คาเฟ่อินโดนีเซีย Tanatap Wall Garden ร้านอาหารกึ่งคาเฟ่และบาร์ในสวน พร้อมผนังสีขาวที่สร้างสุนทรียะและเอกลักษณ์ในงานออกแบบ สอดรับจินตภาพทางความงามของจังหวัด Central Java ในอินโดนีเซีย
คลื่นของผนังสีขาวที่สร้างพื้นผิวอย่างมีสุนทรียะดังเช่นบทกวี คือเอกลักษณ์ของ คาเฟ่อินโดนีเซีย ในโปรเจ็กต์ Tanatap Wall Garden ซึ่งได้รับการจัดวางตำแหน่งให้เกิดความเคลื่อนไหวอ่อนช้อยและเป็นเอกลักษณ์ คดโค้งไปตามพุ่มไม้สีเขียวทำให้เกิดมิติของธรรมชาติ ทั้งยังทำหน้าที่ช่วยแบ่งพื้นที่โซนคาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ให้เป็นสัดส่วนได้อย่างแยบยล
บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 2,500 ตารางเมตร ซึ่งมีต้นไม้สีเขียวปลูกเรียงราย ถูกเสริมด้านฟังก์ชันให้กลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่คลุกเคล้าประโยชน์ใช้สอยทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์ในแง่ที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ สะท้อนมาจากคอนเซ็ปต์ที่ขมวดโดย RAD+ar สถาปนิกผู้รับโจทย์ในโปรเจ็กต์ Tanatap Wall Garden ซึ่งเกิดจากการฟื้นฟูพื้นที่จอดรถเก่าใจกลางย่านพาณิชย์ ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่หลากหลายประโยชน์ใช้สอยที่กลมกลืนอย่างเป็นธรรมชาติกับภูมิทัศน์ดั้งเดิม
โดยการตั้งต้นจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างง่าย คือ ‘ผนัง’ ที่พัฒนามาจากเส้นตรง 3 เส้น นำมาจัดวางให้แยกออกจากกันอยู่กลางสเปซ ย่อขยายให้เกิดความสูง-ต่ำที่ต่างกัน หมุนอย่างมีลูกเล่นไปตามพุ่มไม้เดิมที่แทรกอยู่เป็นหย่อม ๆ จนมีผลต่อการสร้างฟังก์ชันในการปรับแต่งรูปร่างของสเปซและผสมผสานกันกลายเป็นสวนผนังที่เจาะช่องเปิดให้อากาศถ่ายเท นอกจากนั้น สวนผนังยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้ร่มเงาเพื่อลดการใช้พลังงานภายในตัวอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ร้อนชื้น ขับเน้นให้ร้านอาหารกึ่งบาร์และคาเฟ่แห่งนี้เกิดความสวยงามและฟังก์ชันที่ดำรงไว้ซึ่งความยั่งยืน
บริเวณทางเข้ามีสวนสีเขียวต้อนรับและสามารถเดินไปพักผ่อนที่สวนบริเวณด้านหลัง เมื่อลัดเลาะจากสวนด้านหน้าจะมองเห็นเงาสะท้อนของแมกไม้จากบ่อน้ำขนาด 800 ตารางเมตร ซึ่งเป็นจุดเด่นบริเวณทางเข้าที่ช่วยเสริมในแง่ของความสวยงามและสร้างความเย็นสบายให้พื้นที่ใช้สอยร่วมกับพุ่มไม้สีเขียวที่วางตัวให้รับลมอย่างเป็นธรรมชาติ มีการออกแบบผนังสีขาวให้ลดหลั่นกันเป็นอัฒจันทร์เพื่อเชื่อมกับสเปซและองค์ประกอบทั้งหมดได้อย่างลงตัวและรวมเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งภายในและภายนอกของตัวอาคาร
นอกจากการเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร และบาร์แล้ว ในแง่ของการใช้งาน ร้านอาหารกึ่งบาร์และคาเฟ่แห่งนี้ได้ถูกออกแบบให้เป็นเสมือนห้องนั่งเล่นสาธารณะแก่ผู้หลงใหลในเสียงเพลงและการแสดง ให้ซึมซับเสียงดนตรีและรับชมศิลปะการแสดงจากโรงละครกลางแจ้ง (Amphitheater) ซึ่งตั้งอยู่ในสวนที่ผู้ออกแบบตั้งใจให้ผู้เข้าชมเกิดอารมณ์สุนทรีย์ร่วมกับสวนผนังที่เคลื่อนไหวดั่งอารมณ์ในงานประพันธ์ และเพื่อให้ทั้งหมดกลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่แทรกตัวอยู่ในสเปซอย่างนุ่มนวล
จากโครงสร้างผนังอย่างง่าย ๆ ได้รับการพัฒนาและตีความจนกลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่เชื้อเชิญให้คนมาสูดกลิ่นกาแฟในคาเฟ่ มานั่งรับประทานอาหารในสวนสีเขียว และมาลองจิบเครื่องดื่มที่มองเห็นทิวทัศน์ซึ่งห่อหุ้มด้วยผนังสีขาวกับพื้นผิวที่แปลกตา สลับกับต้นไม้สีเขียวที่กลมกลืนไปกับรูปลักษณ์ของผนัง จนเชื่อมให้งานออกแบบและธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันและทำหน้าที่ในเชิงสร้างสุนทรียะและฟังก์ชันได้อย่างลงตัวในแนวทางที่ธุรกิจสามารถดำเนินไปพร้อม ๆ กันกับวิถีแห่งความยั่งยืน
ที่ตั้ง
Tanatap Wall Garden
Semarang, Semarang City, Central Java, Indonesia
ออกแบบ: RAD+ar
ภาพ: Mario Wibowo
เรื่อง: Kangsadan K.