บ้านกลางเมืองที่มีอิฐเป็นทั้งฟาซาด และคอร์ต ออกแบบพื้นที่ ทรงอาคารจากสภาพแวดล้อม แสงแดด และบริบทโดยรอบ ในขนาดที่ดิน 50 ตารางวา
ออกแบบ : BodinChapa Architects
บ้าน MYJ House ออกแบบโดยทีมสถาปนิก BodinChapa Architects เดิมเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในโครงการเก่า ที่เจ้าของซื้อไว้ใกล้กับบ้านเดิมของครอบครัว แล้วต้องการรื้อเพื่อสร้างใหม่ โจทย์ของสถาปนิก คือ การออกแบบบ้านที่มีฟังก์ชันครบตามความต้องการของเจ้าของในขนาดพื้นที่กะทัดรัด และยังคงกลิ่นอายความชื่นชอบของเจ้าของคือความเป็นบ้านอิฐ
กำหนดผังจากบริบทโดยรอบ
เริ่มจากทิศของแดด เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่กำหนดการวางผังบ้านหลังนี้ โดยเริ่มจากวางฟังก์ชันบันได และห้องซักล้างไว้ฝั่งทิศใต้ที่พระอาทิตย์ส่องตลอดวัน ช่วยกันความร้อนไม่ให้เข้าพื้นที่พักผ่อนโดยตรง
ส่วนทางเข้าบ้านหลังเดิมจะอยู่ฝั่งทิศใต้ที่เป็นด้านสั้น สถาปนิกออกแบบทางเข้าใหม่ให้มาอยู่ฝั่งทิศตะวันออกที่เป็นด้านยาวแทน เพื่อให้ฟังก์ชันต่างๆ ของบ้านถูกจัดวางอย่างลงตัว และเข้า-ออกบ้านได้สะดวกขึ้น
ในส่วนของรูปทรงอาคารฝั่งทิศใต้ทางด้านซ้ายมือที่เป็นรูปเฉียงก็เกิดจากองศาการวางบันไดภายในบ้านซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ใช้งานจริง จึงเรียกได้ว่าแทบทุกจุดของบ้านเกิดจากเหตุและผล รูปทรงมีที่มาจากการตอบโจทย์การใช้งาน และมาผสานกับการออกแบบให้ออกมาสวย จนเป็นฟอร์มของบ้าน
ใช้งานพื้นที่จำกัดอย่างคุ้มค่า
ด้วยพื้นที่ที่จำกัด รวมกับข้อกฎหมายที่ต้องเว้นระยะห่างอาคารจากแนวที่ดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร และถ้าต้องการทำช่องเปิดต้องเว้นเข้ามาถึง 2 เมตร
สถาปนิกจึงเลือกวิธีออกแบบบ้านให้ใช้งานพื้นที่ได้คุ้มค่าที่สุดด้วยการวางอาคารเกือบเต็มพื้นที่ และเว้าอาคารเข้ามาในส่วนที่ต้องการให้เป็นช่องเปิด จึงทำให้ใช้งานพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า บ้านโปร่ง และทำให้รูปทรงอาคารเกิดความน่าสนใจ
ผนังอิฐจากภายนอกเชื่อมเข้าสู่ภายใน
ด้วยความที่เจ้าของบ้านชอบบ้านที่มีอิฐเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว ภาพตอนที่คุยกับสถาปนิกจึงชัด และสถาปนิกก็เลือกใช้อิฐรูปแบบที่เข้ากับบ้าน เชื่อมต่อเป็นแผงเดียวกันจากบันไดฝั่งซ้ายมือไปยังฟาซาดหน้าบ้านที่วางเป็นช่องกึ่งโปร่งบังสายตาจากมุมหน้าบ้าน และยังไหลต่อเนื่องเข้าไปยังด้านในบ้านเป็นผนังเอกของสเปซภายใน
ฟาซาดอิฐหน้าบ้านออกแบบเป็นมุมโค้ง ซึ่งเป็นมุมโค้งเพียงจุดเดียวในบ้าน ส่วนอื่นเป็นมุมเหลี่ยมทั้งหมด เป็นเส้นสายที่ทำให้บ้านรู้สึกสมูทขึ้น ไม่แข็งจนเกินไป นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของกฎหมายอาคารบริเวณสามแยกที่ต้องปาดมุมรับกับมุมถนน ซึ่งการเลือกใช้มุมโค้งทำให้เป็นจุดหนึ่งเข้ากับบ้านอย่างลงตัว
พื้นที่ภายในสอดรับความต้องการเจ้าของ
พื้นที่บ้านออกแบบฟังก์ชันตามความต้องการของเจ้าของ ต่อเนื่องจากที่จอดรถเข้ามาจะเป็นด้านหน้าบ้านเชื่อมไปกับบ่อน้ำที่มีสวนเป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว
พอเข้ามาภายในบ้าน ส่วนนั่งเล่นยุบที่นั่งบริเวณโซฟาลงไปเป็นเหมือนบ่อ ทำให้สเปซดูแยกขอบเขตชัดเจนจากส่วนรับประทานอาหาร ทำให้ห้องดูโล่งขึ้นเนื่องจากในระดับสายตาไม่มีชุดโซฟาตั้งอยู่
อีกทั้งเมื่อนั่งในจุดนี้แล้วมองไปที่ช่องเปิดที่บ่อนอกบ้านก็จะได้วิวต่อเนื่อง เป็นมุมพิเศษอีกมุมหนึ่งของบ้านที่แตกต่างจากมุมมองปกติ
ออกแบบพื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง
แมว เป็นสมาชิกที่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่เจ้าของคุยกับสถาปนิกไว้ตั้งแต่เริ่มออกแบบ แต่พอบ้านสร้างเสร็จ ก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้น สถาปนิกจึงออกแบบที่อยู่ที่แมวรู้สึกว่าปลอดภัยเป็นเหมือนเซฟโซน ไว้ในส่วนต่างๆ ของบ้าน แล้วเจาะช่องประตูทางเข้าให้แมวเข้าไปยังพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองที่ชอบเข้าไปอยู่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกคนใช้งานในเวลากลางวัน เช่น ระเบียง ตู้บิ้วท์อินในห้องน้ำ จึงเป็นการใช้พื้นที่เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์
DesignTips – MagicMoment ผลลัพธ์จากธรรมชาติที่ต่อยอดงานออกแบบ
คุณว่าน-พิชชาภา โล่ห์ทอง และคุณป้อง-บดินทร์ เมืองลือ แห่ง BodinChapa Architects เล่าถึงการออกแบบจุดหนึ่งที่เป็นเหมือน Magic Moment หรือ ช่วงเวลาอันน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นมาแบบไม่ได้ตั้งใจของบ้านหลังนี้
คือ จุดที่แสงแดดส่องจากช่องเปิดบริเวณ Skylight ลงมายังกระจกใสที่ระเบียงชั้น 2 ภายในบ้าน แล้วสะท้อนชิ่งต่อไปกลายเป็นรูปตัว x เป็นแสงทั้งหมดสี่แฉก
เป็นจุดที่สถาปนิกตั้งใจแค่ให้แสงส่องลงมาภายในบ้าน แต่ไม่ได้คิดว่าจะเกิดเอ็ฟเฟ็กต์ต่อเป็นอะไร ซึ่งคุณว่านได้สรุปสิ่งนี้ไว้ว่า “สถาปนิกคอนโทรลงานดีไซน์ได้ระดับหนึ่ง อีกระดับหนึ่งเป็นเรื่องของโมเมนต์ที่มันเกิดขึ้นแบบที่พิเศษในระหว่างที่ก่อสร้างหรือหน้างานเสร็จ อย่างงานนี้เรารู้ว่าแสงจะเข้า และเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลาแต่เราไม่ได้นึกว่าจะเกิดเป็นอะไรอีกบ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่ต่อยอดจากที่คิดไว้อีก”
เรื่อง : Nattawat Klysuban
ภาพ : Rungkit Charoenwat