ทดลองออกแบบ บ้านระบบกริดเสา สู่การอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ - room

ทดลองออกแบบ บ้านระบบกริดเสา สู่การอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์

เมื่อครอบครัวใหญ่ขึ้นบ้านก็เป็นปัจจัยหลักที่รองรับการอยู่อาศัยของครอบครัวขยายของสมาชิกถึง 4 คน และอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นหลักคือพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ของครอบครัว “บ้านระบบกริดเสา” จึงเป็นพื้นที่รองรับการปรับเปลี่ยนและการขยายตัวของกิจกรรมในอนาคต

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Witi9.studio

Witi9.studio ผู้ออกแบบ บ้านระบบกริดเสา ได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดเรื่องจัดวางพื้นที่บริการ (Servant Space) ให้สามารถรับรองพื้นที่ใช้งาน (Served Space) ของ หลุยส์ ไอ คาห์น โดยขนาดพื้นที่ภายในบ้านจะเกิดจากพิกัดตั้งต้น 300×300 มิลลิเมตร ที่สัมพันธ์กับระบบโครงสร้างและขนาดวัสดุอาคาร

บ้านระบบกริดเสา

โดยระบบกริดเสาของบ้านหลังนี้ จะถูกใช้เพียง 2 ขนาด คือ 4,200 มิลลิเมตร สำหรับพื้นที่ใช้งาน และ 3,300 มิลลิเมตร สำหรับพื้นที่บริการ โดยที่บ้านหลังนี้จะมีการแบ่งห้องด้วยผนัง และการใช้ประตูสำหรับแบ่งพื้นที่ภายในบ้านให้น้อยที่สุด แต่ใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่น ๆ มาบริหารพื้นนที่ เช่น เสา ระนาบหลังคา ที่สอดคล้องกับการนำแสงธรรมชาติและสร้างช่องเปิด เพื่อประโยชน์สภาวะการอยู่อาศัยที่น่าสบาย สำหรับการถ่ายเทของอากาศธรรมชาติ เพื่อสร้างการรับรู้การใช้พื้นที่ว่างให้แก่ผู้ที่พักอาศัย

บ้านระบบกริดเสา
บ้านระบบกริดเสา
บ้านระบบกริดเสา

ตัวบ้านประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก แบ่งเป็นส่วนซ้ายและขวา โดยที่ด้านซ้ายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นการรวมกันระหว่างพื้นที่ใช้งานกับพื้นที่บริการเข้าด้วยกัน พื้นที่ส่วนกลางหลักของบ้านใช้สำหรับเป็นโซนพักผ่อน นั่งเล่น ต่อเนื่องไปถึงโซนรับประทานนอาหาร ครัว ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ให้แก่คนในบ้าน ตัวห้องขนาดใหญ่นี้ จะสร้างขอบเขตภายในพื้นไปในตัว โดยเสาและฝ้าเพดานที่มีระดับต่างกันจะทำให้เกิดที่ว่างภายในที่แตกต่างกันตามการใช้งานของพื้นที่

บ้านระบบกริดเสา
บ้านระบบกริดเสา

ส่วนด้านขวา คือ บันได ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ส่วนกลางกับพื้นที่ส่วนตัวของสมาชิกในครอบครัว ประกอบด้วยห้องนอน ห้องน้ำ ช่องงานระบบต่าง ๆ ที่ออกแบบสัดส่วนได้อย่างพอดีกับการอยู่อาศัย บ้าน 2 ชั้นหลังนี้ จึงตอบโจทย์และรองรับการอยู่อาศัยของครอบครัวได้อย่างแท้จริง

บ้านระบบกริดเสา


เกร็ดความรู้
หลุยส์ ไอ คาห์น
(Louis Isadore Kahn, 1901-1974) การจัดวางพื้นที่บริการ (Servant Space) ให้สามารถรับรองพื้นที่ใช้งาน (Served Space) เพื่อทำให้พื้นที่ภายนอกและภายใน เกิดการใช้งานที่มีความรับรู้และสามารถเข้าถึงได้ตามลำดับการใช้งานตามจุดประสงค์โดยที่ไม่กระทบกับพื้นที่ที่ออกแบบไว้

ออกแบบ: Witi9.studio
เรียบเรียง: Lily J.
ภาพ: PanoramicStudio


บ้านใจกลางเมือง ที่สะท้อนตัวตนการอยู่อาศัยแบบส่วนตัวในพื้นที่กึ่งกลางแจ้ง