใต้โครงสร้างของอาคารตึกแถวเก่าอย่างที่เจ้าของบ้านต้องการ

ด้วยการออกแบบฝ้าเป็นแบบ Double Space และติดตั้งกระจกใสหน้าบ้านทำให้แสงธรรมชาติเข้ามาในตัวบ้าน แสงธรรมชาติเหมาะกับการพักผ่อน และนั่งทำงาน มีฟาซาดช่วยกรองแสงอีกชั้น บังสายตาจากคนภายนอก ทำให้ห้องเป็นส่วนตัวมากขึ้น
ห้องนอนชั้น 3 เจาะช่องหน้าต่างที่หัวเตียงทั้งสองข้างให้แสงธรรมชาติเข้ามาภายในห้อง ทำให้รู้สึกว่าห้องนอนไม่อึดอัด และเปิดระบายอากาศได้
ห้องน้ำชั้น 3 ออกแบบให้อ่างล้างหน้าเป็นจุดตรงกลาง แยกส่วนอาบน้ำและโถสุขภัณฑ์ไว้ฝั่งซ้ายและขวา ด้านหลังของอ่างล้างหน้ามีช่องแสงและเว้นระยะส่วนอ่างล้างหน้าถึงหน้าต่างเพื่อให้แสงส่องเข้าถึงห้องน้ำทั้งหมด
โครงสร้างบันไดเหล็ก ออกแบบให้บางเรียบไม่เทอะทะแต่แข็งแรง กรุทับด้วยไม้ให้ผิวสัมผัสธรรมชาติต่อเนื่องไปกับพื้นทางเดินภายในบ้าน

บ้าน ST13 House เป็นบ้านที่นำอาคารเก่ามาออกแบบการใช้งานใหม่ได้อย่างน่าสนใจ สามารถเอาชนะเงื่อนไข และปัจจัยต่าง ๆ ของอาคารเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้าง พื้นที่ใช้งานที่คับแคบ และปัญหาสภาพแวดล้อมรอบตัวอาคาร โดยสถาปนิกได้ออกแบบฟังก์ชันใหม่ให้สอดคล้องไปกับความต้องการใช้งานของเจ้าของซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ พร้อม ๆ กับแก้ปัญหาสเปซเดิมได้อย่างลงตัวบนฐานของโครงสร้างเดิมโดยไม่ต้องรื้อทำลาย และสร้างใหม่แต่อย่างใด

พื้นที่นั่งเล่นชั้น 3 มองเห็นวิวภายนอก และมีต้นไม้ช่วยบังสายตาจากภายนอกอีกชั้นไม่ให้เปิดโล่งมากจนเกินไป
ฟาซาดเหล็กเจาะรูหน้าบ้านเจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบแพทเทิร์นลวดลายเป็นรูปเรขาคณิต ทำให้ได้ลายที่ต่างจากฟาซาดเหล็กเจาะรูแบบทั่วไป

#DesignTipsการออกแบบพื้นที่ใหม่ให้ตึกแถวเก่า ไม่จำเป็นต้องรื้ออาคารหลังเดิมทั้งหมดทิ้ง เพราะการรื้อสร้างใหม่จำเป็นต้องเว้นระยะจากขอบอาคารโดยรอบทำให้พื้นที่ใช้งานอาคารลดลง และยังทำให้งบประมาณก่อสร้างสูง หากโครงสร้างเดิมของอาคารยังแข็งแรงอยู่ เราสามารถออกแบบจากข้อจำกัดพื้นที่เดิมให้ตรงตามความต้องการได้ เช่น เจาะช่องพื้นเพื่อสร้างดับเบิ้ลสเปซให้ฝ้าเพดานสูงกว่าเดิม ช่วยให้ได้คุณภาพการอยู่อาศัยในระดับที่ใกล้เคียงกับการสร้างบ้านหลังใหม่ได้เช่นกัน

บรรยากาศช่วงเย็นมีแสงจากไฟสีวอร์มไวท์ส่องทะลุจากภายในบ้านออกมายังข้างนอก สร้างบรรยากาศให้ตัวบ้านโดยรวมดูอบอุ่นมากขึ้น

และอีกหนึ่งดีไซน์ที่ตอบโจทย์บ้านตึกแถวในเมือง คือการออกแบบ “ฟาซาด” ด้านหน้าอาคาร ซึ่งทำหน้าที่กั้นระหว่างสภาพแวดล้อมภายนอกกับพื้นที่ใช้งานภายใน จากสภาพตึกแถวในเมืองที่มีข้อจำกัดเรื่องระยะด้านหน้าที่อยู่ชิดกับถนน ทำให้ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว มีฝุ่นควันจากรถ แสงแดด และเสียงที่เข้าถึงบ้านได้ทันที ฟาซาดจะเป็นตัวช่วยกั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่บ้านโดยตรง ทั้งยังช่วยบังสายตาจากคนภายนอก ขณะเดียวกันก็เป็นหน้ากากส่วนแรกของบ้านที่คนภายนอกมองเห็น การออกแบบฟาซาดจึงถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อช่วยกำหนดเอกลักษณ์และสะท้อนตัวตนของบ้านไปยังผู้พบเห็นได้ เช่น หากต้องการให้ฟาซาดออกมาดูเรียบ การเลือกใช้เหล็กเจาะรูถือเป็นหนึ่งตัวเลือกน่าสนใจ เพราะเหล็กเจาะรูมีลักษณะเป็นแผ่นเรียบขนาดใหญ่ มีรูให้แดดและลมผ่าน มีขนาดและรูปแบบให้เลือกหลากหลาย มองจากภายนอกอาคารไม่ทะลุถึงข้างใน และสามารถออกแบบเป็นกรอบบานหน้าต่างเปิด-ปิดได้ เมื่อทาสีขาวจะทำให้ดูเรียบเข้ากับบ้านสไตล์มินิมัลได้เป็นอย่างดี


ออกแบบ : One and a half Architects

ผู้รับเหมา : สุทธิโรจน์ เจนถาวรกุลศักดิ์

ภาพ : Rungkit Charoenwat

เรื่อง : Natthawat Klaysuban