ศาลาไทย Thailand Pavilion ในงาน world expo 2025 ปีหน้า ณ นครโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น “ภูมิพิมาน – ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” อาคารทรงร่วมสมัย เลือกใช้องค์ประกอบไทยประยุกต์ นำคตินิยม และอัตลักษณ์ออกแบบร่วมกับแนวคิดสมัยใหม่ผสมผสานลงตัว โดดเด่นด้วยเงาสะท้อนอาคารที่ผสานให้เกิดเป็นทรงจั่ว เพื่อบอกเล่าถึงความเป็นไทยที่แท้ แม้จับต้องไม่ได้ แต่งดงาม
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: A49
นี่คืออาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion World Expo 2025) ที่ออกแบบโดย บริษัท สถาปนิก 49 หรือ A49 (ARCHITECTS 49 LIMITED) ที่เราคุ้นเคย ในงาน world expo 2025 ณ นครโอซากะ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิดหลัก “ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” เชื่อมต่อชาวโลกให้เข้าถึงภูมิปัญญา และอัตลักษณ์แบบไทยผ่านบรรยากาศของดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร และวิถีของผู้คนที่ช่วยสร้างภูมิให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ เป็นการแสดงศักยภาพของประเทศตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่จะทำให้ประเทศไทยเชื่อมโยงกับทั่วโลกได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืนในอนาคต
#ความเป็นไทยในสากลการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใต้แนวคิดหลักข้างต้นที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การแสดงออกถึงความเป็นไทย เป็นการใช้องค์ประกอบอ่อนช้อยที่สร้างบรรยากาศผ่อนคลายเพื่อสร้างประสบการณ์การชมนิทรรศการที่มีความรู้สึกสนุก สบาย ผ่อนคลาย ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เป็นความทรงจำร่วมของผู้คนส่วนใหญ่เมื่อได้มาเยือนประเทศไทย
#อัตลักษณ์ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยแนวความคิดในการออกแบบอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรม โดยนำองค์ประกอบของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่สามารถ สื่อสารความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนและเป็นที่จดจำได้ของผู้คนทั่วโลก เช่น รูปทรงหลังคาที่มี “จอมแห” เป็นเส้นกำกับการย่อมุมเพื่อลดหลั่นขนาดขององค์ประกอบ การใช้ลวดลายจักสานของเฉลวมาประกอบเพื่อแสดงถึงเชื่อมโยงของความเชื่อและภูมิปัญญาของคนไทย การใช้สีสันและรูปแบบวัสดุแบบไทย ๆ ที่มีความละเมียดละเอียดลออ
#จั่วในเงาสะท้อนตำแหน่งที่ตั้งของอาคารแสดงประเทศไทยอยู่ในโซน Connecting Lives ของผังแม่บทงาน Expo ด้วยลักษณะของแปลง ที่ตั้ง (Plot Site-A13) เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีสัดส่วนด้านหน้าแคบและลึกไปร้อยกว่าเมตรทางด้านหลัง จึงใช้เทคนิคการสะท้อนของผนังสูงให้กับตัวอาคารที่มีลักษณะเป็นครึ่งจั่วขนาบข้างผนังสูงไปตลอดแนวของแปลงที่ตั้ง เกิดเป็นภาพสะท้อนของจั่วที่สมบูรณ์ทั้งสองข้างจากมุมมองทางเข้าหลักของงาน (Main line of Flow) เพื่อเชิญชวน และนำผู้เยี่ยมชมงานเข้าสู่อาคารแสดงประเทศไทยผ่านบรรยากาศของพืชพรรณสมุนไพรตั้งแต่ลานทางเข้าสู่พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการภายใน พื้นที่กิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วม (Workshop) พื้นที่จำหน่ายของที่ระลึกและอาหารไทย ต่อเนื่องไปจนถึงทางออกของอาคารในด้านหลังที่มองเห็นต่อเนื่องไปยังพื้นที่สวนป่าขนาดใหญ่ใจกลางงาน (Forest of Tranquility)
#อัตลักษณ์การย่อมุมประยุกต์สัดส่วนไทยรูปทรงหลังคาของอาคารจัดแสดงประเทศไทยมีความลาดเอียงและสูงต่ำไปตามลักษณะการใช้พื้นที่ภายใน เพื่อรองรับการจัดแสดงของนิทรรศการและความหนาแน่นของผู้เยี่ยมชมในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป เกิดการใช้พลังงานและทรัพยากรเท่าที่จำเป็นและให้เกิดประโยชน์สูงสุด องค์ประกอบของหลังคาได้นำอัตลักษณ์การย่อมุมมาใช้ในจัดวางชิ้นส่วนวัสดุหลังคาลดหลั่นให้ลื่นไหลทั้งในแนวยอดสู่ด้านล่างชายคา และแนวด้านหน้าสู่ด้านหลัง การประกอบของชิ้นส่วนย่อยช่วยลดทอนผืนหลังคาผืนใหญ่ของตัวอาคารให้ผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสถึงความละเมียดละไมของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่ประยุกต์ใช้กับวัสดุและวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่
#datadrivendesignการวิเคราะห์และนำข้อมูลมาใช้ในการออกแบบเพื่อให้อาคารแสดงประเทศไทยสามารถแสดงออกซึ่งความเป็นไทยได้โดยสอดคล้องกับบริบทที่ตั้งซึ่งแตกต่างทั้งด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศให้รองรับการใช้งานและการใช้พลังงานของอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่มีภูมิเป็นต้นทุนอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย และพร้อมที่จะเชื่อมโยงกับสังคมโลกในอนาคตหลากหลายมิติและยั่งยืน
Design competition associated with A49, Rightman, RM110, A110, Architectural Engineering 49 Limited, M&E Engineering 49 Limited : ME49
ภาพ – เนื้อหา: ARCHITECTS 49 LIMITED
เรียบเรียง: Wuthikorn Sut